Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Dhamma Story
•
ติดตาม
31 ก.ค. 2023 เวลา 07:58 • การศึกษา
พระอรหันต์ตุ่ม
ความสงบของใจ เป็นทางมาแห่งความสุขที่มนุษย์ทุกคนต่างก็ปรารถนา ซึ่งเราสามารถสร้างให้เกิดขึ้นกับตัวของเราได้ โดยไม่ต้องไปอิงอาศัยวัตถุภายนอก เพราะความสุขที่แท้จริงเริ่มต้นที่จิตใจ เมื่อใจเราสงบหยุดนิ่งความสุขก็จะพรั่งพรูขึ้นมา ยิ่งทำใจให้หยุดนิ่งได้มากและนานเท่าไร ความสุขสมหวังในชีวิตจะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นไปเท่านั้น แล้วความสุขจะนำพาเราให้เข้าไปถึงพระรัตนตรัยภายใน
ถึงตอนนั้น เราจะมีความสุขอย่างเต็มที่ สุขอย่างสมบูรณ์แท้จริง จะอยู่ในอิริยาบถไหน หรือปฏิบัติภารกิจอันใด ก็จะมีความสุขเป็นพื้นฐาน เพราะฉะนั้นให้หมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งกัน
มีพระพุทธวจนะเกี่ยวกับเรื่องวาจา สัมผัปปลาปวาทะ ว่า
“ดูก่อนเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย เมื่อเธอได้มีการพบปะกันในระหว่างสองรูปแล้ว สิ่งที่เธอควรประพฤติต่อกันมีอยู่สองสถานคือ ควรกล่าววาจาที่เกี่ยวกับธรรมะอย่างหนึ่ง และเมื่อไม่มีอะไรต้องกล่าวเธอพึงเป็นผู้นิ่งเสีย”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นโลกวิทูรู้แจ้งโลก ทรงตรัสเตือนพวกเราทั้งหลายให้ระมัดระวังในเรื่องการใช้วาจาว่า ธรรมดาการอยู่ร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ต้องมีการพูดคุยกัน แต่ก่อนคุยกันนั้นควรคิดให้ดีเสียก่อน แล้วเลือกพูดแต่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีสาระ คุยเรื่องธรรมะ เรื่องที่เป็นอรรถเป็นธรรม ที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง คุยกันในสิ่งที่ทั้งผู้พูดและผู้ฟังมีจิตใจสูงขึ้น
ถ้าหากว่าไม่มีเรื่องอะไรที่ต้องคุย เพราะต่างเข้าใจกันดีแล้ว ก็ให้นิ่งเสีย เพราะถ้ายิ่งคุยเรื่องยิ่งยืดยาว เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องจะมีตามมา อาจจะเข้าข่ายพูดจาเพ้อเจ้อไป
เกี่ยวกับเรื่องการพูดเพ้อเจ้อนี้ คนส่วนใหญ่มักจะเผลอพลั้งพลาดได้ง่าย เพราะบางครั้งเวลาที่เราพูดเล่นกันสนุกสนาน เราก็จะหลุดเกี่ยวกับเรื่องถ้อยคำกันไปพอสมควร เมื่อสนุกได้ที่ชักติดลม ชวนคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปเรื่อย อย่างนี้ฉิวเฉียดอบาย ไม่พ้นสัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ ประพฤติทุจริตทางวาจา
ท่านผู้รู้ถึงได้เตือนว่า อย่ากล่าววาจาเพ้อเจ้อ เพราะวาจาประเภทนี้จะทำให้เสียประโยชน์ใหญ่ และทำให้ห่างไกลจากความสุขที่แท้จริงที่จะพึงได้รับ หมายความว่า เวลาเราคุยกันในเรื่องที่ไม่ค่อยจะมีประโยชน์มีสาระอะไร มันทำให้เสียเวลาและเสียการงาน แทนที่งานจะเสร็จเร็วก็กลับล่าช้าออกไป หรือแทนที่จะเอาเวลามานั่งหลับตาเจริญภาวนาก็เสียโอกาสดีๆ ไป หรือควรจะได้รับความสุขจากธรรมะปฏิบัติ ก็พลาดจากความสุขที่ยิ่งใหญ่ ได้แค่ความเพลิดเพลิน มันๆ สนุกสนานเฮฮากันไป
คำพูดเพ้อเจ้อตลกขบขันต่างๆ รวมไปถึงการเสกสรรปั้นแต่งเรื่องไร้สาระต่างๆ ขึ้นมาให้คนเคลิบเคลิ้มตาม เป็นทางมาแห่งโมหะความลุ่มหลง ทำให้ใจหมองพร่ามัว แต่ถ้าหากว่าเอาเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมาพูด แม้เรื่องนั้นจะดูเหมือนไม่ใช่อรรถไม่ใช่ธรรม เป็นเรื่องเกี่ยวกับโลก แต่เราเอามาประกอบโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะยกขึ้นเป็นอุปมาเปรียบเทียบ เพื่อการแนะนำธรรมะ ให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน อย่างนี้ไม่เรียกว่าพูดเพ้อเจ้อ
ยิ่งถ้าพูดสอดแทรกเรื่องที่เป็นที่รู้จักกันดี เป็นที่นิยมของคนทั่วไป เอามาเสริมในการบรรยายเพื่อให้เกิดความเข้าใจง่าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพาน อย่างนี้ยิ่งดี เรียกว่ารู้จักนำมาประยุกต์ใช้ในการพูด มีปฏิภาณดี ไม่ถือว่าเป็นวาจาเพ้อเจ้อ คือให้ดูที่เจตนาเป็นหลัก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเกี่ยวกับเรื่องวาจาเพ้อเจ้อ และแยกแยะให้พระภิกษุได้ศึกษาไว้ในสามัญญผลสูตร โดยตรัสรวมเป็น ๓๒ กถาด้วยกัน ตั้งแต่พูดในเรื่องของพระราชา เรื่องการรบ เรื่องโจร เรื่องการทำมาหากิน เรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เรื่องความสวยความงาม เรื่องยานพาหนะ เรื่องบุรุษสตรี เด็กชายเด็กหญิง เหล่านี้เป็นต้น
เพราะเรื่องเหล่านี้เมื่อกล่าวแล้วจะเป็นเหตุให้ธรรมเนิ่นช้า เสียเวลา ใจฟุ้งซ่าน เมื่อคิดฟุ้งซ่านก็เจริญสมาธิไม่ได้ เมื่อสมาธิหย่อนก็อยากจะทำอะไรที่แปลกๆ ยิ่งถ้าไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจตนเอง ก็จะเป็นเหมือนกับพระภิกษุรูปหนึ่ง ที่มีความคิดผิดเพี้ยนไป
พระภิกษุรูปนี้ ท่านบวชเข้ามาแล้วก็ไม่ค่อยได้ขวนขวายในการศึกษาพระธรรมวินัย ปล่อยวันคืนให้ล่วงไปกับการพูดคุยสนทนากัน มีความยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่ ชอบเพ้อเจ้อไปเรื่อย ไม่ได้ทำชีวิตให้มีสาระแก่นสารแต่ประการใด จนกระทั่งชีวิตย่างก้าวเข้าสู่วัยชรา ก็ยิ่งคิดมาก ฟุ้งซ่านไปเรื่อยเปื่อย และมีความคิดที่แปลกๆ ว่า คนอื่นเขาบวชกันเข้ามา ที่ได้บรรลุธรรมก็มีมาก เราบวชมาจนอายุปูนนี้แล้ว ทำไมยังไม่ได้บรรลุธรรมสักที
แต่แทนที่ท่านจะเร่งปฏิบัติธรรมให้หลุดพ้น กลับคิดค้นหาวิธีที่พิลึก ที่จะให้คนเข้าใจว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านมีวิธีการคือ ไปหาตุ่มมาใบหนึ่งเอามาไว้ในกุฏิ เวลามีญาติโยมมาก็หลบลงในตุ่ม โยมมาดูที่ในกุฏิมองไม่เห็นท่าน จึงถามสามเณรว่า พระเถระอยู่ไหน สามเณรตอบว่า “ท่านอยู่ในกุฏินั่นแหละ”
ในระหว่างที่ญาติโยมไปสนทนาไต่ถามสามเณร ท่านจึงรีบขึ้นมาจากตุ่ม ทำทีว่านั่งเจริญสมาธิภาวนาอยู่บนตั่ง เมื่อสามเณรพาโยมเข้าไปดูอีกที ก็เห็นท่านนั่งอยู่จริงๆ จึงบังเกิดความอัศจรรย์ใจและเลื่อมใสเป็นอย่างมาก เข้าไปกราบเรียนถามตามที่ตนสงสัยว่า
“ข้าแต่พระเถระเจ้า เมื่อสักครู่นี้ พวกข้าพเจ้าพากันเข้ามาในที่นี้ ไม่เห็นพระเถระอยู่ในกุฏินี้เลย น่าอัศจรรย์แท้ บัดนี้ท่านมานั่งอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร” พระเถระกล่าวว่า “เป็นธรรมดาว่า สมณะในศาสนานี้ย่อมทำในสิ่งที่เหนือวิสัยได้ การที่ท่านจะอยู่หรือไปใครๆ ไม่ควรคิด เพราะวิสัยของสมณะย่อมเหนือการคาดเดาของปุถุชน”
เมื่อญาติโยมฟังแล้วก็เข้าใจว่า ท่านเป็นผู้มีคุณวิเศษได้บรรลุพระอรหันต์ ตั้งแต่นั้นมาลาภสักการะก็เกิดขึ้น ชื่อเสียงของท่านจึงระบือลือเลื่องไปไกล ศรัทธามหาชนหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย แต่เรื่องนี้อยู่ในสายตาของเทวดาที่อยู่ในละแวกนั้น ทวยเทพทั้งหลายเกิดความสลดใจ แม้บางคราวจะหาโอกาสตักเตือนท่านแต่ก็ไม่สำเร็จ จึงต้องปล่อยให้ท่านเป็นไปตามยถากรรม
ครั้นท่านละโลกก็ไปสู่อบาย เพราะความหมองใจที่มีจนกระทั่งหมดอายุขัย ความฟุ้งซ่านของจิตที่ไม่ได้อบรม ทำให้ท่านเป็นคนเพ้อเจ้อ หลอกลวงผู้อื่น เพียงเพื่อตนจะได้ภาคภูมิใจในความเป็นอรหันต์จอมปลอม จึงกระทำการลวงโลกเหมือนเล่นกล ก่อให้เกิดโทษใหญ่หลวงตามมา และก่อนที่จะมรณภาพ ท่านไม่มีบุญมาอุปถัมภ์ค้ำจุน ชนกกรรมก็นำท่านไปเกิดในกำเนิดสัตว์นรก ที่มีชื่อเรียกว่า ปหาสนรก ซึ่งเป็นขุมบริวารที่อยู่ในอเวจีมหานรก ต้องไปทนทุกข์ทรมานอีกยาวนานสมแก่กรรมของตน
จะเห็นได้ว่า เมื่อทำผิดอย่างหนึ่งแล้ว อย่างที่สองที่สามก็จะตามมา เป็นการขยายผลแห่งความชั่ว ที่บางครั้งเจ้าตัวยังไม่ทันจะรู้สึกด้วยซ้ำไป แต่กว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว เพราะอบายเปิดรับอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นตั้งสติให้ดี สติจะเป็นเครื่องช่วยให้เรารู้จักยับยั้งชั่งใจ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสบาปอกุศลที่จรเข้ามาในจิต คนที่ขาดสติมักจะพูดพล่าม พูดตามอารมณ์ พูดยืดยาวเกินกาล พูดหาสาระแก่นสารไม่ได้ เมื่อพูดโดยขาดสติและปัญญา วาจาที่พูดออกมาจึงเป็นเหมือนเพชฌฆาตฆ่าตนเอง ยิ่งถ้าลงมือกระทำความชั่วซ้ำอีก โทษยิ่งหนักขึ้นไปตามลำดับ สมกับเหตุและเจตนา
ฉะนั้น ถ้าเรามีสติ ตัดที่ความคิดจะพิชิตความชั่วได้ คือเราต้องเลิกคิดทันที เมื่อมีความคิดที่ไม่ดีแวบเข้ามา แล้วเปลี่ยนแปลงความคิดนั้นให้เป็นความคิดในเชิงบวก คิดสร้างสรรค์ ด้วยจิตที่เป็นกุศล ให้ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทุกประสบการณ์ที่พานพบ มองให้ลึกซึ้ง ให้เห็นถึงส่วนดี มองในแง่ดีให้ออก
แล้วเปลี่ยนทุกอย่างที่เข้ามาให้เป็นบุญให้หมด เป็นธรรมะ เป็นความใส ใจเราจะได้ใสบริสุทธิ์ พร้อมกับตั้งใจมั่นที่จะลดละเลิกบาปอกุศลทุกอย่าง มุ่งหน้าทำแต่ความดีเรื่อยไป ทำใจให้ผ่องใส อะไรที่พลาดพลั้งไปก็ให้ลืมมันไป แล้วตั้งต้นใหม่ ทำความดีกันไปจนตลอดอายุขัย
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป หน้า ๔๕๖ – ๔๖๓
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
เล่ม ๗๘ หน้า ๘๘๒
1 บันทึก
42
8
49
1
42
8
49
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย