25 มี.ค. 2023 เวลา 09:03 • การศึกษา

แนวคิดการบำเพ็ญบารมี (๓)

การหมั่นฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม เป็นวิถีทางของนักปราชญ์บัณฑิตที่จะทำให้เป็นคนดีที่โลกต้องการ ขึ้นชื่อว่าเป็นคนดีย่อมเป็นที่ปรารถนาของทุกๆ คน บุคคลเป็นคนดีเพราะมีคุณงามความดี
แต่คุณงามความดีในชีวิตจะมีขึ้นได้ ต้องเริ่มต้นจากกาย วาจา ใจ ที่สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส โดยต้องเริ่มจากใจที่หยุดนิ่ง เนื่องจากใจที่อบรมด้วยการเจริญสมาธิภาวนาเป็นใจที่ตั้งมั่น สามารถรองรับธรรมะอันละเอียดลุ่มลึกภายใน เป็นเหตุให้เข้าถึงต้นแหล่งแห่งคุณธรรมความดีทั้งหลาย ซึ่งรวมประชุมอยู่ในธรรมกาย ธรรมกายยังเป็นเป้าหมายของชีวิตที่สมบูรณ์อีกด้วย
1
ครั้งนั้น สุเมธดาบสโพธิสัตว์ได้กล่าวสอนตนเองไว้ใน พุทธการกธรรมว่า
“เราจักเลือกเฟ้นธรรมทั้งหลายอันกระทำซึ่งความเป็นพระพุทธเจ้าทางโน้นและทางนี้ ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำทั่วทั้งสิบทิศ ตลอดถึงธรรมธาตุ เมื่อเราเลือกเฟ้นอยู่ในกาลนั้น ได้เห็นทานบารมีอันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๑ เป็นทางใหญ่ อันพระพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อน ทรงเลือกเฟ้นแล้ว จึงสอนตนว่า เธอจงบำเพ็ญทานบารมีอันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๑ นี้ สมาทานทำไว้ให้มั่น
ถ้าเธอปรารถนาบรรลุพระโพธิญาณ เปรียบเหมือนหม้อน้ำที่ใครคนหนึ่งคว่ำปากลง น้ำก็ออกจากหม้อมิได้เหลืออยู่เลย มิได้รักษาน้ำไว้ในหม้อนั้น แม้ฉันใด เธอเห็นยาจกทั้งหลายทั้งที่เป็นชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นสูงก็ตาม จงให้ทานโดยไม่เหลือ เหมือนหม้อน้ำที่เขาคว่ำปาก ฉันนั้นเหมือนกัน”
ก่อนหน้าที่พระบรมโพธิสัตว์จะบังเกิดเป็นสุเมธดาบส ท่านได้สร้างบารมีเพื่อปรารถนาพุทธภูมิมาก่อนหน้านั้นแล้ว ได้บำเพ็ญบารมีมาในช่วงแรก โดยตั้งความปรารถนาในใจ ๗ อสงไขย เริ่มจากท่านพาแม่เดินทางข้ามมหาสมุทรไปค้าขายต่างแดน แต่ถูกคลื่นลูกใหญ่โหมกระหน่ำใส่เรือ ทำให้เรืออับปางในระหว่างทาง ลูกเรือทั้งหลายจมน้ำตายเป็นภักษาของปลาและเต่า ส่วนท่านไม่ยอมแพ้ ได้แบกมารดาและตั้งความปรารถนาว่า หากเราพ้นทุกข์แล้ว เราจะพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากกองทุกข์ไปด้วย
ด้วยความเป็นลูกยอดกตัญญูของท่าน ทำให้นางมณีเมขลาได้ช่วยท่านขึ้นสู่ฝั่งได้อย่างปลอดภัย ตั้งแต่นั้นมาท่านก็ทำตามมโนปณิธานที่ได้ตั้งใจไว้ มุ่งบำเพ็ญบารมีเรื่อยมา แต่ยังไม่บอกใคร จนเวลาผ่านไป ๗ อสงไขยจึงมีความมั่นใจมากขึ้น สร้างความดีต่อเนื่องมากเข้า
จากนั้นท่านเริ่มเปล่งวาจาให้มหาชนได้รู้ว่า ตัวท่านนี้มีความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ ที่จะพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากกองทุกข์ จึงบำเพ็ญบารมีทุกรูปแบบชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันเรื่อยมา ทำความดีอะไรก็ประกาศให้มหาชนรู้ว่า ตัวท่านนี้ปรารถนาจะรื้อสัตว์ขนสัตว์เข้าสู่นิพพาน คือ จะขอเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตภายภาคเบื้องหน้า ทำอยู่เช่นนี้ซํ้าแล้วซํ้าอีกถึง ๙ อสงไขย
คำว่า อสงไขย แปลว่า นับไม่ได้ ผู้รู้ได้อุปมาไว้ว่า ฝนตกครั้งใหญ่ในจักรวาล ตกต่อเนื่องกันไม่ได้หยุดตลอด ๓ ปี จำนวนหยาดน้ำฝนที่ตกทั่วจักรวาลตลอด ๓ ปีนั้นประมาณว่าเป็นหนึ่งอสงไขย ยาวนานอย่างนั้นทีเดียว ด้วยหัวใจอันยิ่งใหญ่เกินจักรวาลของพระโพธิสัตว์ ท่านมองว่าไม่เหลือวิสัย จึงทุ่มเทชีวิตจิตใจ ไม่ว่าเนื้อเลือดหรือชีวิตก็อุทิศเป็นทานได้ ขอเพียงให้ได้บรรลุอภิสัมมาสัมโพธิญาณเท่านั้น เมื่อรวมระยะเวลาจากที่เพียงแค่คิดในใจกับประกาศให้มหาชนได้รับรู้รวมเป็น ๑๖ อสงไขย
ครั้นมาในชาติที่เสวยพระชาติเป็นสุเมธดาบส ซึ่งเป็นชาติที่สำคัญ เพราะเป็นชาติที่เปลี่ยนแปลงจากพระโพธิสัตว์ที่ยังไม่เที่ยงแท้แน่นอน มาเป็นนิยตโพธิสัตว์ คือ ผู้เที่ยงแท้ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลอย่างแน่นอน ท่านเป็นมหาฤๅษีผู้มีตบะกล้า แม้จะมีฤทธิ์มาก แต่ก็จะบำเพ็ญขันติบารมี โดยใช้แรงกายปรับพื้นที่ทำหนทางให้ราบเรียบสม่ำเสมอ
แต่ยังเสร็จไม่ทัน พระทีปังกรพุทธเจ้าพร้อมพระสาวกบริวารเสด็จมาถึง ท่านจึงใช้สรีระของท่านนอนพาดทางเดิน อาราธนาพระพุทธองค์ให้เหยียบพระบาทลงบนกายของท่าน เพื่อข้ามตรงที่ยังทำไม่เสร็จ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เท้าของพระพุทธองค์ และพระสาวกบริวารเปรอะเปื้อนด้วยโคลนตม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นสุเมธดาบสแล้ว ทรงพยากรณ์ว่า อีก ๔ อสงไขยกับ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป ดาบสท่านนี้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบอกทั้งชื่อโคตร เมืองที่เกิด ชื่อของพุทธมารดา พุทธบิดา และสาวกด้วย หลังจากที่ท่านได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว เป็นธรรมดาของพระบรมโพธิสัตว์ ที่จะใคร่ครวญตรวจตราพิจารณาว่า จะต้องบำเพ็ญคุณความดีอะไรบ้าง เพื่อให้บรรลุตามความปรารถนานั้น
ท่านตรวจตราด้วยการใช้อภิญญาสมาบัติ ระลึกชาติของตนและสอนตนเองว่า การเกิดที่จะได้สร้างบุญบารมีได้เต็มที่ต้องใช้กายมนุษย์ กายมนุษย์นี้ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไป กายนี้อยู่ได้ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น อยู่ได้ด้วยอาหาร ต้องมีปัจจัยสี่ เป็นสิ่งหล่อเลี้ยง หากขาดสิ่งเหล่านี้แล้ว ร่างกายย่อมไม่ดำรงอยู่ได้
หากเกิดไปแล้วขาดปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค วันเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดในช่วงชีวิตนั้น ทั้งกำลังกาย กำลังสติปัญญาก็ต้องหมดไปกับการที่จะต้องมาแสวงหาปัจจัยสี่ เพื่อมาหล่อเลี้ยงชีวิตได้ ที่สำคัญ คือ ท่านไม่ได้มีความปรารถนาจะบรรลุธรรมแต่เพียงผู้เดียว แต่ปรารถนาจะพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏขึ้นสู่ฝั่งนิพพานไปด้วย
การรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพานต้องมีทีมงาน มีบริวารที่ช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนา ขยายสันติสุขไปสู่มวลมนุษยชาติ และในระหว่างทางของการสร้างบารมีนั้น ต้องมีทุน มีเสบียง เพื่ออาศัยในการหล่อเลี้ยงทีมและบริวาร เรียกได้ว่าต้องมีทั้งทีมและทุนจึงจะขยายธรรมได้ ไม่เช่นนั้นจะขยายงานพระศาสนาไปได้ไม่ไกล อีกทั้งต้องมีสถานที่ในการรองรับบริวารเหล่านั้นด้วย ยิ่งทำงานกว้างไกลมากเท่าไร ยิ่งต้องอาศัยสถานที่เพื่อรองรับการบำเพ็ญบารมีมากเท่านั้น ทั้งทีม ทุน และที่ ต้องพร้อมจึงจะเผยแผ่ธรรมะได้สะดวก
ทุนหรือเสบียงนี้ทำอย่างไรจึงจะได้มา ด้วยมหาอภิญญาสมาบัติของท่าน ได้ตรวจตราดูจนทั่ว ในที่สุดก็รู้ว่า การบริจาคหรือการให้ทานเป็นอานิสงส์ที่ทำให้เกิดเสบียง ถ้าขาดทานบารมีแล้วเสบียงก็ไม่เกิด หรือจะเกิดได้ก็ต้องแสวงหาด้วยความยากลำบาก ต้องเสียเวลา กำลังกาย กำลังสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจะให้มีเสบียงมาก อีกทั้งเป็นเสบียงที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้น ต้องเป็นทานที่ไม่ใช่ทานธรรมดา ต้องเป็นมหาทานบารมี คือ ต้องทุ่มชีวีเอาชีวิตเป็นเดิมพันกันทีเดียว
การทำความดีโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันนั้น เรียกว่า บารมี ท่านรู้ว่า ทานบารมีนี้ เป็นบารมีข้อแรกที่สำคัญมาก ขาดทานบารมีแล้วจะเสียเวลา กำลังกาย และกำลังสติปัญญาไปกับการแสวงหาปัจจัยสี่ เวลาในการบำเพ็ญบารมีอย่างอื่นก็ลำบาก อีกทั้งกายนี้ถูกจำกัดด้วยลักษณะของไตรลักษณ์ มีช่วงเวลาชีวิตอยู่จำกัด ท่านจึงสอนตนเองว่า จะบำเพ็ญทานบารมีประหนึ่งหม้อที่คว่ำ คายน้ำออกหมดไม่ให้เหลือเลย
นี่เป็นความคิดอันยิ่งใหญ่ ความคิดที่ดี ที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่อายตนนิพพานของพระบรมโพธิสัตว์ เป็นความคิดที่คนในโลกไม่กล้าคิดกัน มีแต่พระโพธิสัตว์เท่านั้นที่คิดเช่นนี้ เมื่อเข้าใจกันแล้ว ขอให้ทุ่มเทสร้างมหาทานบารมีให้เต็มที่ อย่าให้ความตระหนี่มาครอบงำจิตใจเรา แต่จะต้องฆ่าความตระหนี่ให้ได้ ขอจบเรื่องแนวคิดในการที่จะเริ่มต้นสร้างบารมีไว้เพียงเท่านี้ก่อน ในตอนต่อไปจะกล่าวถึงความคิดในการที่จะสร้างบารมีอื่นๆ ที่ยิ่งๆขึ้นไป
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับการบำเพ็ญบารมี หน้า ๒๙ – ๓๖
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ทูเรนิทาน เล่ม ๕๕ หน้า ๑๙
โฆษณา