21 ก.พ. 2023 เวลา 08:37 • ท่องเที่ยว

ทมิฬนาดู (27) .. เทวาลัยศรีรังคนาถสวามี เมืองติรุชชี่

เมืองติรุชชิรัปปัลลิ(Tiruchirappalli) ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้าเกาเวริ (Cauvery River หรือ Kaveri River) เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ในรัฐทมิฬนาฑู และถือว่าเป็นเมืองศูนย์กลางของการคมนาคมและการค้าทางตอนกลางของรัฐทมิฬนาดู เมืองนี้เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมทางศาสนา เทวาลัยในยุคราชวงศ์โจฬะ (Cholas Dynasty) เคยถูกปกครองในยุคมุสลิม จนมาสิ้นสุดที่ราชวงศ์วิชัยนคร (Vijayanagar Rulers) ปกครอง
จนถึงปีค.ศ.1736 กลับมาอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์โมกุล ด้วยความช่วยเหลือของฝรั่งเศสและอังกฤษ ต่อมาเกิดการต่อสู่แย่งชิงดินแดนระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ภายหลังอังกฤษได้รับชัยชนะในสงครามแย่งชิงเมืองตีรุชชิราปัลลี อังกฤษได้ปกครองติรุชชิรัปปัลลิต่อจาก Chanda Sahib and Mohamed Ali เป็นเวลา 150 ปีจนกระทั่งอินเดียได้รับเอกราชเมืองติรุชชิรัปปัลลิจึงมีความเจริญรุ่งเรือง มีระบบการจัดการที่ดีมีโบสถ์คริสตจักรและเทวาลัยหลายแห่ง มีการผสมผสานของประเพณีและความทันสมัยในด้านสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้น ในยุค ค.ศ. 176
Tiruchirapalli .. มีประวัติตามตำนานศาสนาฮินดูหลากหลาย ยาวเหยียด มีความหมายในภาษาทมิฬว่า "Holy-rock-town" (เมืองแห่งศิลาศักดิ์สิทธิ์) หรือ "Holy little town" (เมืองเล็ก ๆ ที่ศักดิ์สิทธิ์)
เทวาลัยศรีรังคนาถสวามี (Sri Ranganathaswamy Temple) .. ตั้งอยู่บนเกาะศรีรังคาม เมืองติรุชชิรัปปัลลี รัฐทมิฬนาฑู เป็นเทวาลัยที่สร้างอุทิศแด่ พระศรีรังคนาถ หรือวิษณุอนันตศายิน (เทวรูปนารายณ์บรรทมศิลป์) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด 1 ใน 2 ของประเทศอินเดีย มีตำนานเรื่องราวเกี่ยวกับพระวิษณุที่เก่าแก่มากในอินเดียใต้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11
.. สร้างครั้งแรกในสมัยราชวงศ์โจฬะ โดยกษัตริย์ Dharmavarma ในศตวรรษที่ 14 - 17 เป็น เทวาลัยผ่านร้อนผ่านหนาว มีประวัติศาสตร์ทางด้านการเมือง การทหาร การรุกราน และการคงอยู่ จนรุ่งเรืองหลังศตวรรษที่ 14
เทวาลัยแห่งนี้มีสถานะเป็น “ศาสนธานี” ที่มีขนาดมหึมาครอบคลุมพื้นที่ 2.5 ตร.กม มีปราการ หรือกำแพงล้อมรอบถึง 7 ชั้น และมีมีโคปุรัมชั้นต่างๆถึง 21 โคปุรัม 39 มณฑป โดยมี ราชาโคปุรัม เป็นโคปุรัมที่สูงใหญ่ที่สุด ที่สูงถึง 85 เมตร
ภายในพื้นที่ของเทวาลัย .. มีบ้านเรือน ร้านค้า ยุ้งฉาง คอกเลี้ยงวัว และผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นชุมชนวัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก .. ชุมชนได้รับประโยชน์ทางด้านจิตวิญญาณ พอๆกับทางการศึกษา และเศรษฐกิจ
ภาพจาก internet
ตำนานเทวรูปศรีรังคนาถ
ตำนานที่เกี่ยวกับ เทวรูปศรีรังคนาถ มีหลายตำนานมาก .. หนึ่งในตำนานกล่าวไว้ว่า ..
เมื่อพระราม ได้เผด็จเสร็จศึกจากกรุงลงกาแล้ว ได้ยกทัพกลับมาเสวยราชสมบัติที่กรุงอโยธยา บรรดาเหล่าขุนศึกแม่ทัพนายกองทั้งลิงทั้งยักษ์ทั้งหลายก็ได้เวลาแยกย้ายกลับบ้านเมืองของตนเอง
พญาพิเภก .. ก็ทูลลาแด่องค์พระศรีรามเพื่อจะเสด็จกลับกรุงลงกา แต่ระยะทางจากเมืองอโยธยาสู่กรุงลงกานั้นเป็นหนทางอันยาวไกล แถมยังมีมหาสมุทรคั่นไว้อีก จึงเกรงว่าเมื่อไปแล้วก็คงไปลับ อาจจะไม่ได้กลับมากราบเบื้องบาทพระนารายณ์อีก
พระรามจึงได้เนรมิตกายกลายเป็นรูปองค์นารายณ์บรรทมสินธุ์ 'ศรีรังคนาถ' พร้อมทั้งพระวิมานทองคำ ประทานให้แก่พิเภก เพื่อจักได้กราบไว้บูชาเพื่อรำลึกนึกถึงองค์พระสี่กรสืบต่อไป
พิเภก ก็ทำการอัญเชิญองค์ศรีรังคนาถพร้อมทั้งพระวิมานไว้เหนือเกล้า แล้วก็ได้เหาะเหินเดินอากาศเพื่อกลับไปกรุงลงกา
พอมาถึงที่บริเวณดินแดนทางตอนใต้ก่อนจะข้ามมหาสมุทรไปกรุงลงกา .. จะผ่านดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อว่า 'จันทราภุชการิณี' อยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเกาเวรี ที่เปรียบประดุจสายคงคาที่ไหลอยู่ในดินแดนภาคเหนือ .. พิเภก จึงได้วางองค์ศรีรังคนาถซึ่งอยู่ในพระวิมานลงบนพื้นทรายใกล้หาดทรายของสายแม่น้ำเกาเวรี ... เพื่อสรงน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นการชำระบาป
... ครั้นพอสรงน้ำเสร็จแล้ว ก็จะอัญเชิญองค์ศรีรังคนาถ เพื่อจะได้เดินทางต่อไปยังกรุงลงกา แต่ไม่สามารถขยับเขยื้อนองค์ศรีรังคนาถนี้ได้
.. พระวิษณุ ได้ปรากฎกายขึ้นแล้วได้ตรัสว่า องค์พระนารายณ์ มีประสงค์ต้องการประทับอยู่ ณ บริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้โดยพระองค์เอง
พิเภกจึงได้มอบรูปองค์ศรีรังคนาถไว้ ที่ดินแดนแห่งนี้ .. ต่อมามีกษัตริย์ชื่อว่า ธรรมะวรมัน แห่งราชวงค์์โจฬะ ได้มาก่อสร้างเป็นเทวาลัยและขยับขยายต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน .. องค์พระศรีรังคนาถในปัจจุบัน จึงหันพระพักตร์มุ่งลงสู่ทิศใต้ อันเป็นที่ตั้งแห่งกรุงลงกา เพื่อจะให้พิเภกได้หันหน้ามาเคารพบูชาได้สืบต่อไป
โคปุรัม
เทวาลัยนี้มีโคปุรัม 21 อัน .. โดยโคปุรัมทางทิศใต้ มีความสูงเป็นที่สองของเอเชีย มีเทวาลัย และมณฑปต่างๆมากมายอยู่ในบริเวณเดียวกัน รวมถึงมีแหล่งน้ำเล็กๆ อยู่ภายใน 2 -3 แห่ง. อาณาบริเวณของเทวาลัยศรีรังคาม มีสถาปัตยกรรมแบบดราวิเดียน
ราชาโคปุรัม เทวาลัยศรีรังคนาถสวามี
โคปุรัมดั้งเดิม สร้างโดยกษัตริย์อชยุตย์เทวราชา แห่งจักรวรรดิวิชัยนคร เมื่อประมาณ 400 ปีที่แล้ว ซึ่งระหว่างนั้นได้มีสงครามขยายดินแดนจากกองทัพของกษัตริย์ออรังเซปแห่งราชวงศ์โมกุล จึงทำให้ตัวโคปุรัมนี้ถูกละทิ้งและสร้างเสร็จแค่ตัวฐานล่างมีความสูง 17 เมตร
หลังจากที่กรุงวิชัยนครล่มสลายลงด้วยกองทัพพันธมิตรมุสลิมในปี คศ. 1565 .. อุปราช นายกะ และนายก ที่วิชัยนครสถาปนาให้ไปปกครองหัวเมืองต่างๆพากันแข็งเมือง ตั้งตัวเป็นอิสระ ก่อป้อมปราการ สร้างพระราชวัง บูรณะเทวาลัยประจำเมือง .. จึงเรียกช่วงเวลาหลังวิชัยนครว่า สมัยนายกะ (ตระกูลนายกะสำคัญในทมิฬนาดู ได้แก่ที่ มธุไร และตัญชาวูร์)
ในยุคนี้เน้นการขยายพื้นที่เทวาลัยสำคัญ ก่อกำแพงสูงใหญ่ล้อมรอบเป็นชั้นๆเพิ่มอีกมากมาย ดังเช่นที่เทวาลัยศรีรังคนาถแห่งนี้ ที่มีกำแพงล้อมรอบถึง 7 ชั้น อาณาบริเวณกว้างมาก มีรูปแบบที่เรียกว่า “ศาสนธานี” หรือ Temple City คือ มีศาสนสถานใหญ่ประจำเมืองเป็นศูนย์กลาง ส่วนตัวเมือง ก็ตั้งอยู่ในวงล้อมของกำแพงเทวาลัยด้วย
กล่าวว่า .. ในปี ค.ศ.1987 องค์พระวิษณุได้มาปรากฎในนิมิตของท่าน ศรีอโหพีละ มัตถ์ จียาร์ ซึ่งเป็นหัวหน้านักบวชองค์ที่ 44 ในไวษณพนิกายลัทธิ 'วฎากาลัย' ให้ก่อสร้างโคปุรัมนี้ขึ้น โดยใช้คนงานกว่า 200 คนและใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปีจนสำเร็จสมบูรณ์ถึงปัจจุบัน
โคปุรัมที่เห็นในปัจจุบันนี้มีความสูง 73เมตร สร้างเสร็จในปี 1987 ปัจจุบันสูงเป็นอันดับสองในประเทศอินเดีย
หมายเหตุ : โคปุรัมที่สูงใหญ่ที่สุดในทุกๆเทวาลัย จะมีชื่อเรียกว่า 'ราชาโคปุรัม' ทั้งสิ้น และไม่จำกัดทิศด้วยว่าจะต้องเป็นโคปุรัมด้านทิศไหน
ผังของเทวาลัยตั้งอยู่บนแกนทิศเหนือสู่ทิศใต้ บนเกาะที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ คาวารี (Kaveri River) ซึ่งเปรียบเสมือนแม่น้ำคงคาแห่งภาคเหนือ
จากข้อมูลหนังสือ "อินเดียเริ่มที่นี่ ..." กล่าวว่า ตั้งแต่กำแพงชั้นนอกสุด คือชั้นที่ 7 เข้ามาถึงแนวกำแพงชั้นที่ 4 กลายเป็นบ้านของพราหมณ์ ตลาดร้านค้า เทวาลัยใหญ่น้อย
ผู้คนมากมายผ่านในรายทาง
โรงเก็บรถของเทวาลัยศรีรังคนาถ ตลอดที่พักแรมสำหรับผู้แสวงบุญ ประมาณกันว่า มีผู้คนอาศัยอยู่ในเขตกำแพงนี้หลายหมื่นคน
ส่วนในกำพงอีก 5 ชั้นเป็นส่วนของเทวาลัยแห่งพระวิษณุ และเทพต่างๆ รรวมถึงมณฑปอื่นๆที่อุทิศให้กับ เทพทางศิลปะต่างๆ (the Alvars) เช่น เทพทางกวี นักปรัชญาของฮินดู
ภาพสลักรูปลิง .. ลิงมีหัวเดียว แต่แสดงถึงนะยะต่างๆที่ทุกสรรพชีวิตต้องผ่าน ตั้งแต่เกิด เติบโต ทำมาหาเลี้ยงชีพและครอบครัว อายุมาก
.. เข้าใจว่าสี่คือ หลักเรื่อง อาศรมในศาสนา ฮินดู
เมื่อผ่านประตูของโคปุรัมเข้ามาด้านใน จะมองเห็นศาลาสูงโปร่ง ..
เรามีโอกาสได้ขึ้นไปที่หลังคาของฒณฑปหลังหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ด้านหน้า เพื่อชมทิวทัศน์มุมหนึ่งของเทวาลัยในมุมสูง
โคปุรัมอื่นๆ และทิวทัศน์ในบางมุม .. สวยมาก
โคปุรัมที่จะผ่านเข้าไปด้านใน ถ่ายภาพจากมุมสูง
เทวาลัยเวณุโคปาล (Venugopala shrine) ... สร้างในสมัย Chokkanatha Nayak ในปี 1674
ได้ชื่อว่ามีการสลักหินรูปเทพเจ้าหลายองค์ประดับบนผนังของมณฑปที่วิจิตรอลังการมาก
เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย
รูปสลักอีกด้านหนึ่งของเทวาลัย เป็นรูปสลักหญิงในลักษณะท่าทางต่างๆ .. ดูจากลีกษณะ และเครื่องแต่งกาย ควไม่ใช่หญิงชาวบ้าน
ความอ่อนช้อยและเส้นสายของสรีระของแต่ละนางในท่าทางต่างๆ ให้ความรู้สึกมากกว่าการชมรูปสลักหิน และทำให้นึกถึงเหล่านางอัปสราที่ปราสาทบันทายสรี
เด็กเลี้ยงวัวที่สวยที่สุด
ส่องกระจก .. งดงามมาก
เทวาลัยประธาน รังคนาถ .. คือเทวาลัยพระนารายณ์ หรือวิมานศรีรังคนาถ ตั้งอยู่ด้านในสุด หลังคาของวิมานเป็นกระเบื้องสีทอง
ภายในประดิษฐาน พระวิษณุบรรทมศิลป์ ในภาคของพระรังคนาถ ยาว 6 เมตรบนพญานาค (Adisesha) 5 เศียรขดสามรอบครึ่ง (ภาพจาก Internet) ..ภายในเทวาลัยมีรูปสลักของเทพองค์อื่นๆอีก 4 องค์ คือ พระคเนศ พระวิษณุในมุทนาโยคะอาสนะ (Yoga-Ananta) Yoga-Narasimha และพระนางทุรคา .. ยังคงมีการประกอบพิธีบูชาอยู่ทุกวันนี้
เทวาลัยพระลักษมี (Ranganayaki -Lakshmi) .. มีรูปสลักของพระนาง 3 รูป
มณฑปนกแก้ว (The Kili mandapa) .. ตั้งอยู่ใกล้กับเทวาลัยพระวิษณุ ในเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทางเข้าประดับด้วยประติมากรรมรูปช้าง ศิลปะในยุคศตวรรษที่ 17 เสาด้านในทั้ง 4 เสาประดับด้วยรูปเทพเจ้า
NOTE : กำแพงชั้นที่ 3 .. พื้นที่ด้านใน ไม่อนุญาตให้คนที่ไม่ได้นับถือศษสนาฮินดูเข้าไป
ศาลาหน้าเทวาลัย Thayar shrine .. เชื่อว่าเป็นสถานที่ที่ Kambar ใช้เป็นสถานที่รจนามหากาพย์ รามายนะ ในเวอร์ชั่น Kamba Ramayanam
Kambar .. เป็นกวีชาวทมิฬในยุคศตวรรษที่ 12 ที่สร้างสรรค์ผลงานที่ชื่อว่า Kamba Ramayanam ซึ่งเป็นงานที่มีแรงบันดาลใจมาจากมหากาพย์รามายนะ (Valmiki Ramayana) เชื่อว่าท่านมาที่เทวาลัยแห่งนี้เพื่อขออนุญาตเขียน .. นักปราชญ์ท่านหนึ่งชื่อ Tirunarungundam ให้คำอนุญาต ซึ่งผลงานออกมาได้รับการยอมรับจากทั้งปราชญ์ชาวทมิฬและสันสกฤติ
มณฑปพันเสา (Ayiram kaal mandapam - One Thousand-Pillared Madapa) .. ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ตามข้อมูลบอกว่ามีเสาอยู่เพียง 953 ต้น แต่ละต้นสูง 5.5 เมตร สกัดจากหินแกรนิต ..
สร้างในสมัยที่ราชวงศ์ Vijayanagara เข้ามาปกครอง (1336–1565) บนพื้นที่เก่าของเทวาลัย มณฑปมีลักษณะสี่เหลี่ยมเหมือนโครงสร้างโรงละคร (theatre-like structure)
กลางโถงมีแท่นบัลลังค์รูปร่างคล้ายรถะ สำหรับประดิษฐานเทวรูปรังคนาถ ในระหว่างเทศกาลไวกูณฐเอกทศ (Vaikuntha Ekadasi festival) ในเทศกาลนี้ ประตูทางด้านเหนือจะเปิดออก เหมือนเปิดทางไปสู่สวรรค์ "doorway to heaven" ผู้ที่ผ่านประตูนี้จะมีส่วนร่วมในการรับพร แห่งคุณธรรมและความดี
มณฑปครฑ (Garuda Mandapam) .. ตั้งอยู่ทางทิศทิศใต้ของลานโคปุรัมที่สาม สร้างในช่วงราชวงศ์นากายะเข้ามาปกครองเช่นกัน ด้านในมีรูปสลักของเทพเจ้าบนเสาแต่ละต้น ซึ่งเชื่อว่านำมาจากพื้นที่เทาวาลัยดั้งเดิม ส่วนตรงกลางมีรูปสลักลอยตัวของครุฑนั่งกางปีก หันหน้าไปยังที่ตั้งของเทวาลัยของวิษณุ
โคปุรัมทิศตะวันออก
มณฑปม้าศึก (Sesharaya Mandapa) .. ตั้งอยู่ใกล้กับโคปุรัมทิศตะวันออก สร้างในสมัยที่ราชวงศ์นากายะ และวิชัยนคร เข้ามาปกครอง
ที่นี่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษจากการแกะสลักเสาแต่ละต้นให้ที่มีรายละเอียดซับซ้อนในรูปแบบของศิลปะสมัยราชวงค์วิชัยนคร โดยเฉพาะเสานอกสุด จะเน้นขนาดและให้ความสำคัญจนแทบจะกลายเป็นประติมากรรมลอยตัว
... ช่างได้สลักต้นเสาหินขนาดใหญ่ ให้กลายเป็นประติมากรรมลอยตัวนักรบบนหลังม้าที่มีท่วงท่าคึกคะนอง มีนักรบกำลังบัญชาการรบบนหลังม้า 40 ตัว กำลังต่อสู้ฟาดฟันกับศัตรู หรือออกล่าสัตว์ร้าย .. ทั้งเสื้อผ้า อาวุธ และเครื่องม้า ล้วนสลักสมจริง .. ว่ากันว่า รูปสลักนักรบเหล่านี้ เปรียบเสมือนการประกาศแสนยานุภาพทางทหารของวิชัยนคร
รูปสลัก “การกวนเกษียรสมุทร”
ไกด์ของเราได้เล่าเรื่องรามายนะ เพิ่มเติมอย่างน่าสนใจว่า ..
... ที่มณฑปเศษะรายา หรือมณฑปม้าศึกแห่งเทวาลัยแห่งนี้ ปรากฎภาพแกะสลักเรื่องราวแห่งมหากาพย์รามายณะ อยู่ที่ส่วนล่างของเสามณฑปอยู่หลายตอน โดยบางเรื่องก็จะไม่มีในเรื่องรามเกียรติ์ของไทย
ในภาพด้านล่าง ถ้าเป็นเรื่องรามเกียรติ์ ก็น่าจะเป็นส่วนนึงของตอนที่หนุมานเดินทางไปเก็บต้นสังกรณี-ตรีชวา, น้ำจากปัญจมหานทีและเขนยศิลาของทศกัณฐ์ เพื่อนำมาประกอบเป็นโอสถทิพย์เพื่อรักษาองค์พระลักษณ์ที่ต้องหอกโมกขศักดิ์ในศึกกุมภกรรณ
แต่ในมหากาพย์รามยณะ ทางฝ่ายอินเดียใต้มีเนื้อหาโดยพิสดารไปอีกว่า
... ในระหว่างทางที่หนุมานเดินทางไปหาตัวยาสมุนไพรที่ภูเขาหิมาลัย บนยอดเขาโทรณาเพื่อประกอบเป็นยา สัญชีวาณี ซึ่งการเก็บสมุนไพรต้องเก็บกลับมาทำยาให้ได้ตรงตามเวลาที่กำหนดคือภายในหนึ่งวัน หาไม่แล้วสมุนไพรเหล่านั้นก็จะไม่มีฤทธิ์ที่จะมาทำเป็นยาเพื่อแก้ไของค์พระลักษณ์ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้
ราวณะหรือทศกัณฐ์ก็ได้ให้พระปิตุลานาม กาลเนมี ให้ทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการเดินทางในการเดินทางของหนุมาน
ยักษากาลเนมี จึงแปลงกายมาในร่างของดาบสผู้บำเพ็ญเพียรอยู่ริมหนองน้ำใหญ่ และได้จุดกองไฟบูชาเครื่องหอมอยู่หน้าอาศรมที่พัก เพื่อให้เป็นที่ดึงดูดความสนใจแก่หนุมาน
ครั้นเมื่อหนุมานได้เหาะเหินเดินอากาศผ่านมาเห็นยักษาจำแลงกายภายใต้ร่างดาบส จุดกองกูณฑ์บูชาอยู่ควันขโมง จึงเกิดความสงสัยว่า
"ไม่แน่ใจว่าตัวเราเองจะเดินทางมาถูกเส้นทางหรือเปล่า และอีกประการหนึ่ง เราก็ได้เดินทางล่วงเวลามายาวนานแล้ว ช่างกระหายหมายอยากจะจิบน้ำเสียเป็นกำลัง "
เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงได้ลงไปที่อาศรมแห่งดาบส เพื่อสอบถามเส้นทางและแจ้งความประสงค์ว่าจะขอน้ำดื่มเพราะสุดที่จะกระหาย ดาบสก็ได้ทำการต้อนรับอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส โดยกล่าวแนะนำตัวว่า ตัวอาตมามีนามว่า ตรีกาลชนานี เป็นผู้หยั่งรู้อดีตแลอนาคตกาลจวบจนปัจจุบันสมัยและอาตมาเองก็ได้นับถือบูชาองค์พระศรีรามจึงอยากจะช่วยหนุมานในการสืบเสาะหาว่านยาในครั้งนี้ด้วย
จากนั้นท่านดาบสจึงได้ยื่นหม้อน้ำที่บรรจุไปด้วยยาพิษให้แก่หนุมาน แต่หนุมานเห็นว่าหม้อน้ำน้อยเพียงนี้เห็นทีจะไม่สามารถดับกระหายตัวเราเองเป็นแน่แท้ จึงเอ่ยปากขอท่านดาบสลงไปตักน้ำในหนองน้ำหน้าอาศรมเพื่อแก้กระหายแทน
ดาบสจึงกล่าวว่า ราตรีนี้ยังอีกยาวไกล ไหนๆท่านจะลงไปตักน้ำในหนองแล้วไซร้ ก็จงอาบน้ำให้ชื่นใจให้หายเหนื่อย และจากนั้นเราจะสอนมนต์วิเศษแก่ท่านที่สามารถทำให้มีตาทิพย์มองเห็นต้นยาสมุนไพรที่จะหาอยู่ได้โดยง่าย หนุมานได้ยินท่านดาบสเอ่ยปากมาดังนั้น จึงเกิดความเกรงใจและไม่อยากขัดใจท่านดาบสผู้ทรงฤทธิ์
แต่ก่อนหน้านั้นดาบสได้ซุกซ่อนนางจระเข้ยักษ์ที่สุดจะหิวโซตัวหนึ่งไว้ในหนองน้ำ เมื่อเห็นหนุมานหลงต้องตามอุบายที่วางไว้ก็กระหยิ่มยิ้มย่องใจเป็นที่ยิ่ง
ขณะที่หนุมานได้อาบน้ำอยู่นั้น นางจระเข้ก็ได้มุ่งตรงมา และได้กลืนกินตัวหนุมานด้วยความหิวสุดกำลัง
แต่เพียงอึดใจเดียว หนุมานก็ได้ปราบนางจระเข้ยักษ์ด้วยตรีศูลประจำกาย
ทันใดนั้นเอง ก็มีร่างสาวน้อยสุดแสนจะงดงามปานเทพยดา ลอยขึ้นมาจากซากจระเข้ แล้วได้ประกาศตนว่า เราเคยเป็นอัปสราอยู่ในชั้นฟ้า แต่ได้เคยทำผิดกฎสวรรค์ จึงได้โดนสาปมาเป็นจระเข้อยู่ในหนองน้ำนี้ ข้าขอขอบคุณท่านที่ได้ปลดปล่อยข้าจากคำสาปที่ข้าได้รับมาอย่างยาวนาน และข้าจะบอกความลับแก่ท่านว่า ท่านตรีกาลชนานีดาบสนั้น แท้จริงแล้วเป็นยักษาบริวารแห่งท่านทศเศียร แปลงกายมาเพื่อจะขัดขวางท่านในการเดินทางไปหาตัวยา
เมื่อหนุมานได้รู้แจ้งดังนั้น จึงเดินขึ้นฝั่งไปที่อาศรมท่านดาบส แล้วได้ใช้หางอันทรงฤทธามัดพันรอบองค์ดาบส แล้วพันฉีกร่างเป็นชิ้นๆ เหวี่ยงชิ้นส่วนร่างกายลอยไปตกยังเบื้องบัลลังก์แห่งองค์ทศกัณฐ์ในกรุงลงกา
จากนั้นหนุมานก็ได้ไปเสาะหาสมุนไพรที่ยอดเขาโทรณาสืบต่อไป...
Ref : ไกด์โอ พาเที่ยว
เทวาลัย Ranga Vilasa .. เป็นเหมือนศาลาประชาคมขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาให้นักบวชและชาวบ้านได้มาใช้สอย เช่นนั่งพักผ่อน ประดับด้วยรูปปั้นต่างๆในตำนานของฮินดู เช่น รามายนะ
โฆษณา