24 ก.พ. 2023 เวลา 02:00 • สุขภาพ

ติดโควิดแล้วไม่อยากเป็นลองโควิด ต้องทำอย่างไร

ปัจจุบัน โควิด-19 ยังมีการระบาดอยู่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ลดความรุนแรง รวมทั้งมีการฉีดวัคซีนป้องกันที่ครอบคลุม ทำให้อัตราการเจ็บป่วย อัตราการนอนโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิตลดลงเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจทำให้เกิดภาวะไม่พึงประสงค์อย่างหนึ่งที่แม้ไม่รุนแรง แต่ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สุขสบายกายและไม่สุขสบายใจ ภายหลังหายจากการเจ็บป่วย โดยภาวะนี้พบได้มากถึง 20-40% ของผู้ป่วยทั้งหมด ภาวะดังกล่าว คือ ภาวะลองโควิด (Long COVID) หรือชื่อเป็นทางการทางการแพทย์เรียกว่า Post-COVID-19 condition (PCC)
ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะหายจากการติดเชื้อโควิด-19 การที่ร่างกายมีการอักเสบอย่างต่อเนื่องตามมาหลังการติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้เกิดภาวะลองโควิด อาการของภาวะลองโควิด ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย หายใจเหนื่อย ไอเรื้อรัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ได้กลิ่นหรือรับรสชาติผิดปกติ สมองไม่ปลอดโปร่งแจ่มใส มีภาวะหลงลืมง่าย ภาวะเครียด ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน และอาการปวดศีรษะ เป็นต้น โดยอาการเหล่านี้เป็นติดต่อกันหลังหายจากโควิด-19 นานเกิน 1 เดือนขึ้นไป
ปัจจุบัน มาตรการการป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ผ่อนคลายเป็นอย่างมาก ตามนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความเสี่ยงของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโควิดที่ลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้มีการแพร่เชื้อโควิดภายในประเทศขณะนี้เหมือนการระบาดของโรคติดเชื้อประจำถิ่น เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นเราจึงมีโอกาสได้รับเชื้อ และอาจเกิดภาวะลองโควิดตามมาได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ นอกจากฉีดวัคซีนโควิด เราต้องทำอย่างไรจึงจะป้องกันภาวะลองโควิดได้
งานวิจัยจาก School of Public Health บอสตัน รัฐแมสซาชูเซต สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ JAMA Internal Medicine เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ดำเนินการวิจัยเชิงสำรวจและติดตามผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1981 ราย และวิเคราะห์หาปัจจัยเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ทางสุขภาพที่อาจป้องกันภาวะลองโควิดได้
ผลวิจัยพบว่า การมีไลฟ์สไตล์ทางสุขภาพที่ดี (Healthy lifestyle) สามารถป้องกันภาวะลองโควิดได้มากถึง 49% โดยต้องไลฟสไตล์ทางสุขภาพที่ดีต้องมีอย่างน้อย 5 ใน 6 ข้อ ดังต่อไปนี้ คือ
1. มีดัชนีมวลกายในเกณฑ์ปกติ BMI 18.5-24.9
2. ไม่สูบบุหรี่
3. กินอาหารสุขภาพ (ตามดัชนี Alternate Healthy Eating Index 2010: AHEI-2010*)
4. ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณน้อยหรือปานกลาง** (เช่น ดื่มเบียร์ไม่เกิน 2-3 กระป๋องต่อวัน)
5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
6. นอนหลับอย่างเพียงพอ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน
จะเห็นได้ว่า ไลฟ์สไตล์ทางสุขภาพ เราสามารถทำได้เองโดยไม่ต้องหาซื้อยา อาหารเสริม มากินเพื่อป้องกันภาวะลองโควิด
ดังนั้นแล้ว หันมาดูแลสุขภาพโดยเปลี่ยนแนวทางการใช้ชีวิตกัน ตามหัวข้อไลฟ์สไตล์ทางสุขภาพที่ดี นอกจากจะป้องกันภาวะลองโควิดได้แล้ว สุขภาพโดยรวมก็จะดีขึ้นด้วย มาปฏิบัติกันดูกันครับ
อ้างอิง
Wang S, Li Y, Yue Y, et al. Adherence to Healthy Lifestyle Prior to Infection and Risk of Post–COVID-19 Condition. JAMA Intern Med. Published online February 06, 2023. doi:10.1001/jamainternmed.2022.6555
Stephanie E. Chiuve, Teresa T. Fung, Eric B. Rimm, Frank B. Hu, Marjorie L. McCullough, Molin Wang, Meir J. Stampfer, Walter C. Willett, Alternative Dietary Indices Both Strongly Predict Risk of Chronic Disease, The Journal of Nutrition, Volume 142, Issue 6, June 2012, Pages 1009–1018, https://doi.org/10.3945/jn.111.157222
*ดัชนี Alternate Healthy Eating Index 2010: AHEI-2010*) ประกอบด้วยหัวข้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพและปริมาณ 11 หัวข้อ ไว้โอกาสหน้าจะมาอธิบายเพิ่มเติมอีกที
**การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ ผู้หญิงไม่เกิน 2 หน่วย ผู้ชายไม่เกิน 3 หน่วยของปริมาณแอลกอฮอล์ (ประมาณเบียร์ไม่เกิน 2-3 กระป๋องต่อวัน)มีงานวิจัยพบว่าสามารถเพิ่มระดับไขมันดี HDL ได้ และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด (ดื่มมากไปก็ไม่ไดี แต่ถ้าไม่ดื่มอยู่แล้ว ไม่ต้องดื่มก็ได้ครับ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา