19 ส.ค. 2023 เวลา 09:14 • การศึกษา

โทษของคนมักโกรธ

บุคคลผู้มีความปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย อันเป็นความทุกข์ที่ติดตามเรามานานแสนนาน ต้องอาศัยพลังอำนาจบุญบารมีที่สั่งสมอบรมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน โดยเฉพาะบุญบารมีที่สำคัญมีอานุภาพมาก คือการประพฤติปฏิบัติธรรม ทำใจให้หยุดนิ่งในหนทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นเหตุให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย และเข้าถึงความสุขที่แท้จริง กระทั่งได้บรรลุมรรคนิพพาน
2
พระบรมศาสดาตรัสไว้ใน โกธนาสูตร ความว่า
 
“คนโกรธมีผิวพรรณทราม ย่อมนอนเป็นทุกข์ ถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว กลับปฏิบัติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ ทำปาณาติบาตด้วยกาย และวาจา ย่อมถึงความเสื่อมทรัพย์ ผู้มัวเมาเพราะความโกรธ ย่อมถึงความไม่มียศ ญาติมิตรและสหาย ย่อมเว้นคนโกรธเสียห่างไกล
คนผู้โกรธย่อมไม่รู้จักความเจริญ ทำจิตให้กำเริบ ภัยที่เกิดมาจากภายในนั้น คนผู้โกรธย่อมไม่รู้สึก คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ ไม่เห็นธรรม ความโกรธย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น คนผู้โกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้”
กิเลสทั้งที่เป็นราคะ โทสะ และโมหะ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าเป็นธุลี เป็นทางมาแห่งมลทินในจิตใจของสรรพสัตว์ เพราะกิเลสเหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมจะทำให้สรรพสัตว์มืดมน ทำให้สร้างแต่บาปอกุศล โลกของเราก็ไม่มีความสงบสุข มีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายอยู่เป็นนิตย์
บุคคลผู้ต้องการพ้นจากอกุศลธรรม อันเป็นดุจธุลี ๓ ตระกูลนั้น ต้องบำเพ็ญเพียรสร้างความดี ประพฤติปฏิบัติธรรม ลดละเลิกกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ให้ได้ ด้วยการปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกายอรหัต อันเป็นกายหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง
หากบุคคลใดมีจิตใจที่มืดมน ตกอยู่ในกระแสของกิเลสอาสวะหรือของพญามาร ไม่ประพฤติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย ยังละอกุศลธรรมไม่ได้ บุคคลนั้นย่อมมีแต่ความทุกข์และความลำบากในการดำเนินชีวิต แม้ละโลกไปแล้วก็ต้องทุกข์ต่อในอบายภูมิ
ดังเรื่องของ ทุฏฐกุมาร ผู้เป็นพระโอรสของพระเจ้ากิตกาสะแห่งเมืองพราณสี เมื่อทุฏฐกุมารประสูติแล้ว พระราชาทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอุปราช
วันที่พระราชโอรสประสูติ พวกโหราจารย์ต่างทำนายลักษณะของพระโอรสและกราบทูลพระราชาว่า ถ้าพระราชโอรสไม่ได้เสวยน้ำดังประสงค์ก็จะสิ้นพระชนม์ทันที ด้วยความรักพระราชโอรส พระองค์ทรงหาหนทางแก้ไขในทันที ทรงรับสั่งให้ขุดสระโบกขรณีที่ประตูเมืองทั้งสี่ทิศด้วยทรงเกรงว่า พระโอรสจะไม่ได้เสวยน้ำตามประสงค์แล้วจะสิ้นพระชนม์ อีกทั้งยังรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันทำปะรำมณฑปตาม ๔ แยกถนน แล้วให้ตั้งภาชนะที่ประณีต ใส่น้ำดื่มไว้จนเต็มตลอดเส้นทางอีกด้วย
เช้าตรู่วันหนึ่ง พระกุมารได้เสด็จไปพระราชอุทยานพร้อมด้วยเหล่าข้าราชบริพารเสนาอำมาตย์ ขณะนั้นเองพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตด้วยอาการสงบ น่าเลื่อมใส เมื่อมหาชนเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าต่างพากันออกมานมัสการและใส่บาตร พร้อมทั้งสรรเสริญพระคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้า
พระราชกุมารผู้เป็นพระอุปราช ทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น แทนที่จะมีโสมนัสเลื่อมใส อนุโมทนาในการกระทำของมหาชน กลับคิดว่า มหาชนรวมทั้งข้าราชบริพารที่ไปกับเราแทนที่จะสรรเสริญเราผู้เป็นพระราชโอรสเพียงผู้เดียวกลับไปสรรเสริญกราบไหว้สมณะโล้น ผู้นุ่งห่มผ้าย้อมฝาด คิดดังนั้นแล้วพระกุมารรู้สึกโกรธ จึงเสด็จลงจากหลังช้างตรงเข้าไปแย่งบาตรในมือของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วโยนทิ้งลงพื้น จากนั้นก็กระทืบบาตร เหยียบย่ำภัตตาหารที่มหาชนได้ถวายด้วยความเลื่อมใสนั้น
พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ทรงคุณอันประเสริฐ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ได้แลดูพระพักตร์ของพระราชกุมารด้วยความเมตตา พลางคิดด้วยความกรุณาว่า พระราชกุมารนี้ทรงฉิบหายเสียแล้วเพราะได้ทำกรรมหนักเช่นนี้
จากนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงนิ่งไม่ตรัสอะไร พระราชกุมารจึงตรัสขึ้นว่า “ดูก่อนสมณะ ตัวของข้าพเจ้านี้ เป็นพระราชโอรสของพระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินเมืองพาราณสีนี้ มีนามว่าทุฏฐกุมาร ท่านได้แต่มองดูเรา แต่ก็ทำอะไรเราไม่ได้” ตรัสจบแล้วก็หัวเราะเยาะอย่างร่าเริง แล้วเสด็จหลีกไป ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้าได้เหาะกลับเงื้อมเขานันทมูลกะ ซึ่งเป็นที่อยู่ของเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย
ทันทีที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหาะลับตาไป ทุฏฐราชกุมารผู้ทำบาปกรรมอันหนัก บังเกิดความเร่าร้อนอย่างใหญ่หลวงขึ้นในสรีระ มีความรู้สึกเสมือนร่างกายมีเปลวไฟเผาไหม้ตลอดเวลา ถึงกับล้มลงในที่นั้นเอง เกิดความหิวกระหายน้ำเป็นที่สุด
เหล่าเสนาอำมาตย์บริวารต่างรีบช่วยกันหาน้ำดื่มมาให้พระองค์ แต่น้ำดื่มที่เตรียมไว้ในบริเวณนั้น กลับแห้งขอดทุกแห่ง พระราชกุมารไม่ได้เสวยน้ำ อีกทั้งวิบากกรรมที่ทำไว้กับพระปัจเจกพุทธเจ้า ส่งผลให้พระองค์สวรรคตในที่นั้นทันที และไปบังเกิดในอเวจีมหานรก ถูกเปลวไฟแผดเผา เสวยความทุกข์ทรมานแสนสาหัส
จะเห็นว่า ความโกรธเป็นภัยต่อตัวเราอย่างยิ่ง ความโกรธเกิดจากอารมณ์ที่ไม่พอใจ ไม่สบายใจ ขุ่นข้องหมองใจ หงุดหงิด อันเป็นเหตุก่อให้เกิดประทุษร้ายผู้อื่น และเมื่อความโกรธเกิดขึ้นกับผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่หรือมีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง หรือสามัญชนคนธรรมดา ล้วนเป็นเหตุให้พบกับความหายนะความเดือดร้อนและมีความทุกข์เป็นผลในที่สุด โดยเฉพาะผลกรรมที่ทำกับผู้ทรงศีล มีความบริสุทธิ์หมดจด หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวงจึงเป็นกรรมหนักยิ่ง
ดังนั้นเราต้องระงับความโกรธให้ได้ และระงับกิเลสที่เป็นราคะ โทสะ หรือโมหะ เพราะเมื่อกิเลสเหล่านี้เกิดขึ้นกับบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นมีความเศร้าหมองไม่ผ่องใส เป็นทางมาแห่งธุลี ย่อมจะพบแต่ความทุกข์ทรมาน ผลสุดท้ายย่อมไปบังเกิดในนรกทนทุกข์ทรมานอีกยาวนาน
กิเลส ๓ ตระกูลคือ ราคะ โทสะ และโมหะ เป็นกับดักของพญามารที่คอยล่อลวงเราให้ตกเป็นทาสของเขา ฉะนั้นคนพาลจึงถูกพญามารควบคุมให้เป็นไปในอำนาจของกิเลส แต่สำหรับผู้ที่หมั่นฝึกฝนอบรมตนเองมาดีแล้ว ทั้งมีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน ย่อมสามารถขัดเกลากิเลสที่มีอยู่ในจิตใจ ซึ่งเป็นธุลีละเอียดที่ติดอยู่ในใจให้หมดได้ ด้วยการทำความดี ทั้งให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนานั่นเอง
การประพฤติปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนานับเป็นหนทางที่ดีที่สุด ในการกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป เพราะเป็นการชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ และเป็นเหตุให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในตัว พระธรรมกายเป็นกายตรัสรู้ธรรม ที่จะทำให้เรารู้ทุกสิ่งทุกอย่าง และที่สำคัญคือ เราจะรู้เท่าทันกิเลสและสามารถกำจัดกิเลสอาสวะที่หมักดองอยู่ในจิตใจให้หมดสิ้นไปได้ ฉะนั้น พวกเราทุกคนจึงควรตั้งใจปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในกันทุกๆคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป หน้า ๕๔๖ – ๕๔๔
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
เล่ม ๕๗ หน้า ๓๗๙
โฆษณา