23 ก.พ. 2023 เวลา 04:28 • การเมือง

Political Earmark VAT Tax ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไรให้คนจนได้มากกว่าเสีย

สิ่งหนึ่งที่หลายคนคาดหวังจากพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงอยู่ช่วงนี้คือ ช่วยบอกด้วยว่านโยบายหาเสียงต่าง ๆ ที่หลายเรื่องต้องใช้เงินจำนวนมากจะเอาเงินมาจากไหน จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะหาเงินได้มากพอ จนไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังในอนาคต
การหาแหล่งเงินมีได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดการใช้จ่ายในเรื่องอื่นที่มองว่ามีประโยชน์ไม่มาก การลดการทุจริตและคอรัปชันที่ทำให้เงินหลวงรั่วไหลออกไป หรือกระทั่งการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐจนทำให้ใช้งบประมาณประจำน้อยลง แต่ที่ผมอยากจะชวนคุยวันนี้คือ “เรื่องการหาเงินจากภาษี”
พวกเราในฐานะผู้เลือกตั้งหลายคนก็คงไม่ชอบความคิดการขึ้นภาษี เพราะหมายถึงเราต้องจ่ายเงินมากขึ้น หรือบางคนก็อาจอยากให้ขึ้นภาษีเฉพาะบางตัวเช่นภาษีทรัพย์สิน เพราะคิดว่าจะช่วยเรื่องการกระจายรายได้ให้ดีขึ้นด้วย บนฐานความจริงที่ว่าคนรวยไทยยังคงจ่ายภาษีน้อยกว่าที่ควรเป็นไปมาก
ซึ่งผมเห็นด้วยในเรื่องนี้ แต่วันนี้จะขอไม่พูดเรื่องนี้ก่อน แต่อยากชวนคุยเรื่องแนวทางการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ซึ่งที่ผ่านมาขึ้นยากมาก มีเสียงคัดค้านมาจากหลายภาคส่วนตลอดเวลาภายใต้ความเชื่อที่ว่าเป็นภาษีที่เป็นภาระต่อคนจนมากกว่าต่อคนรวย
เหตุผลที่ผมชวนคุยเรื่องนี้เพราะอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของไทยต่ำมาก จัดอยู่ในกลุ่มที่อัตราต่ำที่สุดในโลก และเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้สัดส่วนรายได้ภาษีต่อรายได้ประชาชาติ (Tax/GDP) ต่ำตามไปด้วย กลายเป็นข้อจำกัดที่ภาครัฐไม่สามารถจัดสรรงบประมาณมาดูแลประชาชนได้ทั้งที่มีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามภาวะสังคมสูงวัย ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มก็เป็นภาษีที่มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บมากที่สุด รั่วไหลและหลีกเลี่ยงได้ยาก มีต้นทุนในการจัดเก็บน้อยเมื่อเทียบกับภาษีอื่น (เช่นภาษีมรดกที่เลี่ยงได้ง่าย)
คำถามคือแล้วจะตอบโจทย์เรื่องที่ภาษี VAT นี้เป็นภาระต่อคนจนมากกว่าคนรวยได้อย่างไร ผมอยากเสนอแนวทาง political earmark ในการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม กล่าวคืออยากเชิญชวนให้นักการเมืองประกาศเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นจาก 7% เป็น 10% แล้วบอกว่ารายได้ที่จะได้เพิ่มประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาทนี้ จะนำไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อคนจนและกลุ่มเปราะบางทุกบาททุกสตางค์
วิธีนี้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นชินโซ อาเบะ เคยใช้ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่และเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเขาขึ้นภาษีการขายและระบุชัดเจนว่าจะนำเงินที่ได้มาใช้เพื่อการดูแลและให้การศึกษาเด็กเล็ก
วิธีนี้จะทำให้คนที่ห่วงว่าคนจนจะเสียเปรียบจากการเสียภาษีมากขึ้นเบาใจได้ว่าจริง ๆ แล้วคนจนจะได้ ‘กำไร’ เพราะยังไงเสียภาษีมูลค่าเพิ่มถ้าคิดเป็นเม็ดเงิน (ไม่ใช่อัตรา) คนรวยจ่ายมากกว่าคนจนมาก ผมเคยประมาณการว่าคนจนจริง ๆ เสีย VAT 20 บาทหากรัฐจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น 100 บาท
การที่เม็ดเงินทั้งหมดย้อนกลับไปที่คนจนเป็นผู้ได้รับ หมายถึงคนจนจะได้กำไร 80 บาท (จ่าย 20 ได้ 100) ช่วยเรื่องลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างดี
ข้อดีอีกประการหนึ่งเมื่อเทียบกับ earmark tax ที่เราคุ้นเคยกัน เช่นจัดสรรรายได้จากภาษีบาปไปสนับสนุนบางหน่วยงานในการทำภารกิจเฉพาะบางเรื่อง ซึ่งนักการคลังโดยทั่วไปไม่เห็นด้วย
โดยมีเหตุผล 2 ประการคือ หน่วยงานที่ได้รับเงินลักษณะนั้นอาจจะขาดความรับผิดชอบหรือ accountability เนื่องจากจะได้เงินแน่นอนเป็นของตาย จึงอาจไม่จำเป็นต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ได้
อีกเหตุผลหนึ่งคือเป็นการก้าวล่วงอำนาจของนักการเมืองที่เป็นผู้แทนประชาชนในการจัดสรรงบประมาณที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามห้วงเวลา
ข้อเสนอของผมแบบนี้จะไม่มีปัญหาทั้ง 2 ประการ เพราะไม่ได้ให้หน่วยงานใดหน่วยการหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่เป็นการเจาะจงกลุ่มเป้าหมายคือคนจนและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีหลายหน่วยงานทำหน้าที่ดูแลกลุ่มเหล่านี้
หากหน่วยงานใดทำหน้าที่ได้ดีก็จะได้งบประมาณส่วนนี้ไป แก้ปัญหาเรื่องความไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน (แต่ผมแอบเชียร์ให้กระทรวง พม. เป็นผู้ได้รับหลักแล้วนำไปใช้เพื่อป้องกันการตกหล่นคนจนตามแนวทาง leave no one behind)
ในขณะที่การตัดสินใจนี้เป็นของนักการเมืองและผู้เลือกตั้งที่เลือกพรรคที่เสนอเรื่องนี้เข้ามา จึงไม่เป็นการก้าวล่วงอำนาจของนักการเมืองและประชาชนเหมือน earmark tax ทั่วไป
แน่นอนมีคำถามที่ตามมาในเรื่องนี้ เช่นจะแน่ใจได้อย่างไรว่านักการเมืองรักษาสัญญา เรื่องนี้ผมก็รับประกันไม่ได้ แต่คิดว่าก็ให้กลไกทางการเมืองดูแลไป พรรคที่สัญญาแล้วไม่ทำตามสัญญา ก็ต้องรับผิดชอบทางการเมือง ไม่ต่างไปจากสัญญาการเลือกตั้งทั่วไป
อีกคำถามหนึ่งคือวิธีนี้ต่างยังไงกับการที่พรรคการเมืองเสนอชุดนโยบายทั้งหมดแล้วก็บอกว่าจะหาเงินจากไหน จะขึ้นภาษีอะไร ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยหรือไม่
ผมคิดว่าวิธีนี้ดีกว่าในแง่ที่มีการโยงรายได้ที่ได้จากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีข้อห่วงว่าเป็นภาระต่อคนจนกับการใช้จ่ายคืนกลับไปให้กลุ่มคนจนและกลุ่มเปราะบาง การจับคู่แบบนี้ผมคิดว่ามันมีความชัดเจนและสร้างสภาพบังคับในเรื่องความรับผิดชอบทางการเมืองมากกว่าแบบทั่วไปที่ไม่จับคู่ให้ชัดครับ
โดย สมชัย จิตสุชน
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรก ใน Facebook สมชัย จิตสุชน
โฆษณา