24 ก.พ. 2023 เวลา 13:40 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Joker

Review Part 3 (Spoiled); พลังแห่ง Majority นั้นมีมากกว่าที่คุณคิด
.
จากที่กล่าวไปในโพสต์ที่แล้วเกี่ยวกับ Conformity Bias ที่มีมาจากการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ตั้งแต่ในช่วงเริ่มจำความได้และเริ่มมีพัฒนาการของสมอง สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คงเป็นการที่กำหนดให้คนส่วนมากที่เหมือนๆกันเป็นคนปกติ และกำหนดให้คนส่วนน้อยที่มีความแตกต่างทางจิตใจและพฤติกรรมเป็นคนที่ควรได้รับการปรับตัวเพื่อที่จะกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอีกครั้ง
บางทีเรื่องนี้อาจจะเป็นการ Normalizaiotn ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ก็ได้ เพราะเมื่อยิ่งเชื่อมต่อกันเยอะจำนวนขึ้นแค่ไหน ความชัดเจนนี้ก็จะเริ่มกลายเป็นเพียงความเคยชินในช่วงชีวิตหนึ่งของมนุษย์เท่านั้น
ในการศึกษาสภาวะจิตใจและพฤติกรรมของมนุษย์แบบสรุปง่ายๆ จะมีการแบ่งเป็นการศึกษาว่าแบบไหนที่สามารถอธิบายได้ว่ามีความปกติ และแบบที่วินิจฉัยได้ว่าอยู่ตรงกันข้าม และส่วนหนึ่งของการกำหนดนี้จะมีการสังเกตว่าความสามารถที่จะ 'อยู่ร่วมกับผู้อื่น'ของคนๆหนึ่งมีอยู่สูงแค่ไหน
บางทีถ้าคนส่วนใหญ่ในโลกมีอาการไบโพล่าร์พอๆกับภาวะนอนไม่หลับ อาการนี้จะถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติไหมนะ เพราะสุดท้ายแล้วคนกลุ่มน้อยเพียงแค่อยากจะเป็นคนปกติก็เท่านั้นเอง ว่ากันตามตรงความปกติก็คือสิ่งที่พบเจอโดยทั่วไปจนมีความเคยชินเท่านั้นเอง
ในร้อยปีที่ผ่านมาก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ในการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ว่าอะไรคือสิ่งที่ปกติอย่างเป็นรูปธรรม แต่มันง่ายกว่าถ้าจะมองความไม่ปกติแบบแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดให้ไปอยู่ที่สิ่งที่คล้ายชายขอบของสังคม และในกรณีที่ความแตกต่างนั้นยังคงอยู่ร่วมกันได้ก็คงจะเรียกว่าความปกติ
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คงเป็นพฤติกรรมในลักษณะ Introversion ที่ต้องไปอยู่ในโลกที่สังคมให้ค่ากับความเป็น Extroversion มากกว่า โดยที่การทำงานและการประเมินทุกอย่างถูกกำหนดโดยคุณลักษณะของ Extrovert เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อเกิด Confirmity Construction ขึ้นในสถาบันใดๆก็ตาม การปรับตัวที่ตรงข้ามกับคุณลักษณะของตัวเองจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้เกิดความแข็งแรงใน Confirmity ขึ้นอีก
นี่คงจะเป็นพลังอำนาจของ Majority หรือกลุ่มคนส่วนใหญ่ ถ้าคุณลักษณะพัฒนาการของมนุษย์สามารถเข้ากับความต้องการของสังคมได้โดยง่าย ก็จะรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติตั้งแต่เกิด แต่ทว่าเมื่อพัฒนาการของคนไม่สามารถเข้ากันได้กับสิ่งที่คนส่วนมากที่เกิดมารอบตัวต้องการแล้ว มันจะกลายเป็นความขัดแย้งในตัวเองตลอดชีวิต บางทีคนอย่างโจ๊กเกอร์คงต้องการแค่กลุ่มคนที่เข้าใจเขาเท่านั้น และไม่ได้ต้องการให้สังคมโอนเอียงเข้าข้างตัวเอง
ถ้าจะให้สรุปอย่างง่ายดายก็คือ 'การมีที่อยู่ในสังคม' เป็นสิ่งที่ตัวละครต้องการมากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ถูกพรากตลอดการมีชีวิตอยู่ อย่างไรก็ดีก็คงไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมทั้งหมดได้ เพราะจิตวิทยาทุกวันนี้เป็นการให้คนปกติมาวินิจฉัยคนที่ถูกมองว่าไม่เข้าพวก และหาความแตกต่างก็เท่านั้น
จะมีการนำเสนอหลาย scene ในภาพยนตร์ที่จะเป็นจินตนาการของ Arthur Fleck หรือถ้าจะให้พูดตามตรงก็คือเป็นสิ่งที่อยากให้เป็นในชีวิตจริง เป็นคนที่ถูกยอมรับและเป็นเพียงคนที่มีที่ยืนในสังคมก็เท่านั้น ทั้งความต้องการที่จะมีความรัก หรือความต้องการที่สามารถสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้มาฟังเดี่ยวไมโครโฟนได้
บางทีการแสวงหานั้นอาจจะไม่สามารถทำได้ตลอดชีวิตเพราะสิ่งที่สังคมตราหน้าว่าเป็นความผิดปกติของสมองเขา หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือเป็นความผิดเองที่เขาเกิดมาแบบนี้ ช่างน่าเศร้าที่ไม่มีใครต้องการจะให้ความรักคน 'ผิดปกติ' แบบเขาโดยเต็มใจได้เลย
พยายามจะหาทฤษฎีที่สามารถอธิบายพฤติกรรมของคนหมู่มากแบบนี้อยู่ คิดว่าคงใช้ bystander effect มาอธิบายไม่ได้ สิ่งที่ชัดเจนที่สุดก็คงเป็น Cognition พื้นฐานอย่างที่สุดอย่าง Implicit Bias ส่งเป็นการพยายามแบ่งแยกคนกลุ่มต่างๆออกจากกันโดยขับเคลื่อนโดยสัญชาตญาณ ความรู้สึก และจิตใต้สำนึกเป็นหลัก มีหน้าที่เพื่อให้จิตสำนึกปกติอยู่ใน comfort zone ทางอารมณ์เพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้
พื้นฐานของ Impllicit Bias สามารถใช้อธิบายในเรื่องของ Ignorance กับ Procastination ได้ด้วย โดยเมื่อทุกคนในสังคมที่ยอมรับว่าปกติใช้ทฤษฎีนี้ในการอธิบายร่วมกับ Confirmity Bias ก็คงจะเรียกว่าเป็นการกีดกันคนชายขอบอย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่เพราะเหตุผล แต่เป็นสัญชาตญาณด้านความปลอดภัยของคนในชุมชน
สิ่งเหล่านี้กลายเป็นรากฐานของระบบต่างๆที่สังคมสร้างขึ้นมา (และใช่ สามารถอธิบายในโลกแห่งความเป็นจริงได้ด้วย) ทางระบบแนวคิดการปกครองที่เข้าใจร่วมกัน ระบบกฎหมายและสวัสดิการ บทบาทหน้าที่และการยอมรับกันในสังคม ไปจนถึงระดับครอบครัว ทุกสิ่งทุกอย่างจริงๆแล้วก็เป็นเพียง illusion ก็เท่านั้น ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้
แต่เพราะว่ากลัวการที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างที่สุด มนุษย์จึงทำทุกอย่างที่จะคงไว้ซึ่งรากฐานเหล่านี้ได้ และควรส่วนใหญ่ที่ยึดติด illusion แบบนี้ตั้งแต่เกิดจนมองว่าเป็นเรื่องปกติก็จะไม่สามารถเข้าใจการกระทำของโจ๊กเกอร์ในท้ายเรื่องได้ เพราะว่าสำหรับพวกเขาแล้วความไม่ปกติน่ากลัวอย่างที่สุด
ช่วงครึ่งหลังของเรื่อง การกระทำของตัวละครสมทบรอบตัวส่งผลให้ตัวละครหลักได้ก้าวข้ามแนวคิดของสังคมไป และตระหนักได้ถึงความสามารถของตัวเองในการสั่นคลอนระบบและความเชื่อดั้งเดิมที่เกิดขึ้น เพราะว่าสูญเสียทุกอย่างจึงตระหนักรู้ได้ว่าทุกอย่างที่ต้องการเป็นเพียงสิ่งที่คนอื่นสร้างขึ้นมาและให้คุณค่าขึ้นมาเรื่อยๆ ก็เท่านั้นเอง
เพราะว่าชื่อ Arthur Fleck เป็นสิ่งที่คงไว้ซึ่งการเชื่อมต่อระหว่างบทบาททางสังคมและการมีชีวิตอยู่ของตัวละครหลัก จากที่ได้ตัดสินใจเรียกตัวเองว่าโจ๊กเกอร์นั้น ราวกับเป็นความตั้งใจที่จะละทิ้งทุกอย่างอย่างแท้จริง และจะเดินทางไปในที่ๆไม่มีอำนาจใดๆมากดทับได้อีกแล้ว
การเอาชนะความเชื่อหลักท่ามกลาง majority เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากตราบใดที่คุณค่าและทรัพย์สินของตัวเองยังผูกไว้กับบรรทัดฐานของสังคม และตัวละครอย่างโจ๊กเกอร์ก็สามารถละทิ้งได้ทั้งสองอย่าง และคนปกติจะไม่สามารถคาดเดาการกระทำของคนแบบนี้ได้เลย การคาดการณ์ไม่ได้เป็นความกลัวแบบหนึ่ง แต่การผลักใสไปยังชายขอบคงใช้ไม่ได้ผลแล้ว
เพราะตัวตนของโจ๊กเกอร์ไม่ได้ถูกผูกมัดไว้ที่ตรงนั้น ชายผู้นี้กลายเป็นสิ่งที่เปรียบเสมือนปีศาจเพียงเพราะว่าไม่สามารถเข้ากับสังคมได้ หลังจากดูจบก็เก็บไปคิดว่าบางทีนี่คงเป็นเพียงผลจาก Entropy ที่ทุกอย่างจะมาบรรจบกัน โจ๊กเกอร์จะเป็นตัวละครที่สร้างสมดุลย์ให้กับสังคมไปเรื่อยๆราวกับไฟป่า แม้ว่าคุณจะไม่ชอบก็ตาม
#moviecouple
โฆษณา