28 ก.พ. 2023 เวลา 12:00 • การตลาด

Chicago Auto Show 2023 งานสำหรับคนรักรถยนต์

งาน Chicago Auto Show เป็นงานแสดงยานยนต์ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคอเมริกาเหนือจัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2444 โดยสมาคมผู้ค้า ยานยนต์แห่งนคชิคาโก (The Chicago Automobile Trade Association หรือ CATA) เพื่อประชาสัมพันธ์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์จากทั่วโลกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
การจัดงานในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 115 ระหว่างวันที่ 11 – 20 กุมภาพันธ์ 2566 (10 วัน) ณ ศูนย์แสดงสินค้า McCormick Place นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐฯ เปิดให้บุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าชมได้ ทั้งนี้คาดว่าในปีนี้จะมีผู้เข้าชมงามากกว่า 1 ล้านคนจากทั่วโลก
Buick Wildcat EV Concept
ภายใน Buick Wildcat EV Concept
ภายในงานมีการจัดแสดงรถยนต์ (ไม่มีการจำหน่ายภายในงาน) จำนวนกว่า 1,000 คัน ตั้งแต่รถยนต์สำหรับการใช้งานทั่วไปจนกระทั่งรถยนต์สมรรถนะสูงหรูหราราคาแพงจากค่ายผู้ผลิตรถยนต์ทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศ จัดแสดงเต็มพื้นที่อาคารทิศเหนือ (North Building) และอาคารทิศใต้ (South Building) พื้นที่จัดแสดงรวมกว่า 1 ล้านตารางฟุต
ในปีนี้มีค่ายผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากทั่วโลกสนใจเข้าร่วมจัดแสดงรวมทั้งสิ้น 27 แบรนด์ ได้แก่ “Acura” “Alfa Romeo” “Aston Martin” “Bentley” “BMW” “Buick” “Cadillac” “Chevrolet” “Chrysler” “Dodge” “Fiat” “Ford” “GMC” “Honda” “Hyundai” “Jeep” “Kia” “Lamborghini” “Lexus” “Maserati” “McLaren” “Nissan” “Ram” “Roll-Royce” “Subaru” “Toyota” “Volkswagen”
Chevrolet Corvette E-Ray
จำแนกออกเป็น 18 ประเภท เช่น รถยนต์คอนเซปต์อนาคต รถเปิดประทุน รถเก๋ง รถตู้ รถแวน รถกระบะ รถยนต์อเนกประสงค์ รถสปอร์ต รถซูปเปอร์คาร์ และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงสินค้ากลุ่มอุปกรณ์ยานยนต์ กลุ่มอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ รวมถึงรถโบราณและรถคลาสสิค
งานแสดงรถยนต์ดังกล่าวถือเป็นงานที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม สื่อมวลชน และผู้บริโภคที่สนใจในการเข้าชมงานเพื่อรับทราบข้อมูลการพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์ในตลาดปัจจุบันทั้งแนวโน้มนวัตกรรมการออกแบบและการผลิต แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในตลาด และแนวโน้มของเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่ๆ จากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม
Dodge Charger Daytona SRT EV Concept
สามารถแบ่งกลุ่มรถยนต์ที่นำไปจัดแสดงภายในงานออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่
1. กลุ่มรถยนต์ที่มีในตลาด (Production Vehicles)
รถยนต์ที่ผลิตและมีจำหน่ายในตลาดแล้ว เช่น “BMW iX” “Ford F-150” “Honda Civic” และ “Toyota 4Runner”
2. กลุ่มรถยนต์ที่เปิดตัวภายในงาน (Debut Vehicles)
เป็นการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่ยังไม่มีจำหน่ายในตลาด เช่น “BMW i7” “Chevrolet Corvette E-Ray” “Ford Mustang Dark Horse” และ “Subaru Crosstrek”
3. กลุ่มรถยนต์คอนเซปต์อนาคต (Concept Vehicles)
นำเสนอรถยนต์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่แห่งในอนาคต เช่น “Buick Wildcat” “Chrysler Airflow” “Honda Civic Type R” และ “Ram 1500 Revolution Concept"
RAM Revolution prototype car
ภายใน RAM Revolution prototype car
ปีนี้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electrical Vehicle หรือ EV) และรถยนต์ไฮบริด (Hybrid) ยังได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วยเนื่องจากปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อในตลาดที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูงทำให้น้ำมันในตลาดยังคงมีราคาแพงส่งผลทำให้ภาระค่าใช้จ่ายผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดจึงหันไปเลือกใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานมากขึ้น
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและโครงการช่วยเหลือสนับสนุนด้านส่วนลดภาษีสำหรับรถยนต์พลังงานทางเลือกของรัฐบาลสหรัฐ เองยังมีส่วนทำให้ราคาจำหน่ายรถยนต์พลังงานทางเลือกลดลงมาใกล้เคียงกับรถยนต์พลังงานน้ำมัน ซึ่งก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันหันมาใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์แทบจะทุกค่ายต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานทางเลือกเพื่อชิงส่วนแบ่งในตลาดที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต
ปัจจัยด้านสถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในระบบการขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน ปัจจัยด้านอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และปัจจัยด้านอัตรดอกเบี้ยในตลาดส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมาทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในสหรัฐ หดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2565 สหรัฐฯ มียอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศทั้งสิ้น 13.74 ล้านคันลดลงร้อยละ 8.52 เมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายในปีก่อนหน้านี้ หรือลดลงสูงถึงร้อยละ 19.46 เมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายในปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19
Chevrolet Blazer electric SUV
แม้ว่าสหรัฐ จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตย้ายฐานอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ให้กลับไปตั้งกิจการในสหรัฐ (Reshoring) รวมถึงนโยบายการตั้งกำแพงเพดานภาษีสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์สหรัฐ ก็ยังมีมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาสินค้าในตลาดปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ)
ในปี 2565 สหรัฐ มีนำเข้าสินค้ากลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3.22 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.29 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เม็กซิโก (ร้อยละ 34.48) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 13.56) แคนาดา (ร้อยละ 13.50) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 8.98) และเยอรมนี (ร้อยละ 8.66)
รถยนต์ไทยยังเป็นสินค้าศักยภาพที่สำคัญในตลาดสหรัฐฯ โดยในช่วงเดียวกันไทยส่งออกยางรถยนต์ไปยังตลาดสหรัฐเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.48 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงจัดว่าสินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไทยยังเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการทำตลาดสหรัฐสูงและมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในปีนี้ที่ตลาดรถยนต์ในสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นตัวหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยในตลาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ สหรัฐได้นำเข้าสินค้ากลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ (HS Code 87) จากไทยเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 13) หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.11 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าส่งออกหลักที่สำคัญของไทยเป็นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น ล้อรถยนต์ เพลา ตัวถัง คอพวงมาลัย โช้คอัพ และระบบถุงลมนิรภัย เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มสินค้ายาง
GMC Hummer EV
คาดว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ในสหรัฐ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 14.80 ล้านคันใน
ปี 2566 หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.71 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งมาจากจำนวนอุปทานรถยนต์ที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ราคาในตลาดปรับตัวลดลง
รวมถึงแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มทรงตัวในตลาดปีนี้ ประกอบกับปัจจัยด้านการฟื้นตัวของสถานการณ์การแพร่ระบาด ผู้บริโภคสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติและเริ่มหันกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นด้วยจึงน่าจะทำให้ชาวอเมริกันซื้อรถยนต์มากขึ้นในปีนี้
แม้ว่าในช่วงที่ยอดจำหน่ายรถยนต์ในสหรัฐฯ จะหดตัวลงในปีที่ผ่านมาแต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์กลุ่มพลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ กลับปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับแนวโน้มในตลาดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 8 แสนคัน หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 65 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อีกทั้ง ยังคาดว่ายอดจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ จะเกิน 1 ล้านคันต่อปีเป็นครั้งแรกในปี 2566
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวอเมริกันหันไปเลือกซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นในปัจจุบันมาจากโครงการสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งการลงทุนเพิ่มสถานีชาร์ตแบตเตอรีในประเทศ การสนับสนุนทางด้านภาษีซื้อ (Tax Incentive) รวมถึงระดับราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้าในตลาดปัจจุบันที่ลดลงใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานน้ำมันผู้บริโภคในตลาดสามารถซื้อได้ เช่น Chevy Bolt ราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ 27,000 ดอลลาร์สหรัฐ และ Hyundai Kona ราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ
Toyota IQ EV Concept
โดยรวมแนวโน้มการขยายตัวของตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐ น่าจะเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ไทยไปยังตลาดสหรัฐ มากขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยด้านการแข่งขันในตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้นผู้ประกอบการไทยจึงควรที่จะพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าและตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในตลาด เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพความแข็งแรงของชิ้นส่วน และการลดน้ำหนักของสินค้าให้เบาขึ้นเพื่อส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานและเพิ่มระยะทางในการขับเคลื่อนรถยนต์ในอนาคตซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ในตลาดต่างให้ความสำคัญ
นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี แท่นชาร์ต หัวชาร์ต สายไฟชาร์ต รวมถึงยางรถยนต์ของไทยก็ยังน่าจะมีโอกาสในการ ทำตลาดในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวการดำเนินนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายในประเทศของสหรัฐฯ อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตในต่างประเทศรวมถึงไทยได้ ดังนั้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพให้ขยายฐานกิจการไปตั้งในสหรัฐ (Internationalization Strategy) เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐได้ก็น่าจะมีส่วนช่วยลดอุปสรรคทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้น
ไทยมีมูลค่าการส่งออกยาง รถยนต์ จักรยานยนต์ รถบรรทุกไปสหรัฐ เป็นมูลค่าสูง
Reference
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก
โฆษณา