Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Dhamma Story
•
ติดตาม
17 เม.ย. 2023 เวลา 09:06 • การศึกษา
แนวคิดการบำเพ็ญบารมี (๔)
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้าถึง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้บริสุทธิ์หลุดพ้นแล้วจากอาสวกิเลส กิจที่จะทำยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว ในฐานะที่พวกเราเป็นสาวกของพระพุทธองค์ จะต้องดำเนินรอยตามพระองค์ ด้วยการใช้วันเวลาที่เหลืออยู่อย่างจำกัดนี้ สร้างบารมีทำความดี ทำความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ให้เกิดขึ้น
1
เรามีกิจที่จะต้องรู้แจ้งให้ได้ว่า เราเกิดมาจากไหน มาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต และจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างไร เราควรหมั่นฝึกฝนอบรมจิตใจให้หยุดให้นิ่ง จนกระทั่งเข้าถึงผู้รู้แจ้งภายใน คือ พระธรรมกายให้ได้กันทุกคน
มีธรรมภาษิตใน ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ว่า
“ดูก่อนสุเมธดาบส ท่านจงสมาทานศีลบารมีข้อที่ ๒ นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นผู้มีศีลบารมี หากท่านปรารถนา เพื่อจะบรรลุพระโพธิญาณ หางจามรีคล้องติดในที่ไหนก็ตาม ถ้าปลดขนหางออกไม่ได้ มันก็ยอมตายในที่นั้น แม้ฉันใด ท่านจงบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ในภูมิทั้งสี่ อย่าได้เห็นแม้แก่ชีวิต รักษาเฉพาะศีลเท่านั้นในกาลทุกเมื่อ เหมือนจามรีรักษาขนหางด้วยชีวิต ฉันนั้นเถิด"
ครั้งที่แล้ว ได้กล่าวถึงแนวคิดการสร้างบารมีของพระบรมโพธิสัตว์ว่า จะต้องเริ่มต้นจากทานบารมีเป็นอันดับแรก เพราะเสบียงเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะยกตน และสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ ไปสู่ฝั่งอมตมหานิพพาน หากขาดทานบารมีแล้ว เป้าหมายที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพานย่อมทำได้ยาก
เราจำเป็นต้องกำจัดความตระหนี่ให้หลุดออกจากใจไปให้ได้ และพึงสละออกด้วยการให้ทาน เพราะทานบารมีจะทำให้เรามีทรัพย์ และสามารถสร้างบารมีอย่างอื่นได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น
การให้ทานต้องทำบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลได้ช่อง แต่ถ้านาน ๆ ทำที บาปก็จะกลับงอกขึ้นมาใหม่ เหมือนการถอนหญ้าตัดหญ้า ถ้าไม่หมั่นถอนหมั่นตัดมันก็งอกขึ้นมาใหม่ เราจึงควรให้ทานบ่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง การให้อย่างต่อเนื่องและเต็มที่ จะทำให้ดวงบุญในตัวกลั่นเป็นบารมี ที่เรียกว่าทานบารมี
เมื่อพระโพธิสัตว์ได้พิจารณาไตร่ตรอง เห็นคุณค่าของบารมีประการแรกแล้ว ท่านก็ใคร่ครวญต่อไปว่า เมื่อมีเสบียงแล้วจำเป็นต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ จะได้เวียนวนอยู่เพียง ๒ ภพภูมิเท่านั้น คือ ละโลกก็ได้ไปเสวยสุขในสุคติโลกสวรรค์ ถึงเวลาก็ลงมาสร้างบารมีในโลกมนุษย์ต่อ หากศีลไม่บริสุทธิ์ อาจเพลี่ยงพลํ้าไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกายหรือสัตว์นรกได้ ทำให้หมดโอกาสในการสร้างบารมีอย่างเต็มที่
เมื่อมีเสบียงแล้ว จำเป็นต้องได้อัตภาพที่เหมาะสมต่อการสร้างบารมีด้วย ศีลจะเป็นเกราะแก้วคุ้มกันภัยที่จะทำให้ไม่ตกไปในอบายภูมิ ทำให้สร้างบารมีได้เต็มที่ การบำเพ็ญศีลบารมีจึงมีความสำคัญเป็นประการที่ ๒ ศีลนับเป็นความปกติของมนุษย์
การที่ไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ เพราะเคยเบียดเบียนชีวิตคนอื่นไว้ หรือไม่ก็เบียดเบียนของอันเป็นที่รักของเขา หรืออาจเบียดเบียนคนอันเป็นที่รักของเขา เบียดเบียนทรัพย์สินของคนอื่น รวมถึงการเบียดเบียนตนเอง เช่น ดื่มสุราเมรัย เป็นต้น ทำให้ต้องเสวยผลแห่งวิบาก คือ ไปเกิดในอบาย ไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์หมดโอกาสในการสร้างบารมีอย่างน่าเสียดาย
การจะรักษาต้นทุนการเกิดเป็นมนุษย์ไว้ ต้องบำเพ็ญศีลบารมี ถึงเราจะถูกผู้อื่นเบียดเบียนเอาชีวิต เราก็จะไม่ประทุษร้ายตอบ ต้องบำเพ็ญศีลบารมีให้แก่รอบ ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ การจะบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทำได้ยาก แม้สั่งสมเสบียงมามาก พระบรมโพธิสัตว์จึงตัดสินใจบำเพ็ญศีลบารมีเพื่อรักษาต้นทุน คือ ความเป็นมนุษย์ไว้นั่นเอง
ท่านสอนตนเองต่อไปอีกว่า จะบำเพ็ญศีลบารมีให้เหมือนกับจามรีรักษาขนหาง คือ ธรรมชาติของจามรีเป็นสัตว์ที่รักขนหางยิ่งชีวิต ขนของจามรีสวยงามมาก มันจะรักขนหางของตนเองมาก หากขนหางไปติดที่กอหนาม มันจะค่อย ๆ ปลดขนหางจนกว่าจะหลุด โดยไม่ยอมให้ขนหางนั้นขาด สุเมธดาบสได้นำมาเป็นอุทาหรณ์สอนตนว่า ต้องรักศีล เหมือนจามรีรักขนหางของมันฉะนั้น
ศีลเป็นเครื่องกลั่นธาตุในตัว กลั่นกายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ทันทีที่รักษาศีล นิสัยเกะกะเกเรที่มีอยู่ในตัวจะหายไป นิสัยดุร้าย เช่น ชอบฆ่าสัตว์ ชอบเบียดเบียนรังแกผู้อื่น นิสัยคดโกง ขี้ขโมย เจ้าชู้ โกหกหลอกลวง ขี้เหล้าเมายา ก็จะหมดไป นอกจากนี้ศีลยังเป็นเหตุให้ได้รูปสมบัติ คือ มีร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีเจ็บป่วยไข้ มีอายุขัยยืนยาว ทำให้มีโอกาสสร้างบารมีได้นาน ๆ ศีลจึงเป็นเหมือนเกราะคุ้มกันภัย ทำให้ใจผ่องแผ้วมีสมาธิตั้งมั่น
สุเมธดาบสได้ตรวจตราดูต่อไปอีกว่า เมื่อมีเสบียงในการเดินทางไกล และได้อัตภาพเป็นมนุษย์แล้ว ทำไมจึงยังไปไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ทำไมกิเลสอาสวะยังเกาะแน่นฝังติดอยู่ในจิตใจ เหตุเพราะมนุษย์ยังหลงติดอยู่ในเหยื่อล่อของพญามาร คือ เบญจกามคุณ ๕ ในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่าง ๆ มัวส่งจิตออกไปนอกตัว ปล่อยใจไปตามกระแสโลก
กามคุณนี่เองที่ครอบงำสัตว์ทั้งหลายให้ติดในภพ แม้มีโภคทรัพย์สมบัติมาก ได้อัตภาพเป็นมนุษย์แล้ว แต่ถ้าใช้วันเวลาให้ผ่านไปกับการเสวยเบญจกามคุณ ซึ่งผูกพันสัตว์ทั้งหลายไว้ ไม่ให้สลัดหลุดออกจากภพทั้งสามไปได้ เช่นนี้แล้วการที่จะใช้เวลา กำลังกาย กำลังสติปัญญา ที่มีอยู่อย่างจำกัดในแต่ละชาติ สั่งสมบารมีให้เต็มที่ได้นั้น จึงจำเป็นจะต้องบำเพ็ญเนกขัมมบารมี เพื่อสลัดออกจากกามให้ได้
การประพฤติพรหมจรรย์นั้น เป็นกุศโลบายสำคัญที่ทำให้ไม่เสียเวลา เสียกำลังทรัพย์ที่หามาได้ไปกับการดำเนินชีวิต การครองเรือนเปรียบเสมือนถูกจองจำด้วยเครื่องพันธนาการ เป็นเครื่องผูกที่หย่อน ๆ ต้องอาศัยปัญญาพิจารณาไตร่ตรองอย่างสุขุมลุ่มลึก จึงจะรู้ว่า บุตรธิดาเป็นเหมือนบ่วงคล้องคอ สามีภรรยาเปรียบเหมือนบ่วงคล้องแขน ทรัพย์สมบัติเหมือนบ่วงคล้องเท้า จะไปไหนหรือทำอะไรก็ไม่สะดวก หาความเป็นอิสระได้ยาก มัวกังวลใจกับครอบครัว
ท่านเห็นโทษในการครองเรือนว่า เป็นเหตุให้สลัดออกจากกามจากภพได้ยาก จึงตั้งมโนปณิธานสอนตนเองไปว่า
“ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีให้บริบูรณ์ เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้อยู่ในเรือนจำมาเป็นเวลานาน มิได้มีความรักใคร่ในเรือนจำนั้นเลย โดยที่แท้มีแต่ความอึดอัดรำคาญอย่างเดียว ไม่อยากอยู่ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้น จงทำภพทั้งปวงให้เป็นเช่นกับเรือนจำ รำคาญอยากจะพ้นไปจากภพทั้งหลาย มุ่งหน้าต่อเนกขัมมบารมี คือ การออกจากกามเท่านั้น ท่านจักได้เป็นพระพุทธเจ้าด้วยอาการอย่างนี้”
จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ความคิดอันยิ่งใหญ่ และชาญฉลาดของพระบรมโพธิสัตว์นั้น ท่านคิดแต่ละที คิดไกลไปข้ามภพข้ามชาติ คิดเผื่อไปถึงมวลมนุษยชาติ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย พวกเราซึ่งเป็นนักสร้างบารมีก็ควรฝึกให้มีความคิด คำพูด และการกระทำเช่นนี้ คิดไปไกล ๆ จึงจะสร้างบารมีติดตามท่านไปได้ ติดตามมหาปูชนียาจารย์ของพวกเรา คือ หลวงพ่อวัดปากน้ำ และคุณยายอาจารย์ได้ทัน
ท่านทั้งสองมีความคิดยิ่งใหญ่ที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ มุ่งไปปราบมารประหารกิเลสให้หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรม วันเวลาที่ผ่านไปให้มีความคิด ไปให้ไกลถึงที่สุดอย่างนี้ จึงจะสร้างบารมีได้เต็มที่ ฉะนั้น ให้ทุกท่านสร้างบารมีให้เต็มที่กันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับการบำเพ็ญบารมี หน้า ๓๗ – ๔๔
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ทูเรนิทาน เล่ม ๕๕ หน้า ๓๓
1 บันทึก
55
8
45
1
55
8
45
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย