24 ก.พ. 2023 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ตลาดน้ำมะพร้าวจีน 2023

จีนเป็นประเทศผู้บริโภคผลิตภัณฑ์มะพร้าวขนาดใหญ่ และมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์มะพร้าว อาทิ น้ำมะพร้าว เส้นใยมะพร้าว กะลามะพร้าว กะทิ แป้งมะพร้าว และมะพร้าวแห้ง เป็นจำนวนมากจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกปี โดยราคามะพร้าวขายส่งในตลาดจีนมีราคาอยู่ที่ 5-7 หยวนต่อลูก หรือประมาณ 25-35 บาทต่อลูก ซึ่งในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีน วันแรงงาน และช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ทั้งราคามะพร้าวขายส่งและขายปลีกก็จะปรับขึ้นอย่างชัดเจน
ปัจจุบันประเทศเขตปกครองพิเศษที่จีนส่งออกน้ำมะพร้าวไปมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ โดยในที่นี้ได้ส่งออกไปยังฮ่องกงคิดเป็นปริมาณ 943.85 ตัน ขณะที่ประเทศที่จีนนำเข้าน้ำมะพร้าวมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย โดยนำเข้าจากเวียดนามคิดเป็นปริมาณ 38,00 ตัน
เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวในตลาดจีน พบว่ามีการแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ น้ำมะพร้าวธรรมชาติ น้ำมะพร้าวผสม และน้ำมะพร้าวปรุงแต่ง ซึ่งน้ำมะพร้าวผสมถือเป็นผลิตภัณฑ์หลักในตลาดน้ำมะพร้าวของจีน ครองสัดส่วนตลาดเกือบร้อยละ 50 ตามมาด้วยน้ำมะพร้าวปรุงแต่ง และน้ำมะพร้าวธรรมชาติ
จากรายงานการวิจัยเชิงลึกของตลาดน้ำมะพร้าวจีนปี ค.ศ. 2023 พบว่าแผนพัฒนาคุณภาพสูงอุตสาหกรรมมะพร้าวมณฑลไห่หนานของสำนักงานป่าไม้ไห่หนาน (Hainan Forestry Bureau) ได้วางแผนเพิ่มพื้นที่ปลูกมะพร้าวในปี ค.ศ. 2025 ประมาณ 104,166.66 ไร่ บ่มเพาะบริษัทชั้นนำด้านการแปรรูปมะพร้าว ซึ่งมีมูลค่าผลผลิต 1,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท
สร้างศูนย์การค้ามะพร้าวนานาชาติ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมมะพร้าว แหล่งท่องเที่ยวธีมมะพร้าว ฟาร์มสันทนาการ ลานสาธิตเศรษฐกิจ เพื่อเสริมให้อุตสาหกรรมมะพร้าวโดยรวมมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายมูลค่าผลผลิตรวมของอุตสาหกรรมมะพร้าวของจีนที่ 23,000 ล้านหยวนหรือประมาณ 115,000 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)
ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนฉบับที่ 14 ระยะ 5 ปี ระบุว่ามณฑลไห่หนานวางแผนจะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวประมาณ 104,166.66 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในมณฑล 62,500 ไร่ และพื้นที่ปลูกในต่างประเทศจำนวน 41,666.66 ไร่ มณฑลไห่หนานมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวรวม 279,166.66 ไร่ มีพื้นที่เก็บเกี่ยวถึง 189,000 ไร่
ถึงปี ค.ศ. 2025 จะมีปริมาณผลผลิตมะพร้าวจำนวน 560 ล้านลูก และยังขยายฐานเพาะพันธุ์ต้นกล้ามะพร้าวพันธุ์ดี 83.33 ไร่ เพิ่มพื้นที่สวนสาธิตมาตรฐาน 833.33ไร่ ขยายศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์มะพร้าวระดับโลก 1 แห่ง ที่สามารถเก็บรักษาได้ 1,000 พันธุ์ และมีการคาดการณ์ว่า ประเภทของมะพร้าวที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงแต่จะช่วยผลักดันการพัฒนาให้กับอุตสาหกรรมโปรตีนจากพืช แต่ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาการบริโภคของจีนให้เข้าสู่ยุคของการบริโภคเพื่อสุขภาพ
ภายใต้แนวโน้มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดจีน ทำให้แบรนด์ Vitasoy ได้ออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโปรตีนจากพืชจำหน่ายสู่ตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้บริโภคให้เป็นหนึ่งตัวเลือกรสชาติที่หลากหลายยิ่งขึ้น
จนทำให้มีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2026 มูลค่าของตลาดโปรตีนจากพืชจะสูงถึง 140,600 ล้านหยวน หรือประมาณ 703.000 ล้านบาท ในขณะที่ตลาดน้ำมะพร้าวจีนปัจจุบันมีมูลค่า 15,910 ล้านหยวน หรือประมาณ 79,550 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้ยร้อยละ 4.74 และคาดว่าจะมีขนาดมูลค่าถึง 18,606 ล้านหยวน หรือประมาณ 93,030 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของจีน พบว่ามีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มอัดลมและเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่เครื่องดื่มประเภทน้ำดื่มบรรจุขวด และน้ำมะพร้าว กลับทำยอดขายได้ดี แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการบริโภคเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในประเทศจีนที่ชัดเจนมากขึ้น
โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 เป็นต้นมาพบว่าผู้บริโภคเริ่มรับรู้ถึงการบริโภคเพื่อสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ และในปี ค.ศ.2016 พบว่าผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่มีความตระหนักในการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพแข็งแกร่งขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้น้ำมะพร้าวบรรจุขวดกลายเป็นตัวแทนของเครื่องดื่มโปรตีนจากพืชที่ดึงดูดเม็ดเงินในตลาดอาหารและเครื่องดื่มของจีน จนกลายเป็นประเภทของเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอยู่ในอันดับต้นๆ ของตลาดจีน
สำหรับสถานการณ์ด้านความต้องการของตลาดจีนพบว่า ในปัจจุบันจีนมีบริษัทที่จดทะเบียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะพร้าวจำนวน 1,412 ราย ในที่นี้มี 1,000 รายที่ยังคงดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนเมื่อพิจารณาจากจำนวนการจดทะเบียนบริษัทจะพบว่าในปี ค.ศ. 2019 มีการจดทะเบียนบริษัทใหม่สูงสุดจำนวน 211 ราย
และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีบริษัทจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 100 รายขึ้นไป และเมื่อพิจารณาจากภูมิภาคในประเทศจีน พบว่าบริษัทที่ยังดำเนินธุรกิจมากที่สุดจะอยู่ในมณฑลไห่หนาน โดยมีบริษัทที่จดทะเบียนเกี่ยวกับมะพร้าวมากเป็นอันดับ 1 ถึง 442 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.2 ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวทั้งประเทศ รองลงมา ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง และมณฑลซานตง
หลายปีที่ผ่านมานี้ ภาพรวมปริมาณความต้องการนำมะพร้าวในประเทศจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยในปี ค.ศ. 2020 จีนมีความต้องการน้ำมะพร้าวประมาณ 1.68 ล้านตัน แต่เนื่องจากปัจจุบันจีนมีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างอุปสงค์และอุปทานของมะพร้าวทำให้การพัฒนาของอุตสาหกรรมมะพร้าวถูกจำกัด โดยบริษัทท้องถิ่นส่วนใหญ่ในจีนไม่ได้รับการพัฒนามากเท่าที่ควร และถูกนำตลาดโดยบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้ปัจจุบันน้ำมะพร้าวในประเทศมีบริษัท Coconut Palm เป็นบริษัทเดียวที่มีขนาดใหญ่
สำหรับมณฑล/เมืองที่ส่งออกน้ำมะพร้าวมากที่สุด 5 อันดับแรกของจีน คือ มณฑลไห่หนาน มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเสฉวน มณฑลฝูเจี้ยน และมหานครเซี่ยงไฮ้ โดยในที่นี้ มณฑลไห่หนานคือพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวหลักของจีน รวมทั้งมีการส่งออกน้ำมะพร้าวมากที่สุด โดยในปี ค.ศ. 2021 มณฑลไห่หนานส่งออกน้ำมะพร้าวประมาณ 724.58 ตัน
สำหรับมณฑล/เมืองที่นำเข้าน้ำมะพร้าวมากที่สุด 5 อันดับแรกของจีน คือ ฒณฑลกวางตุ้ง มหานครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเสฉวน และกรุงปักกิ่ง ซึ่งการที่มณฑลกวางตุ้งและมหานครเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองและมณฑลที่มีเศรษฐกิจค่อนข้างพัฒนาและมีความหนาแน่นของประชากรจำนวนมาก ทำให้มีความต้องการน้ำมะพร้าวมากขึ้นตามไปด้วย จึงส่งผลให้มีการนำเข้าน้ำมะพร้าวค่อนข้างมากในอันดับ 1 และ 2 ของประเทศ โดยพบว่าในปี ค.ศ. 2021 มณฑลกวางตุ้งนำเข้าน้ำมะพร้าวจำนวน 3.36 ตัน และมหานครเซี่ยงไฮ้นำเข้าน้ำมะพร้าวจำนวน 1.52 ตัน
เมื่อพิจารณาแนวโน้มของอุตสาหกรรมน้ำมะพร้าวของจีนในอนาคต พบว่าปัจจุบัน กลยุทธ์ส่งเสริมการบริโภคเพื่อสุขภาพได้ฝังรากลึกในจิตใจผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการเกี่ยวกับโภชนาการและสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลต่อการเติบโตและความต้องการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นอย่างมาก
ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนนวัตกรรมในการพัฒนาอุตสาหกรรม และนำโอกาสมาสู่การพัฒนาเครื่องดื่มมะพร้าวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ความนิยมเครื่องดื่มที่ปราศจากน้ำตาลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้แบรนด์น้ำมะพร้าวในจีนจำนวนมากอาศัยกระแสความนิยมดังกล่าวในการปรับปรุงกลยุทธ์ทางการตลาด
เพื่อกระตุ้นความต้องการและเพิ่มยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเท่านั้น จีนยังมีเป้าหมายในการขยายตลาดส่งออกน้ำมะพร้าวไปยังต่างประเทศ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติหลากหลาย และมีคุณค่าทางโภชนาการที่สอดคล้องกับความต้องการในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ มะพร้าวเริ่มเป็นที่นิยมอย่างมากในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของจีน เนื่องจากมะพร้าวเป็นผลไม้ที่สามารถหาซื้อได้ตลอดทั้งปี และไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของฤดูกาล จึงทำให้มะพร้าวได้รับความนิยมในการนำมาดัดแปลงในอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้วยคุณสมบัติและประโยชน์ของมะพร้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีความเป็นธรรมชาติ และมีประโยชน์ต่อร่างกายจึงดึงดูดความต้องการจากผู้บริโภคที่รักสุขภาพในจีนได้เป็นอย่างดี ประกอบกับมะพร้าวสามารถนำไปผสมเข้ากับวัตถุดิบต่างๆ ได้ง่ายจึงทำให้ปัจจุบันน้ำมะพร้าวในตลาดจีนถูกนำไปเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มชา กาแฟ และน้ำอัดลมมากขึ้น และจากการเติบโตของขนาดตลาดน้ำมะพร้าวที่มีการเติบโตในทิศทางที่ดี และคาดว่าจะมีขนาดมูลค่าถึง 18,606 ล้านหยวน หรือประมาณ 93,030 ล้านบาท
รวมทั้งความต้องการบริโภคน้ำมะพร้าวของผู้บริโภคชาวจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จีนมีปริมาณผลผลิตเพียงร้อยละ 10 จีนจึงต้องพึ่งพาการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภค ซึ่งปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จะทำให้ตลาดน้ำมะพร้าวเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างมากที่จะเข้ามาขยายการส่งออกน้ำมะพร้าวในจีน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบรนด์น้ำมะพร้าวในจีนส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ต่างประเทศที่ครองส่วนแบ่งการตลาดระดับบนจนถึงระดับกลาง ทำให้บริษัทผู้ผลิตของจีนยังไม่สามารถแข่งขันกับแบรนด์ต่างชาติได้ จึงถือเป็นข้อได้เปรียบของแบรนด์ไทยที่มีศักยภาพในการพัฒนาและสามารถครองใจผู้บริโภคชาวต่างประเทศในตลาดระดับไฮเอนด์ได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากตลาดน้ำมะพร้าวได้รับความนิยม จึงอาจจะมีการแข่งขันที่สูงขึ้นในอนาคต
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรม ทั้งด้านคุณค่าของผลิตภัณฑ์ และรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์ มีจุดเด่นด้านสุขภาพ โดยเฉพาะน้ำมะพร้าวจากธรรมชาติที่ปราศจากน้ำตาล มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม มีเรื่องราวน่าสนใจและสามารถดึงดูดผู้บริโภคหนุ่มสาวชาวจีนยุคใหม่ได้ รวมทั้งต้องมีการกำหนดเป้าหมายกลุ่มผู้บริโภคให้ชัดเจนด้วยการพิจารณาความต้องการของแต่ละกลุ่มผู้บริโภค
เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการรับฟังความคิดเห็น คำติชม และนำไปปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ก็จะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดส่งออก และเปิดตลาดน้ำมะพร้าวของไทยในจีนได้ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นผู้นำในส่วนแบ่งตลาดน้ำมะพร้าวของจีนได้อย่างยั่งยืนต่อไป
Reference
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองซิงต่าว
โฆษณา