27 ก.พ. 2023 เวลา 14:00 • หนังสือ

ความล้มเหลว: หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน

เราทุกคนถูกสอนให้เรียนรู้และอยู่กับความล้มเหลวตั้งแต่เด็ก เราล้มตอนหัดเดินและลุกขึ้นยืนใหม่ เรากินข้าวหกเลอะเทอะและก็เรียนรู้ว่าต้องจับช้อนยังไงให้ข้าวไม่ตกลงพื้น เรียกได้ว่าความล้มเหลวกับการเป็นมนุษย์เป็นของที่มาคู่กัน
แต่ความล้มเหลวก็ทำให้เราเจ็บปวดใจอยู่เสมอ ในหนังสือ Emotional First Aid เปรียบเทียบความล้มเหลวว่าเหมือนอาการหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ที่จะรู้สึกเจ็บปวดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว การรู้สึกแย่กับความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรื่องที่ต้องระมัดระวังคือถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นานๆ โดยไม่รักษา เราก็อาจเป็นโรคปอดบวมได้
โรคปอดบวมคืออาการที่เราเอาความล้มเหลวมาส่งผลต่อตัวเองในระยะยาว เช่น ไม่เคารพตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองพึ่งพาไม่ได้ หรือเริ่มกลัวที่จะคาดหวังเพราะไม่อยากประสบกับความล้มเหลว
อาการนึงที่เป็นไปได้ของคนที่อยู่ในวังวนของความล้มเหลวคือรู้สึกว่าเป้าหมายของตัวเองใหญ่ขึ้น และ ตัวเองเล็กลง มีงานวิจัยที่ให้ผู้เข้าร่วมเตะลูกบอลเข้าเสาประตูอเมริกันฟุตบอลในระยะสิบหลา คนที่ทำสำเร็จรู้สึกว่าประตูกว้างขึ้น 10% และในทำนองตรงกันข้ามคนที่ทำไม่สำเร็จรู้สึกว่าประตูเล็กลง 10% ทั้งๆที่ขนาดประตูมันก็เท่าเดิม
แน่นอนว่าเราเองก็สามารถที่จะปฐมพยาบาลเบื้องต้นถ้าหากว่าเรารู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีอาการ “ปอดบวมจากความล้มเหลว” ได้ค่ะ 🙂
วิธีรักษา A: รับการสนับสนุนและยอมรับความจริง
ขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัว แต่ในขณะเดียวกันก็เลือกคนที่จะให้คำแนะนำกับเราได้อย่างจริงใจเพื่อที่จะได้ลดโอกาสที่เราจะต้องเผชิญกับความล้มเหลวอีกในอนาคต
วิธีรักษา B: พุ่งเป้าไปยังปัจจัยที่คุณควบคุมได้
สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักไว้คือ ความล้มเหลวประกอบขึ้นจากปัจจัยที่เราควบคุมได้และเราควบคุมไม่ได้ ถ้าเราอยากจะเรียนรู้จากความล้มเหลวจริงๆ พุ่งเป้าไปที่ปัจจัยที่เราควบคุมได้เท่านั้นเพื่อไม่ให้เราฟุ้งซ่านและคิดวนกับเรื่องที่ทำอะไรไม่ได้
วิธีรักษา C: ยอมรับความผิดพลาดและจัดการกับความกลัว
วิธีนึงที่เป็นประโยชน์คือ การพูดติดตลกเกี่ยวกับมันเมื่อทำได้หรือเหมาะสม เมื่อเราสามารถที่จะเล่นตลกกับความล้มเหลวได้ เราเองก็จะสามารถมองมันได้อย่างชัดเจนมากขึ้นว่าน้ำหนักและความเสียหายของเรื่องมันไม่ได้ใหญ่โตขนาดนั้น และทำให้เรามูฟออนจากเรื่องได้ง่ายขึ้นด้วย
วิธีรักษา D: เบนความสนใจออกจากสิ่งรบกวน
เวลาที่เราจะต้องปฏิบัติงานที่สำคัญเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกกดดัน และความกดดันนั่นแหละคือสิ่งรบกวนสมาธิของเรา การผิวปากก่อนพรีเซนต์ พูดงึมงำตอนสอบ หรือเบี่ยงเบนความสนใจตัวเองจากเหตุการณ์นั้นด้วยการทำอะไรบางอย่างที่เราสบายใจก็เป็นอีกเทคนิคที่สามารถนำไปปรับใช้ตามสถานการณ์ได้
ความล้มเหลวเป็นเรื่องที่ถ้าให้เลือกก็คงอยากจะหลีกเลี่ยงกัน แต่ในเมื่อเราเลี่ยงมันไม่ได้ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันแทน ความล้มเหลวต่างๆถ้ามองดูดีๆแล้วมันเกิดขึ้นจบไปแล้วทั้งนั้น มีแต่เราที่คิดวนเวียนแล้วรีเพลย์ให้ใจเจ็บปวดเรื้อรัง ถ้าเราไม่ทำร้ายตัวเองซะอย่างก็ไม่มีใครทำร้ายเราได้ค่ะ 🙂
ซื้อหนังสือ Emotional First Aid ได้เลยที่
นี่คือตอนที่ 6 ของซีรีย์ 7 ตอน จาก 7 บทของหนังสือ Emotional First Aid เท่านั้น สามารถรอติดตามเนื้อหาในบทถัดไปในวันพรุ่งนี้ 21.00 ได้เลยค่ะ :)
—————————————————————
ตอนนี้รีวิวทุกอย่างที่อ่านออกมีถึง 6 ช่องทางแล้วนะคะ 🥳
เอาใจทั้งสายอ่าน สายฟัง สาย Podcast
ขอขอบคุณทุกคนที่ติดตามกันมาตลอดนะคะ :D
โฆษณา