24 ก.พ. 2023 เวลา 12:00 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี

The Point Men วิกฤติตัวประกันเกาหลีปี 2007 กับทฤษฎีเกม

หนังฟอร์มยักษ์เรื่องล่าสุดของเกาหลี The Point Men ที่ได้รับเสียงตอบรับอย่างยอดเยี่ยม ครองอันดับ 1 บนบ็อกซ์ออฟฟิศเกาหลีกว่าสามสัปดาห์ซ้อน และเป็นการรวมตัวกันของซูเปอร์สตาร์อย่างฮยอนบิน ฮวังจองมิน และคังกียอง
โดยภารกิจในเรื่องอ้างอิงจากเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นในปี 2007 เมื่อชาวเกาหลีใต้ถูกกลุ่มตาลีบันจับเป็นตัวประกัน ภารกิจชิงตัวประกันสุดลุ้นระทึกจึงได้เริ่มต้นขึ้น ซึ่งหนังก็ถ่ายทอดความลุ้นระทึก ความกดดันที่ต้องชิงตัวประกันภายใต้เวลาและข้อจำกัดต่างๆ มากมายได้อย่างสมจริงมากเลยทีเดียว
📌 วิกฤติตัวประกันเกาหลีถูกคุมตัวในอัฟกานิสถาน ปี 2007
ช่วงเวลา 42 วัน ในฤดูร้อน เมื่อปี 2007 ในอัฟกานิสถาน คงเป็นเสมือนฝันร้ายของชาวเกาหลีใต้ทั้ง 23 คน ไปตลอดกาล เมื่อพวกเขาถูกกลุ่มตาลีบันจับเป็นตัวประกันขณะกำลังเดินทางจากกรุงคาบูลไปเมืองกันดาฮาร์
ภายหลังจากนั้นหนึ่งวัน กลุ่มตาลีบันได้ออกมาประกาศว่าพวกเขาจับชาวเกาหลีไว้เป็นตัวประกัน โดยยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลเกาหลีถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน แลกกับการปล่อยตัวประกัน รวมถึงให้รัฐบาลอัฟกันปล่อยสมาชิกกลุ่มตาลีบันที่ถูกคุมขังไว้ด้วย ซึ่งทางรัฐบาลอัฟกันก็ปฏิเสธข้อเสนอนี้เนื่องจากมองว่าหากตอบรับ ก็จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลักพาตัวมากขึ้นในอนาคต
ทางด้านเกาหลีใต้ ได้ส่งทีมเจรจาไปที่กรุงคาบูล แต่สุดท้ายเกาหลีใต้ก็ปฏิเสธข้อเสนอของกลุ่มตาลีบันไป เมื่อข้อเสนอไม่ได้รับการตอบรับ และสื่อก็จับตาอยู่ กลุ่มตาลีบันจึงเลือกเล่นเกมจิตวิทยาเพื่อกดดันรัฐบาลเกาหลีใต้ ด้วยการฆ่าตัวประกันชาย 2 คนในเวลาไล่เลี่ยกัน
ในที่สุดหลังจากการเจรจาอย่างยากลำบาก กลุ่มตาลีบันก็ปล่อยผู้ถูกลักพาตัวที่เหลือ 19 คน โดยไม่ได้ทำอันตรายใดๆ
📌 “ทำไมท้ายที่สุดแล้ว จึงไม่ค่อยมีการจ่ายเงินเพื่อไถ่ตัวตามจำนวนที่เรียกร้องไว้เท่าไรนัก”
ที่เป็นอย่างนี้เพราะ จริงๆ แล้วผู้เรียกค่าไถ่ ก็มักจะมีเหตุมีผลพอที่จะเลือกปล่อยตัวประกัน เอากำไรที่แม้ไม่มาก แต่ดีกว่าที่จะต้องไปรับผลที่รุนแรงทางกฎหมาย
ในหนังสือ Kidnap: Inside the Ransom Business คุณ Anna Shortland ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจ โดยนำกรอบแนวคิดทฤษฎีเกมมาประยุกต์ใช้
ทฤษฎีนี้ สามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ จากตารางประกอบข้างบน (ตารางนี้เรียกว่า payoff table ที่สมมุติขึ้นมา) ซึ่งแสดงถึงผลตอบแทนที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับ จากทางที่สองฝ่ายตัดสินใจเลือกเดิน โดยตัวเลขฝั่งซ้ายแสดงถึงผลตอบแทนที่ผู้เจรจาได้รับ (สีส้ม) และตัวเลขฝั่งขวาแสดงถึงผลตอบแทนที่ผู้เรียกค่าไถ่จะได้รับ (สีน้ำเงิน)
เรามาเริ่มโดยดูผลตอบแทนของฝั่งผู้เจรจาก่อน โดยดูได้ที่คอลัมน์แรก ในกรณีที่ผู้เรียกค่าไถ่เลือกจะทำร้ายตัวประกันนั้น ผลตอบแทนที่ผู้เจรจาจะได้รับคือ -5 เมื่อเลือกจ่ายเงิน (คิดง่ายๆ คือจ่ายค่าไถ่ตัว 2 ล้าน บวกค่าเสียหายอีก 3 ล้านจากการที่ตัวประกันถูกทำร้าย)
และ -3 เมื่อเลือกที่จะไม่ยอมจ่ายเงิน ด้วยเหตุนี้ ผู้เจรจาที่มีเหตุผลย่อมเลือกที่จะไม่จ่ายเงิน เนื่องจากถ้ายังไงตัวประกันจะโดนทำร้าย เราก็ไม่ควรจะจ่ายค่าไถ่ จึงทำให้ผลลัพธ์กรณีที่ไม่จ่ายเงินดีกว่ากรณีที่จ่ายเงิน
กลับมาดูที่แถวที่ 2 ที่เป็นฝั่งผู้เรียกค่าไถ่บ้าง สมมติว่าผู้เจรจาไม่ยอมที่จะจ่ายเงิน ผลตอบแทนที่ผู้เรียกค่าไถ่จะได้รับเมื่อทำร้ายตัวประกันคือ -5 (โทษจากการทำร้ายตัวประกัน บวกกับโทษจากการเรียกค่าไถ่)
และผลตอบแทนเมื่อปล่อยเหยื่อคือ -1 (โทษจากการเรียกค่าไถ่อย่างเดียว) เนื่องจากการทำร้ายตัวประกันจะมีผลพวงตามมา ก็คือการถูกลงโทษอย่างรุนแรงตามกฎหมายหากถูกจับได้ ดังนั้นผู้เรียกค่าไถ่จึงมีเหตุผลที่จะพยายามเลือกปล่อยตัวประกันโดยปลอดภัย หากเป็นไปได้
ในตารางดังกล่าว เมื่อลองพิจารณาทุกกรณี ทุกทางออกที่จะเป็นไปได้ประกอบกัน จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าผู้เจรจาจะเลือกจ่ายเงินหรือไม่ยอมจ่าย ผู้เรียกค่าไถ่ก็เลือกที่จะปล่อยตัวมากกว่าทำร้ายตัวประกัน จึงกล่าวได้ว่าการเลือกที่จะปล่อยตัวประกันในท้ายที่สุด เป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่าการทำร้ายตัวประกัน เพื่อหลีกเลี่ยงและไม่ต้องมีโทษที่รุนแรงติดตัวต่อไป
ขณะเดียวกันผู้เจรจาจะมีความเสียหายน้อยกว่าเช่นกัน เมื่อเลือกที่จะไม่จ่ายในทันที และพยายามเจรจาต่อรองก่อน ดังนั้น การเลือกที่จะไม่ยอมจ่ายจึงเป็นกลยุทธ์หลักของผู้เจรจา
จากทั้งหมดนี้ กรณีมุมขวาล่างที่ผู้เจรจาไม่ยอมจ่ายเงินและผู้เรียกค่าไถ่ยอมปล่อยตัวประกัน จึงเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในท้ายที่สุด
นักเศรษฐศาสตร์เรียกกรณีเช่นนี้ว่า Nash Equilibrium¹ ซึ่งในชีวิตจริง แม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้างที่ผู้เรียกค่าไถ่จะทำร้ายตัวประกัน ถ้าไม่ได้รับเงินตามที่ต้องการ แต่จากทฤษฎีเกมข้างต้น ทำให้เรารู้ว่าผู้เรียกค่าไถ่จะพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง และผู้เจรจาก็สามารถเจรจาต่อรองค่าไถ่ลงมาได้ ซึ่งทำให้สุดท้ายแล้ว ตัวประกันถูกปล่อยตัวมาอย่างปลอดภัย ถ้าได้รับค่าไถ่ที่สมเหตุสมผล
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา