25 ก.พ. 2023 เวลา 11:40

[รีวิวอัลบั้ม] This Is Why - Paramore

ไม่เคยติดว่าทำไม
“อะไรที่ทุกคนเคยรู้สึกว่าเราเคยเป็นเมื่อก่อน เรานี่คือ Paramore และตัวฉัน ที่มีสีสันจูดจาด หรือความร่าเริง นั่นไม่ใช่ตัวฉันอีกแล้ว”
-นี่คือประโยคที่ Hayley Williams เคยให้สัมภาษณ์กับ NPR น่าจะทำให้คนที่ติดภาพจำป็อปพังค์เก่าๆที่ผ่านมา เกิดความเข้าใจสิ่งที่อัลบั้มนี้เป็นโดยที่ไม่ด่วนตัดสินจนเกินไป เพราะนี่คือยุคที่พวกเขาก้มหน้ายอมรับสภาพ และปล่อยให้เด็กๆ Gen Z เห่อรีไซเคิล Y2K Pop-Rock ปล่อยให้ตาลุกวาวไปกับเทรนด์เพลงในอดีตที่พวกเขาเคยทำ
-สำหรับพวกเขาทั้งสาม ไม่มีความคิดที่จะโชว์ความเก๋ายุคบุกเบิกเพื่อเอามาให้เด็กเชยชมอีกต่อไป คลื่นลูกใหม่เป็นปัจจัยที่พวกเขาไม่แคร์มากเท่ากับคลื่นอารมณ์ที่ค่อนข้างแปรปรวนขึ้นๆลงๆจากการอยู่กับตัวเอง หรือ self-reflect อย่างถึงที่สุดในช่วง pandemic ที่ผ่านมา ถ้าจะบ่นว่า ทำไมพวกเขาช่างเป็นผู้ใหญ่เจ้าอารมณ์ เมื่อได้ฟังอัลบั้มนี้จบลง พวกเขาคงไม่ถือสาเลยด้วยซ้ำ เผลอๆจะได้ reply ไปว่า ขอบคุณที่เข้าใจ
-พวกเขากล้ายอมรับตัวเองเลยด้วยซ้ำว่าเป็นวงเอาแต่ดราม่าน่ารำคาญ ซึ่งนั่นคือการชำแหละข้อจำกัดในแบบที่ไม่มีอะไรจะเสีย หากแฟนเพลงจะไม่รู้สึกเอ็นจอยความเจ้าอารมณ์นี้อีกต่อไป อย่างที่เพลง C’est Comme Ça ที่เฮย์ลี่ย์ repeat จนกลายเป็น earworm โดยไม่รู้ตัว (สำนวนภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “มันก็เป็นแบบนี้แหละ”)
I hate to admit gettin' better is boring
But the high cost of chaos, who can afford it?
C’est Comme Ça
1
-After Laughter สื่อสารความเจ้าอารมณ์และสภาวะ depress ด้วยภาษาป็อปประชดประชัน ยังคงเหลือไว้ซึ่งความเอ็นเตอร์เทนอยู่บ้าง แต่สำหรับสุ้มเสียงของงานชุดนี้อาจจะมองหาความบันเทิงอันคุ้นชินยากหน่อย เพราะกรูฟใหม่ส่วนใหญ่ไปทางดุ่มๆ เริ่มเข้าสู่ความอึมครึม เจือไปด้วยกลิ่นฝนและความชื้น
-แต่ก็เป็นเรื่องดีที่อย่างน้อยวงระดับเมนสตรีมเช่นนี้จะเสิร์ฟเมนูใหม่ๆท้าทายผู้ฟังให้ได้ปรับจูนใหม่ในอัลบั้มต่อๆไป จะให้กลับไปเดินเครื่องซินธ์ป็อปอาจดูจำเจ จะให้กลับไปรันป็อปพังก์ยุค Y2K ก็ดูติดหล่มความสำเร็จแบบเก่าๆ ต่อให้เป็นโอกาสทองก็ตามไม่ทัน
-ไตเติ้ลแทร็ค This Is Why เป็นทั้งซิงเกิ้ลแรก เพลงสุดท้ายที่พวกเขาแต่งเพื่อสรุปจบอัลบั้ม เหมาะเหม็งกับการเป็น centerpiece ตั้งแต่แรกเริ่มเลย โดยปกติแล้วเพลงที่บอกภาพรวมอัลบั้มมักจะอยู่ช่วงค่อนไปทางกลางอัลบั้มซะส่วนใหญ่ แต่จั่วด้วย centerpiece เลยก็ถือว่าคิดถูกแล้วจริงๆ มันคือเพลงของคน introvert ที่มีริทึ่มขยุกขยิก มีกลิ่นความเป็นพังก์และนิวเวฟหลงเหลืออยู่บ้าง
-ในขณะเดียวกันก็แอบปรับสปีดให้จุดติด dance punk หลีกหนีคลื่นแห่งป็อป-พังก์ที่น้องๆหนูๆและรุ่นพี่บางคนกำลังทำอยู่ นั่นก็แสดงให้เห็นเจตจำนงแห่งการสวนกระแส แต่ก็ไม่รีบที่จะผลักแฟนเก่าให้ไกลห่างเสียก่อน เป็นการคัมแบ็คที่เลือกทางได้ฉลาดดีครับ ไม่ใส่แนวทางทดลองให้คนงุนงงเสียก่อน
-การเลือกที่จะต่อด้วย The News ก็เข้าที เพราะนี่คือการ introduces รากเหง้าของ Paramore โดยตรง มีความกระแทกกระทั้นให้แฟนเก่าได้หายคิดถึง แต่ใส่ความ post-modern ลงในเนื้อหาแทน ซึ่งก็พออธิบายสังคมการหลั่งไหลข้อมูลข่าวสารให้พอเข้าใจง่ายยิ่งกว่า The 1975 ราวกับว่าพวกเขาเก็ตสิ่งที่คนยุคนี้เป็น
-อยากตัดขาดโซเชี่ยลชิบหาย เพราะมีเรื่องที่น่าเอียนเต็มไปหมด แต่ก็เลือกที่จะปิดกั้นในบางเรื่องไม่ได้ มิฉะนั้นคุณอาจเป็นพวกไร้เดียงสาทางสังคมทันที เป็นแบบนี้ทุกสังคมแหละ ท่วงทำนองเอื้อต่อการ woke มากๆ แต่พอสืบทราบในเจตจำนงของเพลง กลับทำให้เพลงนี้ไม่ได้เปล่งความ woke อย่างที่เคยคิด
-ถึงวงจะไม่เคลมว่าตัวเอง woke แต่ก็มีเพลงที่ปลุกเร้า feminist อยู่ไม่มากก็น้อย เฉกเช่น Big Man, Little Dignity ที่ตัวเฮย์ลี่ย์เองเก็บกดอย่างเห็นได้ชัดจากประสบการณ์ที่เธอเจอผู้ชายห่วยๆอยู่ไม่น้อย พลางให้คิดถึงต้นเหตุที่ผู้ชายมักเป็นใหญ่ทางสังคม อาจเป็นเพราะการทำอะไรได้ตามใจเฉิบ โดยที่ไม่คำนึงถึงผลการกระทำ แต่จบด้วยความตลกร้ายตรงที่ผลของการกระทำนั้นกลับถูกหลงลืมได้ง่ายเสียจนพวกเขาลอยตัวอยู่เหนือทุกปัญหาได้ เป็นเพลงจิกกัดที่ไม่เน้นความโฉงฉาง แต่กรึ่มด้วยแซ่กีตาร์ไฟฟ้าที่ตึงตัง แต่น่าฟังไม่น้อย
-ถ้าหาก Big Man, Little Dignity คือความพ่ายแพ้ของผู้หญิงที่ดันทำอะไรไม่ได้ สำหรับเพลง You First ก็ทำตัวไม่ต่างกับการดูหมากัดกัน รออยู่ฝั่งผู้ชนะ อีกหนึ่งเพลงพลุ่งพล่านที่แสนคุ้นเคยมากสุดถัดจาก The News ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ tie-in ความเป็นผู้หญิงที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของเหล่าผู้ชายหมาป่าล่าเนื้อที่คอยแก่งแย่งกันเป็นจ่าฝูง ซึ่งไม่ต่างจากคนตีกันในคอนเสิร์ตของเธอ อันเป็นเหตุการณ์ที่เฮย์ลี่ย์และชาวคณะเจอปัญหาเช่นนี้ประจำ
-อีกอย่างมันจะมีท่อนฮุกเธอใช้คำแทนของ Karma เป็นคำว่า She ด้วย และมีการ mention ถึงพล็อตหนังสยองขวัญสุดคลาสสิคที่มักจะเขียนบทให้ผู้หญิงที่มีท่าที virgin กลายเป็นผู้รอดชีวิตและผู้พิชิตฆาตกรในเวลาเดียวกัน
-ตามความเข้าใจที่ผมมีต่ออัลบั้มนี้ที่ว่าด้วย self-reflect ที่ไม่ใช่การมานั่งทบทวนใจตัวเองแล้วมองเห็นด้านดีงามจนเกิดความรู้สึกรักตัวเองที่มากขึ้น ผลที่ได้จากการ deep conversation กับตัวเองนั้นกลับทำให้เผย ugly truth จำพวกนิสัยเสียที่แก้ไม่หายอยู่หลายๆเรื่อง เฉกเช่น การเป็นคนไม่ตรงต่อเวลาในเพลง Running Out of Time ที่หยอกเย้าด้วยกรูฟดุ่มๆ ไลน์เบสที่โคตรเท่ห์ ทำให้ดูเป็นมิตรมากพอที่จะเป็นซิงเกิ้ลถัดไปอย่างเอกฉันท์
-C’est Comme Ça เพลงสั้นๆประหนึ่ง interlude ที่เหมือนเฮย์ลี่ย์จะซึมซับวิธีการประชดประชันนี้จาก Dry Cleaning ที่พูดลงเพลงแม่งเลย เป็นการหยั่งเชิงเพิ่มรสชาติใหม่ ร้องแค่ไม่กี่ประโยค พอเอามาต่อกับเพลง Running Out of Time กลายเป็นการโต้ตอบถึงความยุ่งเหยิงที่เป็น cause effect ตามมาจากภาวะ depression ที่นอกจากจะเป็นภัยเงียบที่มองไม่เห็นแล้ว solution ก็ไม่ตายตัวต่างหาก ความพยายามให้หายขาดเป็นอะไรที่น่าเบื่อและน่ารำคาญที่จะต้องหาอะไรมาเติมเต็ม
-การวนคิดถึงความสัมพันธ์ toxic relationship ทั้งๆที่จบลงก็นานแล้วในเพลง Figure 8 ซาวนด์วูบวาบเหมือนหยอกเย้าให้เราเกิดความรู้สึกวนเวียนไม่รู้จบ ความรู้สึกที่เธอใส่ลงในเพลง ใครๆก็อด assume ถึงสามีเก่า Chad Gilbert ไม่ได้
-ผิดกับ Liar ที่ชื่อเพลงดูแรง แต่กลับกัน เธอระบายความในใจให้กับ Taylor York สมาชิกที่ร่วมหัวจมท้ายและแฟนคนปัจจุบันของเธอ ที่ผ่านมาเธอกลัวว่าการคบกับสมาชิกในวงอาจจบไม่สวย เธอเลยเลือกที่จะพูดจาอ้อมค้อม หลอกตัวเองไปเรื่อย กลายเป็นเพลงรักที่อ้อมค้อมที่สุดเท่าที่ผมเคยฟังเลย อย่างไรก็ดีเป็นความแช่มช้าที่น่าคล้อยตาม มีการหยอด Easter egg ถึงเพลง Simmer และ Crystal Clear งานเดี่ยวของเธอด้วย
-ที่ผ่านมาเราได้เห็นพาร์ทผู้ใหญ่ขี้บ่นมามากพอแล้ว สำหรับเพลง Crave เป็นความ nostalgia ที่พยายามมองโลกในแง่บวกเพื่อที่จะมีชีวิตต่อเพื่อรันวงดนตรีและงานเพลงต่อไป ถึงแม้ว่าวงจะโดนวิจารณ์เรื่อง romanticize ประเด็นโรคซึมเศร้าแบบที่เคยเป็นในอัลบั้มก่อนหน้าก็ตาม แต่มันก็ไม่แย่เสียทีเดียวในการรับรู้อยู่ว่าเรารู้สึกยังไง แค่การแสดงออกมันแตกต่างออกไปก็เท่านั้นเอง โมเมนต์ที่ผ่านมาในอดีตมันมีจุดงดงามของมัน พอจะเป็นไปได้มั้ยที่อยากจะสัมผัสโมเมนต์ดีๆเหล่านั้นอีกในปัจจุบัน
-ปิดท้ายด้วยเพลงที่วงแต่งเป็นเพลงแรกสุดอย่าง Thick Skull ในขณะที่ไตเติ้ลแทร็คคือเพลงที่วงแต่งเป็นเพลงสุดท้าย แต่ดันเป็นเพลงเปิดอัลบั้ม ช่างเป็นความบังเอิญที่ดันลงล็อคในแง่ของบทสรุปของ self-reflect ในแง่ของจุดยืนของวงที่พร้อมสั่งลาค่ายเก่า Atlantic Records การมีภูมิคุ้มกันในฐานะวงที่ผ่านดราม่ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ดราม่าวงแตกที่มากสุดในประวัติศาสตร์ดนตรี ดราม่าที่เฮย์ลี่ย์ถูกกล่าวหาว่าต้องการใช้วงเพียงเพื่อขับเคลื่อนชื่อเสียงของตัวเองล้วนๆ แต่นั่นก็ทำอะไรกับความหัวแข็งของเธอไม่ได้
-ท่วงทำนอง post-punk แซมด้วย shoegaze หลอนๆ การร้องด้วยอารมณ์เชือดเฉือนจริงจังอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นการปิดท้ายที่สมเกียรติและดีที่สุดเท่าที่วงเคยทำมาด้วย ภาคดนตรีขึงขังชวนขนลุก รวบรัดไม่มากความ จะปล่อยของทั้งทีไม่ต้องใส่ว๊ากเสมอไป เน้นที่อารมณ์อันเข้มข้นทางใดทางนึงจริงๆ นี่แหละวิถีอีโม
-หายไป 5 ปีกว่าพร้อมกับ deep conversation ที่น่าสนใจเยอะพอสมควร ถึงแม้ว่าเฮย์ลี่ย์จะใส่ภาษาเปรียบเปรยสลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆก็ตาม แต่นั่นก็ไม่เป็นอุปสรรคในการบดบังศักยภาพที่วงกำลังนำพาไปสู่มิติใหม่ที่ให้อะไรมากกว่าการเป็นวงป็อป-พังก์ที่เคยรุ่งเรืองในยุค Y2K แต่เป็นการแชร์อะไรใหม่ๆ อัพเดทชีวิต ประสบการณ์ความคิดความอ่านที่พวกท่านโตมาพร้อมๆกับพวกเขา รสชาติของวัยรุ่นมันผ่านไปเนิ่นนานแล้ว รสชาติของผู้ใหญ่กลับเป็นอะไรที่ขมกว่าและพร้อมจะอิ่มตัวได้ทุกเมื่อ
-สถานะของวงที่กระแสดรอปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมว่าพวกเขาทั้งสามคงไม่แคร์ในจุดๆนั้นแล้ว พวกเขาน่าจะแคร์ที่ระยะเวลาที่สามารถทำสิ่งๆนี้ต่อไปอีกนานเท่าไหร่เสียมากกว่า สบายใจได้หนึ่งเปราะว่าพวกเขาจะไม่ล้มเลิกแน่ๆหลังจากที่หมดสัญญากับค่าย มีแต่โรคซึมเศร้าเนี่ยแหละที่เป็นข้อจำกัด การต่อสู้กับภาวะจิตใจอันไม่ร่าเริงและเสี่ยงต่อภาวะ burnout กลับเป็นกำแพงขนาดใหญ่ที่จะฝ่าไป
-อย่างไรก็ดีผมสัมผัสถึงมิตรภาพที่แน่นแฟ้นมากขึ้นกว่าเดิม สมัยอัลบั้มที่แล้วผมก็ไม่แน่ใจว่าวงจะเปลี่ยนสมาชิกใหม่อีกรึเปล่าหว่า อย่างที่รู้กันอัลบั้มใหม่ สมาชิกเปลี่ยนใหม่แทบทุกอัลบั้ม สำหรับ era นี้พอมั่นใจขึ้นแล้วว่า พวกเขาโตพอที่จะเปิดใจและไม่คิดทะเลาะเหมือนเด็กน้อยอีกต่อไป (หวังว่าเซนส์ผมถูกต้องนะ) อีกอย่างพวกเขาแสวงหา input มาเติมมากขึ้นเรื่อยๆ ดีใจที่วงไม่กลับไปเห่อกลับไปทำอะไรที่ nostalgia จนเกินไป ไม่งั้นเกร่อเลย
-ยากเกินที่จะคาดเดาเหมือนกันว่าคราวต่อไปวงจะงัดไม้อะไรมานำเสนอ ยังคงเชื่อมั่นในความคิดแล้วคิดอีกแล้วได้ผลลัพธ์ที่สอดรับต้องกัน เห็นได้จากการเชื่อมเพลงที่ลำดับความคิดความอ่านได้อย่างสมเหตุสมผลต่อเนื่อง มวลรวมความรู้สึกที่ได้จึงหนักแน่น ตอบโจทย์ความรู้สึกที่ตกตะกอนมาจากการอยู่กับตัวเองจนรู้ซึ้งถึงธาตุแท้ในแบบที่ไม่ต้องพิสูจน์หรือตอกย้ำคาแรคเตอร์ของ Paramore อีกต่อไป
เหตุผลเหล่านี้คงหนักแน่นพอ
Top Tracks : This Is Why, The News, Running Out of Time, Big Man Little Dignity, You First, Crave, Thick Skull
Give 8/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
หากคุณสนใจติดต่อ tie-in โฆษณาสินค้าและบริการบนโพสต์รีวิวอัลบั้มของเพจที่มีผู้ติดตามมากกว่า 17,000 คน และใน Blockdit ที่มีผู้ติดตามกว่า 260 คนติดต่อใน inbox ของเพจ และส่งรายละเอียดมาที่ 💌 iamistyle.4real@gmail.com
โฆษณา