28 ก.พ. 2023 เวลา 02:09

จิตวิทยากับการเข้าทรง

🔸 การทรงเจ้า เป็นความเชื่อที่มีอย่างช้านานในประเทศไทย การเคารพบูชาร่างทรงของผู้ที่มีความเชื่อ ความศรัทธา ก็มีเป้าหมายที่หลากหลาย ทั้งเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต ทำให้เกิดความสบายใจ หรือเสริมพลังแห่งมนตราเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับร่างกายและจิตใจ
🔸 เทพที่ลงมาประทับในร่างทรงก็มีหลากหลายตามความเชื่อ เช่น ร่างทรงเจ้าแม่กวนอิม ร่างทรงพระพิฆเนศ ร่างทรงเจ้าแม่กาลี ร่างทรงเจ้าแม่เมดูซ่า ร่างทรงพระพุทธเจ้า ร่างทรงหลวงพ่อปู่และร่างทรงฤาษีต่าง ๆ
🔸 นอกจากนี้ยังมีร่างทรงตัวละครที่มาจากวรรณคดี ภาพยนตร์ ละคร หรือหนังสือการ์ตูน เช่น ร่างทรงขุนช้าง ร่างทรงผีเสื้อสมุทร ร่างทรงไบรอันโอคอนเนอร์จากภาพยนตร์ชุด Fast and Furious ร่างทรงผีอีแพงจากละครเรื่องบ่วง ร่างทรงโดราเอมอนและร่างทรงพ่อปู่ไจแอนท์จากการ์ตูนชุดโดราเอมอน
🔸 บทความนี้เราจะมาพูดคุยกันเกี่ยวกับร่างทรงในมุมมองของจิตวิทยา โดยแมวส้มจะไม่ขอก้าวล่วงความเชื่อใดๆ เพราะความรู้ทางจิตวิทยาของแมวส้มนั้นก็ถือเป็นความเชื่อรูปแบบหนึ่งที่ยึดตามหลักวิทยาศาสตร์เพียงเท่านั้น เช่นเดียวกันกับความเชื่อรูปแบบอื่นที่มีอยู่มากมายบนโลกที่เชื่อตามหลักศาสนา และไสยศาสตร์
หลายคนคงสงสัยว่าการเข้าทรงนั้นมีจริงหรือไม่ แมวส้มคิดว่ามีความเป็นไปได้ 3 กรณีด้วยกัน
🔹 กรณีที่ 1 การทรงเจ้านั้นมีอยู่จริง เทพเจ้าสามารถลงมาเข้าประทับร่างกายร่างทรงได้จริง แต่ในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์หรือวิธีการศึกษาที่น่าเชื่อถือตามหลักวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์การมีอยู่จริงของเทพเจ้าที่ลงประทับได้
🔹 กรณีที่ 2 การทรงเจ้านั้นไม่มีอยู่จริง คนทรงเป็นเพียงมิจฉาชีพที่แสวงหาประโยชน์จากการอ้างว่าตนเองสามารถทรงเจ้าได้ เป็นอาชีพที่คอยหลอกลวงต้มตุ๋นผู้ที่มีความศรัทธาเพื่อหาเงินจากค่าบูชาครูที่ตั้งไว้เพียงเท่านั้น
🔹 กรณีที่ 3 การทรงเจ้าเกิดจากอาการป่วยทางจิต ที่ทำให้ผู้ป่วยเชื่ออย่างสนิทใจว่าตนเองสามารถเป็นสื่อกลางให้เทพเจ้าองค์ต่าง ๆ ลงมาประทับได้
🔸 ผู้ป่วยอาจมีอาการหลงผิด (Delusion) จากโรคในกลุ่มโรคจิต (Psychotic Disorders) ทำให้ผู้ป่วยเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นจริง เชื่อว่าตนเองมีความสามารถพิเศษเหนือกว่าผู้อื่น สามารถอัญเชิญเทพเจ้า หรือดวงวิญญาณมาประทับได้
🔸 อาการดังกล่าวมักมาพร้อมกับความเชื่อที่แปลกประหลาด ทำให้มีพิธีกรรมหรือวิธีการที่ดูแปลกในการอัญเชิญวิญญาณหรือการร่ายมนต์คาถาเพื่อปัดเป่าผู้ศรัทธาที่มาใช้บริการ ต้องรำด้วยท่าทางแปลก ๆ หรือทำกิจกรรมแปลกๆ เช่นยืนกระต่ายขาเดียวเป็นต้น ?
🔸 ผู้ป่วยอาจมีปัญหาในการรับรู้อัตลักษณ์ของตัวเอง จากอาการป่วยด้วยในกลุ่มโรคดิสโซสิเอทีฟ (Dissociative Disorders) ความทรงจำ สติสัมปชัญญะ การรับรู้สภาพแวดล้อม และอัตลักษณ์ของตัวผู้ป่วยนั้นเสียไปหรือถูกรบกวน
🔸 ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวในขณะที่คิดว่าตนเองมีดวงวิญญาณมาประทับ มีความทรงจำที่ขาดหาย และมีลักษณะท่าทางการแสดงออกที่เปลี่ยนไปเป็นคนละคน เช่นหนึ่งในโรคกลุ่มดิสโซสิเอทีฟที่โด่งดัง อย่างโรคหลายอัตลักษณ์ (Dissociative Identity Disorder) ที่นอกจากอาการข้างต้นแล้วผู้ป่วยยังมีตัวตนหลายตัวตนอยู่ในตัว
🔸 แต่การพิสูจน์ว่าร่างทรงมีจริงหรือไม่นั้น ไม่ใช่สิ่งที่กลุ่มนักจิตวิทยาให้ความสำคัญกับมันมากนัก สิ่งที่น่าให้ความสำคัญมากกว่า คือยังมีคนจำนวนมากที่เชื่อในการทรงเจ้า โดยเฉพาะคนในต่างจังหวัด
🔸 ความวิตกกังวลและความตึงเครียด จากปัญหาทางเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัญหาที่มีมายาวนานในประเทศไทยที่รัฐบาลใดก็ไม่สามารถจัดการได้ แต่ร่างทรงมักให้วิธีการแก้ไขปัญหาในทุกเรื่องได้เสมอ สามารถบอกขั้นตอนการแก้ไขปัญหาได้เป็นขั้นๆ ทำให้ผู้ศรัทธาเห็นวิธีการกำจัดความทุกข์ได้อย่างมหัศจรรย์ จนร่างทรงเปรียบดังมีแสงสว่างคอยชี้นำทางแก่เหล่าสาวก
1
🔸 แต่สิ่งที่น่ากังวลคือผู้ที่มีความศรัทธาจนเกินเลยจนถูกเรียกว่าความงมงาย ที่อาจใช้เงินจำนวนมากเกินตัวไปกับการบูชาครู หรือบริจาคให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จนปัญหาทางเศรษฐกิจรุนแรงกว่าเดิมและส่งผลกระทบกับคนในครอบครัวและคนรอบข้าง ทำให้เกิดความลำบาก เดือดร้อน และปัญหาสุขภาพจิต
🔸 และเหล่าสาวกบางกลุ่มที่ออกมาโจมตีผู้ที่มีความคิดความเชื่อที่แตกต่างจากตนเอง จนนำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งในสังคม ทำให้ปัญหาสุขภาพจิต จากความวิตกกังวลและความตึงเครียดของผู้คนมีมากกว่าเดิม
🔸 จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาเหล่านี้คงหนีไม่พ้นระบบการศึกษา ที่ต้องสอนให้นักเรียนรู้จักแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการคิดอย่างเหมาะสม พัฒนากระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน เพื่อให้เกิดทักษะการคิดอย่างเป็นวิจารณญาณ ไม่หลงงมงายกับความเชื่อต่าง ๆ อย่างไม่ลืมหูลืมตา และแน่นอนต้องไม่หลงงมงายกับความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ด้วยนะครับ
แต่มันจะดีกว่านี้นะ ถ้ารัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ อิอิ
โฆษณา