22 ก.พ. 2023 เวลา 06:43 • การศึกษา

แนวคิดการบำเพ็ญบารมี (๑)

พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของชาวโลก เป็นความปรารถนาอันสูงสุดที่มีได้ทัดเทียมกัน เมื่อใดที่มวลมนุษยชาติได้เข้าถึงพระรัตนตรัย เมื่อนั้นจะพบกับความเหมือนกันที่สมบูรณ์ที่สุด ทั้งรูปร่างหน้าตา คุณสมบัติ ความบริสุทธิ์ และอานุภาพ จะรู้จักกายมาตรฐานที่เป็นสากลจริง ๆ เป็นกายที่สวยงาม อันประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ กายจะเหมือนเป็นพิมพ์เดียวกัน มีความเสมอภาคกันอย่างแท้จริง
เนื่องจากเพราะเป็นวงศ์แห่งพระอริยเจ้า จึงไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ มีดวงใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความคิดคำพูด และการกระทำ จะบริสุทธิ์บริบูรณ์เหมือนกัน มีความรักความปรารถนาดีต่อกันอย่างแท้จริง ไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์ หรือเบียดเบียนแก่งแย่งชิงดีกัน เราจะเข้าใจลึกซึ้งได้เมื่อลงมือปฏิบัติธรรม จนกระทั่งได้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวของเรา
เหล่าเทวดาในหมื่นโลกธาตุได้กล่าวให้สาธุการแด่สุเมธดาบสโพธิสัตว์ว่า
“พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง พึงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ ให้เต็มเปี่ยมฉันใด ข้าแต่ท่านมหาวีระ ขอท่านจงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ ให้เต็มเปี่ยมฉันนั้นเถิด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ตรัสรู้ที่โพธิมณฑล ฉันใด ข้าแต่ท่านมหาวีระ ขอท่านจงตรัสรู้ที่โพธิมณฑลของพระชินเจ้า ฉันนั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทรงประกาศพระธรรมจักร ฉันใด ขอท่านจงประกาศพระธรรมจักร ฉันนั้น พระจันทร์ในวันเพ็ญผ่องแผ้ว ย่อมรุ่งโรจน์ ฉันใด ขอท่านจงมีใจเต็มเปี่ยมรุ่งโรจน์ในหมื่นโลกธาตุ ฉันนั้น พระอาทิตย์ที่พ้นจากราหูแล้ว ย่อมแผดแสงด้วยความร้อนแรง ฉันใด ขอท่านจงปลดเปลื้องโลกียะออก สว่างไสวอยู่ด้วยโลกุตระ ฉันนั้นเถิด แม่น้ำใด ๆ ก็ตามย่อมไหลไปสู่ทะเลใหญ่ ฉันใด ขอชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก จงรวมไปสู่สำนักของท่าน ฉันนั้นเถิด”
หลายท่านที่มาวัดแล้วเกิดความสงสัยในใจว่า บารมีคืออะไร ทำไมต้องสร้างบารมี สร้างบารมีแล้วจะได้อะไร แต่บางคนก็อาจจะพอเข้าใจอยู่บ้าง อีกทั้งประพฤติปฏิบัติกันเป็นปกติ ด้วยเข้าใจชีวิตว่า เราเกิดมาสร้างบารมี ธรรมกายคือเป้าหมายชีวิต งานหลักคือการสร้างบารมี ส่วนการทำมาหากินเป็นเรื่องรอง แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป ครั้งนี้หลวงพ่อจะขอโอกาสพูดเกี่ยวกับเรื่องการสร้างบารมี เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจให้มากขึ้น
คำว่า บารมี มาจากคำว่า ปูระ ธาตุ หมายถึง เต็มเปี่ยม สูงสุด หรือสมบูรณ์ที่สุด ความสมบูรณ์ของชีวิตนั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการสั่งสมบุญกุศล บุญที่เราทำทีละเล็กทีละน้อย เมื่อกลั่นตัวมากเข้า จากดวงบุญก็กลายเป็นดวงบารมี ซึ่งจะต้องทุ่มเทสุดฤทธิ์สุดเดช สุดความสามารถที่มีอยู่ จึงจะกลายเป็นบารมีได้ ความเต็มเปี่ยม และความสมบูรณ์ของชีวิตย่อมจะบังเกิดขึ้นในที่สุด
เนื่องจากมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนมีความทุกข์เป็นพื้นฐาน ต่างปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ เพียงแต่ไม่รู้ว่า อะไรคือสาเหตุให้เกิดทุกข์ จะดับทุกข์ได้อย่างไร และหนทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์นั้นเป็นอย่างไร ความไม่รู้ทำให้หลงเวียนวนในสังสารวัฏไม่รู้จักจบสิ้น ชีวิตจึงตกอยู่ในกรอบของอวิชชา ตกเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร
การสร้างบารมีของเรา นอกจากจะช่วยตนเองยังช่วยเหลือสรรพสัตว์อีกด้วย การจะทำตนให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสต้องอาศัยการสร้างบารมี จึงต้องอาศัยใจมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว พร้อมที่จะสวนกระแสกิเลส กระแสโลกที่กำลังรุ่มร้อนด้วยไฟ คือ โลภะ โทสะ และโมหะ มุ่งเข้าสู่กระแสธรรม บารมีหลัก ๆ ที่พระบรมโพธิสัตว์ทุก ๆ พระองค์ประพฤติปฏิบัติกันมา คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมีซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องดำเนินรอยตามท่าน
จากบุญที่สั่งสมมากเข้า ๆ จนกลายเป็นบารมี จากบารมีขั้นธรรมดา เมื่อสั่งสมมากเข้า ๆ เช่น เคยถวายมหาทานซึ่งเป็นวัตถุภายนอก ต่อมากล้าที่จะให้ทานด้วยเลือดเนื้อ หรือชีวิต บารมีนั้นก็กลั่นกล้ามากขึ้นเป็นอุปบารมี และปรมัตถบารมีในที่สุด คือ ทุ่มเทสร้างชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน กล้าให้ชีวิตของตนเองเป็นทาน เพื่อหวังบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ จนกระทั่งบารมีครบถ้วนหมด ๓๐ ทัศ
คนในโลกนี้อาจกล้าที่จะสละวัตถุสิ่งของ หรือสละเลือดเนื้อเป็นทาน แต่การให้ชีวิตเป็นทานเป็นสิ่งที่ทำได้ยากอย่างยิ่ง สำหรับพระบรมโพธิสัตว์นั้นท่านกล้าที่จะให้ชีวิตเป็นทาน โดยไม่มีความหวั่นกลัวต่อมรณภัยเลย บารมีของท่านจึงครบหมดทั้งขั้นธรรมดา ขั้นอุปบารมี และขั้นปรมัตถบารมี นอกจากนี้แล้ว ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขาบารมี ท่านก็ทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพัน บารมี ๓๐ ทัศของท่านจึงเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ไม่มีพร่องเลย
ความกล้าคิดของพระบรมโพธิสัตว์ยิ่งใหญ่เหนือมนุษย์ทั่ว ๆ ไป บางคนคิดไม่ออกว่า ทำไมสร้างบารมีต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ทำไมสร้างบารมีมีแต่นำความทุกข์หรือความตายมาให้ ไม่เห็นนำความสุขมาให้เลย แต่วิสัยของพระบรมโพธิสัตว์มองไกลไปว่า ตนเองได้เวียนตายเวียนเกิดอย่างนี้มานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว
ถ้าตายก็เป็นเพียงการเปลี่ยนภพภูมิใหม่ เปลี่ยนสถานที่สร้างบารมีใหม่ การตายเร็วหรือช้านั้นก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ สำคัญที่ว่า ทุกลมหายใจเข้าออกในขณะที่มีชีวิตอยู่นั้น เป็นไปเพื่อการสร้างบารมีหรือไม่ การได้โอกาสสร้างบารมีนั้นนับเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง เมื่อโอกาสดีมาถึงตัวแล้ว ท่านจึงไม่พลาดที่จะสร้างบารมีให้ครบถ้วนทุกประการ เพื่อความถึงพร้อมทุกสิ่งในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้า
การสร้างบารมีทั้ง ๓๐ ทัศนี้ เป็นเสบียงสำคัญ เปรียบเสมือนธรรมาวุธอันวิเศษที่สนับสนุนให้ก้าวขึ้นสู่ความสูงส่ง และความเต็มเปี่ยมของชีวิต คือ ได้เข้าถึงพระธรรมกายอรหัต หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์
หากสร้างบารมีแบบพระบรมโพธิสัตว์ ย่อมจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สั่งสอนเหล่าเวไนยสัตว์ผู้มีธุลีกิเลสในใจเบาบาง ให้หลุดพ้นจากทุกข์ตามพระองค์ไปด้วย ซึ่งแต่ละพระองค์นั้นทรงทำได้ตามกำลังบารมีที่สั่งสมไว้ บางพระองค์ทรงสร้างบารมีประเภทปัญญาธิกพระพุทธเจ้าสร้างมา ๒๐ อสงไขย๑๐๐,๐๐๐ มหากัปก็ขนสรรพสัตว์เข้านิพพานไปได้จำนวนหนึ่ง
หากสร้างบารมีประเภทสัทธาธิกพุทธเจ้า ๔๐ อสงไขย๑๐๐,๐๐๐ มหากัป ก็สามารถเทศน์โปรด และขนหมู่สัตว์ไปสู่นิพพานตามพระองค์ได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีนานถึง ๘๐ อสงไขย๑๐๐,๐๐๐ มหากัป เป็นนักสร้างบารมีประเภทวิริยาธิกพุทธเจ้า มีบารมีธรรมมาก
เมื่อเสด็จอุบัติขึ้นทรงมีรัศมีกายที่สว่างไสว เหมือนพระมังคลพุทธเจ้าผู้มีรัศมีกายสว่างทั่วหมื่นโลกธาตุ บดบังรัศมีของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว มนุษย์ไม่ต้องอาศัยแสงจากดวงดาวเหล่านั้น แต่เป็นอยู่ได้ด้วยพระรัศมีที่สว่างไสวออกจากพระวรกายของพระพุทธองค์ เวลาโปรดสัตว์แต่ละครั้ง มีสรรพสัตว์บรรลุธรรมกันมากมายนับไม่ถ้วน อีกทั้งพระชนมายุก็ยืนนานถึง ๘๐,๐๐๐ ปี แต่ถึงกระนั้นก็ยังรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปได้ไม่หมด ยังขนไปได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
เรื่องการสร้างบารมีเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง ยังต้องศึกษากันอีกมาก ขอกล่าวพอเป็นสังเขปก่อน พระบรมโพธิสัตว์ที่กำลังสร้างบารมีเพื่อมารื้อสัตว์ขนสัตว์ยังมีอีกมาก ซึ่งจะขนไปมากหรือน้อยก็แล้วแต่กำลังบารมี ถ้าจะขนกันทีเดียวให้หมดเลย ต้องอาศัยบารมีมากทีเดียว ถ้าบารมีธรรมเต็มเปี่ยมถึงที่สุดก็เป็นไปได้
ถ้าทำถูกหลักวิชชาของการสร้างบารมี มุ่งไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม ทุ่มเทชีวิตจิตใจสร้างบารมีชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันโดยไม่ประมาท สักวันหนึ่งความปรารถนานั้นก็เป็นจริง สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งมวลย่อมจะหลุดพ้นเข้าสู่อายตนนิพพานกันถ้วนหน้า
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับการบำเพ็ญบารมี หน้า ๑๒ – ๑๙
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ทูเรนิทาน เล่ม ๕๕ หน้า ๔
โฆษณา