23 ก.พ. 2023 เวลา 02:09

โรคกลัว (Phobia)

🔸 คนเราทุกคนต่างมีความกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวสัตว์ร้ายชนิดต่าง ๆ ที่พบเจอ กลัวฆาตกรต่อเนื่องที่จ้องมาที่เรา หรือกลัวผีโผล่มาหลอกหลอนยามค่ำคืน ความกลัวเป็นอารมณ์ที่เกิดจากการที่คนเรารับรู้ภัยคุกคาม ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากขึ้น ทำให้คนเรามีแรงมากขึ้นเพื่อพร้อมที่จะสู้หรือหนีจากสิ่งที่เผชิญ
🔸 ความกลัวเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิต เป็นสัญญาณเตือนภัยช่วยให้มนุษย์หลีกเลี่ยงหรือหลีกหนีสิ่งที่เป็นอันตราย ทำให้คนเรามีชีวิตอยู่ได้ยาวนานขึ้น แต่ก็มีบางคนที่กลัวมากเกินปกติ หรือกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว คนเหล่านี้ป่วยด้วยโรคกลัว ในบทความนี้เราจะมาคุยเรื่องของโรคกลัวกันครับ
🔸 ก่อนเข้าเนื้อหาเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชทุกโรค แมวส้มต้องขอเตือนก่อนว่า ถึงแม้คุณผู้อ่านจะมีข้อมูลหรือมีความรู้เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชมากเพียงใด ก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้เองนะครับว่าตัวท่านเองและผู้อื่นป่วยเป็นโรคทางจิตเวช คุณผู้อ่านสามารถทำได้เพียงการคัดกรองว่าตัวท่านหรือคนรอบข้างมีความเสี่ยงจะเป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่ การวินิจฉัยนั้นสามารถทำได้โดยแพทย์ที่ผ่านการฝึกมาแล้วเท่านั้น
🔸 ข้อมูลที่แมวส้มกำลังจะนำเสนอต่อไปนี้หลาย ๆ ส่วน ไม่ได้ใช้คำศัพท์ตาม ICD ที่พัฒนาโดยองค์การอนามัยโลก หรือ DSM-V ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ที่เป็นคู่มือการวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต ที่จิตแพทย์ใช้กันทั่วโลกแบบเป๊ะๆ เพราะคำที่ใช้ในคู่มือนี้เต็มไปด้วยศัพท์ทางการแพทย์ แมวส้มจึงขอปรับภาษาเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ
🔸 โรคกลัว (Phobia) เป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจที่จัดอยู่ในกลุ่มของโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) ผู้ป่วยจะมีอาการหวาดกลัวต่อบางสิ่งที่คนทั่วไปกลัวกันเป็นปกติแต่ความกลัวของผู้ป่วยนั้นจะมีมากเกินปกติ หรือหวาดกลัวต่อสิ่งที่คนทั่วไปไม่กลัวกันแต่ผู้ป่วยกลับมีความกลัวกับสิ่งนั้น
🔸 โรคกลัว สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
1. กลุ่มอาการโรคกลัวสังคม (Social Phobias) ผู้ป่วยจะรู้สึกกลัวเมื่อตัวเองตกเป็นเป้าสนใจของผู้อื่น เช่น การนำเสนอหน้าชั้นเรียน และการพูดคุยกับคนแปลกหน้า เป็นต้น
2. กลุ่มอาการโรคกลัวสถานที่หรือสถานการณ์ (Agoraphobia) ผู้ป่วยจะรู้สึกกลัวเมื่อต้องอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่ตนคิดว่าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้ เช่น การอยู่ในห้องตามลำพัง หรืออยู่ในลิฟท์ตามลำพัง เป็นต้น
3. กลุ่มอาการโรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Specific Phobias) ผู้ป่วยจะรู้สึกกลัวต่อสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งไม่มีชีวิตอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น กลัวแมงมุม กลัวตุ๊กตา กลัวตั๊กแตน กลัวงู กลัวเลือด เป็นต้น
🔸 หนังสือพจนานุกรมคำศัพท์จิตเวชศาสตร์และจิตวิทยาโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมภพ เรืองตระกูล ได้จำแนกโรคกลัวออกเป็นประเภทย่อยๆเกือบ 300 ประเภทเลยทีเดียว โดยโรคกลัวประเภทที่พบได้บ่อย มีดังนี้
Acrophobia – โรคกลัวความสูง
Ailurophobia – โรคกลัวแมว
Arachnophobia – โรคกลัวแมงมุม
Astraphobia – โรคกลัวฟ้าแล่บฟ้าร้อง
Autophobia – โรคกลัวที่ต้องอยู่คนเดียว
Aviophobia – โรคกลัวการบิน
Canophobia – โรคกลัวสุนัข
Claustrophobia – โรคกลัวที่แคบ
Glossophobia – โรคกลัวการพูดในที่สาธารณะ
Hemophobia – โรคกลัวเลือด
Hydrophobia – โรคกลัวน้ำ
Ophidiophobia – โรคกลัวงู
Pediophobia – โรคกลัวตุ๊กตา
Thalassophobia – โรคกลัวทะเล
Trypanophobia – โรคกลัวเข็มฉีดยา
Claustrophobia – โรคกลัวที่แคบ
🔸 เมื่อผู้ป่วยเจอกับสิ่งที่ตนเองกลัว ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีระดับของความกลัวที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกหวาดกลัวอย่างรุนแรง ตัวสั่น เกิดอาการแพนิค (panic) หรืออาจหมดสติได้เลย
🔸 ผู้ที่เป็นโรคกลัวนั้นไม่จำเป็นต้องเข้าการรักษาทุกคน ถ้าผู้ป่วยสามารถปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับความกลัวนั้นได้ก็ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ถ้ามีอาการรุนแรง จนความกลัวนั้นส่งผลต่อสุขภาพจิต ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข ส่งผลเสียต่อการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ก็ควรเข้าพบแพทย์นะครับ
🔸 เช่น นักศึกษาที่แมวส้มสอนคนหนึ่งมีอาการกลัวแมวอย่างรุนแรง เมื่อนักศึกษาคนนี้ต้องไปสังเกตการสอนในโรงเรียนซึ่งเป็นกิจกรรมที่อยู่ในหลักสูตรการศึกษา แล้วดันได้ยินเสียงแมวร้องเหมียวเบาๆ โดยเจ้าตัวมองไม่เห็นตัวแมวและไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแมวอยู่ตรงไหน ก็รู้สึกกลัวจนตัวสั่น ร้องไห้ ทำอะไรไม่ถูก จนไม่สามารถดำเนินการสังเกตการสอนต่อได้
🔸 โรคกลัวสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ประสบการณ์ที่เลวร้ายต่อสิ่งที่กลัวในวัยเด็ก การรับฟังหรือประสบกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ และการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
🔸 การรักษาก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทำจิตบำบัดร่วมกับการทานยาตามแพทย์สั่ง และการให้ผเชิญกับความกลัวด้วยวิธีการปรับพฤติกรรมที่เหมาะสม
🔸 เช่น นักศึกษาที่กลัวแมวในตัวอย่างข้างต้น แมวส้มได้ทำการช่วยเหลือโดยการปรับพฤติกรรม โดยใช้เทคนิคการลดความรู้สึกอย่างเป็นระบบ (Systematic Desensitization) จนอาการกลัวลดน้อยลงและไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตแล้ว
🔸 นอกจากนี้คนในสังคมมักจะมีความเข้าใจผิดๆเกี่ยวโรคกลัว เช่นคิดว่าคนที่กลัวเข็มฉีดยาเป็นคนขี้ขลาด เป็นคนอ่อนแอ ทนเจ็บไม่ได้ ซึ่งที่จริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย โรคกลัวคือโรคทางจิตใจ เป็นความเจ็บป่วยที่ไม่ได้เกี่ยวกับความเข้มแข็งหรือว่าอ่อนแอ
🔸 ความเข้าใจผิดที่แชร์กันในโลกโซเชียลเกี่ยวกับโรคกลัว คือเรื่องการทดสอบโรคกลัวรู (Trypophobia) โรคกลัวรูเนี่ยมีอยู่จริงครับ แต่เราไม่ควรตัดสินว่าทุกคนที่เห็นรูปที่น่าขยะแขยงที่แชร์กัน แล้วรู้สึกไม่อยากมองจะถือว่าเป็นโรคกลัวรูนะครับ เพราะรูปเหล่านั้นมันน่าขยะแขยงในระดับที่คนปกติก็ไม่อยากจะมองอยู่แล้ว
🔸 อีกหนึ่งการทดสอบโรคกลัวในอินเทอร์เน็ตที่แมวส้มเคยเห็นคือการทดสอบโรคกลัวทะเล (Thalassophobia) โดยให้คนดูรูปภาพคนว่ายน้ำและมีเงาดำๆที่เหมือนเงาของปลาฉลามอยู่ใต้น้ำ แล้วบอกว่าถ้าเกิดว่าเห็นรูปนี้แล้วกลัวแสดงว่าคุณเป็นโรคกลัวทะเล ซึ่งที่จริงแล้วคนที่เห็นภาพเหล่านี้ แล้วกลัวเขาไม่ได้กลัวทะเลครับ เขากลัวตายโว๊ยยยยยยยยยย!!!
🔸 แมวส้มต้องขอย้ำอีกครั้งนะครับว่าถ้าหากคุณผู้อ่านรู้สึกสงสัยว่าตนเองหรือคนรอบข้างป่วยเป็นโรคกลัว คุณผู้อ่านไม่ควรวินิจฉัยด้วยตัวเองอย่างเด็ดขาด สิ่งที่คุณผู้อ่านสามารถทำได้มีเพียงการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น ผู้ที่สามารถวินิจฉัยโรคได้มีเพียงคุณหมอเท่านั้นครับ
🔸 ก่อนจบบทความนี้ แมวส้มได้เจอกับชื่อโรคกลัวที่น่าสนใจโรคหนึ่ง นั่นคือ PhoboPhobia เป็นโรคกลัวการเป็นโรคกลัว…. อินเซ็ปชั่น สุด ๆ เลยครับ !!
โฆษณา