22 ก.พ. 2023 เวลา 08:21 • ข่าว

ปัญหาการบูลลี่ (Bully) ในโรงเรียนของสังคมไทย

ในปัจจุบันตอนนับตั้งแต่ที่โรงเรียนต่าง ๆ ได้กลับมาเปิดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไซต์ (Onsite) เป็นปกติ หลังจากเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 เราก็จะเริ่มเห็นข่าวเกี่ยวกับเด็กนักเรียนคิดสั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการถูกบูลลี่ (Bully) หรือเกิดการกลั่นแกล้งกันภายในโรงเรียน ก็เป็นปัญหาหลักที่ทำให้สถานการ์ณปัญหามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และทำให้แนวโน้มการเกิด "โรคซึมเศร้า" ภายในเด็กรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง
1
ยกตัวอย่างเหตุการณ์น่าสะเทือนใจของเด็กหญิงวัย 14 ปี ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดนกลุ่มเพื่อนบูลลี่เรื่องที่พ่อแม่ของเธอแยกทางกัน ซ้ำยังโดนทำอนาจารภายในโรงเรียน จนเป็นเหตุทำให้เธอตัดสินใจกระโดดน้ำเพื่อจบชีวิตของตนเอง
1
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2566 ก็มีข่าวเกี่ยวกับเด็กนักเรียนหญิงวัย 13 ปี นักเรียนชั้น ม.1 ณ โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง โดยกรณีของเธอนั้นได้ถูกเพื่อน ๆ ของเธอบูลลี่โดยการกรีดสมุด และเขียนคำต่อว่าอย่างรุนแรง จนทำให้เธอตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ไม่ยอมพูดจากับใครและยังออกอาการอาละวาดทำลายสิ่งของ และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
1
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แบ่งการบูลลี่ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
  • 1.
    การกลั่นแกล้งทางวาจา (Verbal Bullying) คือ การสื่อสาร เขียน เพื่อสื่อความหมายกลั่นแกล้ง เช่น ล้อเล่น เหน็บแนม ขู่ว่าจะทำอันตราย
  • 2.
    การกลั่นแกล้งทางสังคม (Social Bullying) คือ วิธีการทำให้เสียหน้า หรือแกล้งให้สูญเสียความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างตั้งใจ เช่น กีดกันไม่ให้เป็นเพื่อนกัน ทำให้เกิดความอับอายในที่สาธารณะ
  • 3.
    การกลั่นแกล้งทางกายภาพ (Physical Bullying)คือ การกลั่นแกล้งที่เกี่ยวข้องกับร่างกายและสวัสดิภาพของผู้ถูกกลั่นแกล้ง เช่น ทุบตี
  • 4.
    การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyber Bullying) การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
1
การกลั่นแกล้งมักเกิดขึ้นที่โรงเรียนในเวลาหลักเลิกเรียน ไม่ว่าจะเป็นสนามเด็กเล่น, สนามบาส, ลานอเนกประสงค์ หรือเส้นทางกลับบ้านของนักเรียน การกลั่นแกล้งบูลลี่ มักนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม เช่น การกรรโชกทรัพย์ ซึ่งผู้ตกเป็นเหยื่อมักเป็นเด็กนักเรียนอายุ 12 - 18 ปี
เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชนให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจกลุ่มเด็กอายุ 10 - 15 ปี ใน 15 โรงเรียน พบว่าร้อยละ 91.79 เคยถูกบูลลี่ และวิธีการที่ใช้มากที่สุดคือ การตบหัว ถูกล้อชื่อพ่อชื่อแม่ และถูกเหยียดหยาม และอื่นๆ เช่น ล้อปมด้อย พูดจาเสียดสี เป็นต้น
1
การบูลลี่ในโรงเรียนนำไปสู่ปัญหาแก่เด็ก ๆ ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ส่งผลต่อการเรียนและความปลอดภัยของเด็ก และอาจเป็นเหตุที่ทำให้เด็กนั้นติดสินใจจบชีวิตตัวเอง เพื่อไม่ให้เด็กเจอปัญหาตามลำพัง ผู้ปกครองควรหมั่นซักถาม สังเกตอาการ เมื่อเห็นว่าเด็กมีอาการผิดปกติ กังวล กลัว ไม่อยากไปโรงเรียน เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาก่อนที่จะบานปลาย
โฆษณา