22 ก.พ. 2023 เวลา 03:25 • ความคิดเห็น

คุณกำลัง 'โกรธ' หรือ 'กลัว'

บางทีเราก็แยกไม่ออกหรอก ว่าเรากำลัง 'โกรธ' หรือ 'กลัว' เพราะสองอย่างนี้มันอยู่ใกล้กันมาก
เวลาเห็นคนด่าหรือตำหนิเรา บ่อยครั้งเราจะจับคำด่านั้นไปใส่ไว้ในกล่อง Threat หรือ 'สิ่งคุกคาม' ซึ่งสมองของเราจะตีความออกมาได้ว่าเป็น 'อันตราย' กับตัวเรา แล้วเราก็จะตอบสนองพื้นฐานสองแบบ
คือถ้าไม่สู้ก็หนี
ถ้าเรารู้สึก 'กลัว' โดยมากเรามักมีปฏิกิริยาพื้นฐานสองอย่าง คือวิ่งหนีไปให้ไกลที่สุดจากสิ่งคุกคามนั้น หรือไม่ก็ 'ตัวแข็งทื่อ' ทำอะไรไม่ถูก ซึ่งสองอย่างนี้เป็นปฏิกิริยาที่ทำให้มนุษย์เรารอดพ้นจากสัตว์ผู้ล่ามาได้ในกระบวนการวิวัฒนาการ
แต่ถ้าเรารู้สึกว่า สิ่งที่คุกคามเรานั้น เราพอจะ 'จัดการ' กับมันได้ แทนที่เราจะ 'กลัว' เราอาจเกิดความรู้สึก 'โกรธ' ขึ้นมาแทน เพราะเรารู้สึกแค่ว่า สิ่งนั้นเป็นแค่ ‘อุปสรรค’ (Obstacle) ขัดขวางเราเท่านั้นเอง มันคุกคามเราไม่ได้หรอก เราจึงโกรธและแสดงอาการ 'ต่อสู้กลับ'
โดยพื้นฐาน รากของความกลัวและโกรธนั้นคล้ายกัน กลไกการทำงานของสมองก็คล้ายกัน แต่ตัวที่จะมากำหนดว่าเราจะรู้สึกกลัวหรือโกรธ คือการรับรู้ถึง 'อำนาจ' ของเราเองว่ามีมากแค่ไหน
ถ้าเราคิดว่าตัวเองมีอำนาจน้อย เราจะกลัว ถ้าเราคิดว่าตัวเองมีอำนาจมาก เราจะโกรธ แต่ถ้าเราคิดว่าตัวเองมีอำนาจ 'น้อยยิ่งกว่าน้อย' ก็เป็นไปได้ด้วยซ้ำ ว่าเราจะเปลี่ยนความกลัวนั้นไปเป็น 'ความรัก' ในนามของความจงรักซื่อสัตย์กับสิ่งคุกคามเรา
ซึ่งทั้งหมดนี้เรามักจะไม่รู้ตัว
ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือ เราควร ‘แยกแยะ’ ให้ได้เสียก่อนว่าตอนนี้เรากำลัง ‘รู้สึก’ หรือ ‘มีอารมณ์’ อะไรอยู่ เพราะบ่อยครั้งเรามัก ‘ไม่รู้ตัว’ ว่าเรากำลังเกิดอารมณ์อะไร จนกระทั่งเรามีพฤติกรรมแสดงออกออกไปแล้ว และส่งผลลัพธ์สุดท้ายออกไปแล้วนั่นแหละ เราถึงเพิ่งจะมารับรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร
ซึ่งบางทีเราอาจต้องเสียใจกับมันก็ได้
การ ‘แยกแยะ’ อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจาก ‘การรับรู้’ หรือ Cognition ของเราได้โดยละเอียด จะทำให้เรา ‘รู้เท่าทัน’ ตัวเองว่าเราจะมีพฤติกรรมอย่างไร และผลลัพการธ์จะเป็นอย่างไร ซึ่งหากผลลัพธ์มันไม่พึงปรารถนา เราก็สามารถจะย้อนกลับไประงับที่ตัว ‘การรับรู้’ ตั้งต้นของเราได้ หรือถ้าเราพิจารณาแล้วว่าอยากให้ได้ผลลัพธ์เช่นนั้น เราก็จะทำไปโดยรู้ว่านั่นคือความตั้่งใจของเรา
โฆษณา