21 ก.พ. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

คาดการณ์เศรษฐกิจ UK ปีนี้ อาจรั้งท้ายสหรัฐและจีน

ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรปีนี้กำลังเผชิญกับความยากลำบาก เพราะราคาสินค้าพุ่งขึ้นไปสูงมากจนค่าจ้างขึ้นตามไม่ทัน ทั้งยังมีปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจ
จึงไม่น่าแปลกใจที่ IMF คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะถดถอยในปีนี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจประเทศหลักอื่นๆ ที่เติบโตไปได้ และดูเหมือนว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะแย่กว่าสหรัฐฯ เยอรมรี และฝรั่งเศส อยู่มาก
📌 ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
แม้ว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวเร็วมากพอที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับไปเติบโตได้มากกว่าช่วงก่อนปลายปี 2019 เนื่องจากสาเหตุหลายๆ อย่างที่เกิดจากพื้นฐานของเศรษฐกิจ ทำให้ฟื้นตัวได้ไม่เท่ากับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ ที่เศรษฐกิจเริ่มโตพ้นระดับก่อนปลายปี 2019 แล้ว
1) การออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit
ถ้าพูดถึงการ Brexit ก็อาจทำให้คนเสียงแตกเพราะมีทั้งคนที่เชียร์และไม่เชียร์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า Brexit ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรชะลอตัว
เนื่องจากรายงานจากทาง Bloomberg ได้ประมาณการไว้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ สูญเสียเงินไปกว่า 100 พันล้านปอนด์สเตอร์ลิงต่อปี จากการ Brexit ทั้งยังทำให้เศรษฐกิจมีขนาดเล็กลงไป 4% เมื่อเทียบกับหากยังคงอยู่ในสหภาพยุโรปต่อ เพราะสหภาพยุโรปถือเป็นตลาดการค้าที่สำคัญมากของโลก หลัง Brexit จึงทำให้สหราชอาณาจักรค้าขายกับสหภาพยุโรปได้ยากลำบากกว่าเดิม
อีกทั้งธนาคารกลางอังกฤษ ยังประเมินว่าหลังจากโหวต Brexit ในปี 2016 ก็กระทบการลงทุนในสหราชอาณาจักรกว่า 29 พันล้านปอนด์สเตอร์ลิง
2) ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น
ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น ไม่ได้กระทบกับทุกประเทศเท่าๆ กันเสมอไป ถ้าเทียบกับสหรัฐฯ ที่มีแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นของตัวเอง หรือประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่มีแหล่งพลังงานทางเลือกมากกว่า แต่สหราชอาณาจักรต้องพึ่งพาแก๊สธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าหลักๆ ทำให้ค่าไฟฟ้าในสหราอาณาจักรก็ขึ้นกับต้นทุนค่าแก๊ส ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีราคาสูง จึงทำให้ที่ผ่านมาเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรถึงพุ่งสูงมาก
3) การขาดแคลนแรงงาน
หลายๆ ประเทศก็เผชิญกับภาวะแรงงานหดตัวในช่วงวิกฤติโควิด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตลาดแรงงานก็กลับมาเหมือนเดิม เหลือแค่สหราชอาณาจักรเท่านั้นที่ขนาดของตลาดแรงงงานไม่ได้กลับมาเท่าเดิม
สาเหตุหลักๆ ที่เป็นไปได้คือหลัง Brexit แรงงานในสหภาพยุโรป ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีดังเดิม จึงส่งผลกระทบอย่างมากในทั้งอุตสาหกรรมบริการ เกษตรกรรม และการดูแลบริการสุขภาพ
นอกจากนี้ยังพบข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าอาจเกิดจากการที่คนอายุน้อยเลือกจะเรียนมากกว่าทำงาน ส่วนคนที่อายุมากก็เกษียณก่อนกำหนด และมีคนที่ได้รับสิทธิเมื่อเจ็บป่วยในระยะยาวเป็นจำนวนมากขึ้น
4) ปัญหาพื้นฐานระยะยาว
นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ชี้ให้เห็นว่าปัมีญหาพื้นฐานหลายอย่าง ที่อยู่เบื้องหลังของการที่เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรอ่อนแอ
หลายคนอาจจะมองว่าเป็นปัญหาจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกในปี 2008 แต่อันที่จริงแล้วต้นตอของปัญหานั้นย้อนกลับไปไกลกว่านั้นมาก คือการที่ลงทุนลดลงมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990
ทำให้เศรษฐกิจอาจไม่มีความแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับวิกฤติที่เข้ามาซ้อนกันหลายวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นโควิด Brexit หรือสงครามในยูเครน
จึงกลายเป็นความอ่อนแอของเศรษฐกิจในระยะยาว ที่เกิดจากการลงทุนในระดับต่ำ ทั้งในภาครัฐและเอกชน การเสื่อมถอยลงของบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นหากเศรษฐกิจกำลังจะเติบโต
และถึงแม้ในปี 2022 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะรอดจากการเข้าสู่ภาวะถดถอยได้อย่างหวุดหวิด แต่ก็คงไม่อยากพูดได้ว่าหลุดพ้นจากสถานการณ์ที่ยากลำบากไปได้แล้วอย่างแท้จริง…
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา