27 ก.พ. 2023 เวลา 05:12 • ไลฟ์สไตล์

ทำความเข้าใจการผัดวันประกันพรุ่ง แล้วคุณจะไม่กังวลกับเรื่องนี้อีกเลย

คุณเคยตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าวันนี้แหละที่ลดน้ำหนักอย่างจริงจัง แต่สุดท้ายก็จบลงที่หน้าจอทีวีเหมือนเดิม
มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมคุณถึงไม่ได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้ล่ะ เราเรียกสิ่งนี้ว่า “การผัดวันประกันพรุ่ง”
โดยในบทความนี้ได้ข้อมูลอ้างอิงมาจาก jamesclear.com ผู้เขียนหนังสือขายดีอย่าง Atomic Habits และเว็บไซต์สุขภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ healthline.com
หลังอ่านบทความนี้คุณจะรู้ว่าการผัดวันประกันพรุ่งนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ ผลเสียจากการผัดวันเป็นเวลานานเป็นอย่างไร บวกกับเทคนิควิธีการพิชิตการผัดวันประกันพรุ่ง และรวมถึงประโยชน์ของมันด้วย(มีด้วยเหรอ!?)
มาดูกันเลยว่าทำไมเราถึงต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้จริงๆจังๆ
.
มันคืออะไรและเกิดมาจากอะไร?
ผมจะเริ่มจากความหมายของมันก่อน การผัดวันประกันพรุ่งคือพฤติกรรมที่มีแนวโน้มที่จะชะลอหรือหลีกเลี่ยงการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ส่งผลต่อไม่ด้านใดด้านหนึ่งของชีวิต มักเป็นการกระทำที่ต้องใช้ความพยายามมากหรือให้ความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตัวเรา จนอาจส่งผลเสียต่อชีวิตด้านต่างๆของเราได้
แต่นั่นไม่ใช่ความผิดปกติ การผัดวันประกันพรุ่งเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์อย่างแท้จริง มันถูกฝังอยู่สมองเราตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษแล้ว
ขอย้อนกลับไปถึงมนุษย์ยุคแรกๆ การที่เราจะมีชีวิตรอดนั้นจำเป็นต้องทำตาม “ความต้องการ” ในขณะนั้นๆ เช่น เมื่อกระหายน้ำ⇒ไปดื่มน้ำ, เมื่อหิว⇒ออกไปหาอะไรกิน เมื่อมนุษย์ได้ทำตามความต้องการของตัวเองสำเร็จ พวกเขาจะรู้สึกดีจากโดพามีนที่หลั่งออกมาและมีแนวโน้มจะทำอีกในอนาคต นี่เป็นที่มาของนิสัยพื้นฐานในปัจจุบัน เราเรียกพฤติกรรมเหล่านี้ว่า “พฤติกรรมที่ส่งผลในทันที(Immediate Return Environment)”
.
เราไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรอ
เป็นเวลากว่า 2 แสนปีที่มนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลกและใช้ชีวิตเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ไปวันๆ จนเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี้เทคโนโลยีได้พัฒนาก้าวไกลจนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่(Modern) ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ความเชื่อ สิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ “พฤติกรรมที่ส่งผลในภายหลัง(Delayed Return Environment)” มีมากขึ้น
ไม่ว่าจะการขัดเกลาฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มค่าแรง การศึกษาเพื่อทำธุรกิจ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้รูปร่างที่กำยำ ถึงแม้ทุกอย่างในยุคสมัยใหม่จะดูดีล้ำสมัยไปมาก แต่สมองของเรายังคงเหมือนกับเมื่อ 2 แสนปีไม่มีผิด
ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีสิ่งดึงดูดใจมากมาย ยิ่งส่งเสริมให้เราทำพฤติกรรมที่ส่งผลในทันทีมากขึ้นเพราะมันมอบ “ความสุข” ให้ได้ในทันที ถ้าหากเราต้องเลือกระหว่างได้ตอนนี้กับได้ทีหลัง ถึงแม้สมองเราจะคิดวิเคราะห์อย่างละเอียดเพียงใด แต่สัญชาตญาณในจิตใจก็จะเลือกผลที่ได้ตอนนี้อยู่ดี
เราจึงมักเห็นคนมากมายใช้ชีวิตเพื่อตอบสนองความสุขของตัวเองเต็มไปหมด เช่น ไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรือกินของหวานได้ไม่จำกัด แต่เนื่องจากยุคนี้ไม่ใช่ยุคที่แค่หิวแล้วก็กินแล้ว การสนใจแต่พฤติกรรมที่ส่งผลในทันทีอาจก่อนผลเสียแทน
แม้มนุษย์จะชอบพฤติกรรมที่ส่งผลในทันทีก็จริง แต่พฤติกรรมที่ส่งผลในภายหลังก็ให้ประโยชน์ในระยะยาวมากกว่า และนี่ก็เป็นหนึ่งในจุดสำคัญที่ทำให้มนุษย์เราครองโลกมาถึงทุกวันนี้
พูดเรื่องประวัติศาสตร์มาเยอะล่ะ ขอผมกลับเข้าประเด็นหลักเลยแล้วกัน
.
ตัวเราในปัจจุบันและในอนาคต
เมื่อเราตั้งเป้าหมายบางอย่าง เราจะสร้างตัวตนขึ้นมา 2 ตัวตนคือตัวเราในปัจจุบันและตัวเราในอนาคต ตัวเราในอนาคตคือภาพวาดที่เราอยากให้ตัวเองเป็นในวันข้างหน้า(หรือหมายถึงเป็นรางวัลในระยะยาว)
โดยตัวเราในอนาคตจะคิดว่าทำเรื่องไหนถึงจะส่งผลดีบ้าง ทำแบบไหนถึงจะเป็นตัวเราในอนาคตได้และวางแผนโครงร่างต่างๆไว้อย่างสวยงาม แต่คนที่จะทำหรือไม่ทีอีกทีก็คือตัวเราในปัจจุบันนี่แหละ
ตัวเราในปัจจุบันจะสนเรื่องในอนาคตอย่างจริงๆไหมล่ะ คำตอบคือไม่ มีหลายครั้งแน่ๆที่เราไม่ทำตามสิ่งที่ตัวเราในอนาคตวางไว้แล้วไปทำสิ่งที่ตัวเราในปัจจุบันต้องการแทน อย่างเช่น เราวางไว้ว่าในอนาคตอยากสอบผ่านคณิตศาสตร์ เราเลยวางแผนจะฝึกทำโจทย์ทุกวัน แต่ตัวเราในปัจจุบันกลับไม่อยากการฝึกทำโจทย์เลยเลือกดูหนังแทน ถึงจะรู้ว่ามันอาจทำให้สอบคณิตตกเลยก็ได้
.
ผลเสียที่ไม่ได้มีแค่การงาน
เมื่อการผัดวันประกันพรุ่งมันทำให้เราทำอะไรไม่เสร็จหรือล่าช้า ความกดดันและความเครียดจะถาโถมเข้ามาเมื่อรู้ว่าใกล้ถึงเส้นตาย เราต้องเร่งทำเพื่อให้ทันเสร็จและผลงานที่ได้ออกมาก็มักจะคุณภาพต่ำจนอาจมีปัญหาต่อการงานและความน่าเชื่อถือได้
หากในเรื่องของความสัมพันธ์การที่เราผิดนัดหรือไม่ทำตามที่พูดไว้ก็ส่งผลต่อความเชื่อใจและความเคารพอีก แต่เรื่องนอกกายก็ไม่ใช่แค่เรื่องเดียว
หลายงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการผัดวันประกันพรุ่งอย่างยาวนานจะทำให้เกิด:
- ความเครียด
- ความกังวล
- ความเศร้า
- ความรู้สึกผิด
- การด้อยค่าในตัวเอง
- ความไม่มั่นคง
- อาการหมดไฟ
- ความขัดแย้งในความสัมพันธ์
- ปัญหาสุขภาพ
1
การผัดวันประกันพรุ่งอาจทำให้เรามีความสุขในขณะนั้นก็จริง แต่หากเรายังคงทำพฤติกรรมนี้เป็นเวลานาน มันจะส่งผลเสียในระยะยาวได้อย่างมหาศาลเลยล่ะ
.
การเริ่มต้นมันยากเสมอ
จาก jamesclear.com/procrastination
จากที่เห็นในภาพ ความเจ็บปวด(Pain)ทางซ้ายจะมากกว่าทางขวา และจะขึ้นสูงสุดตรงการกระทำ(Action Line) จากนั้นจะลดลงตามกาลเวลา(Time) บอกได้ว่าการที่จะเริ่มอะไรบางอย่างมันจะสร้างความเจ็บปวดในจิตใจอย่างมาก แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆความเจ็บปวดจะน้อยลงไปเอง ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่งานแต่มันอยู่ที่การเริ่มทำงานต่างหาก
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วผมเลยเตรียมวิธีที่จะทำให้คุณเอาชนะการเริ่มต้นที่แสนเจ็บปวดนี้ และก้าวข้ามการผัดวันประกันพรุ่งได้อย่างง่ายดายมาเสนอ
.
รับมือกับการผัดวันประกันพรุ่ง
นี่ไม่ใช่ step by step แต่เป็นการรวมวิธีและกุญแจสำคัญต่างๆในการเอาชนะการผัดวันประกันพรุ่ง มีทั้งหมด 5 ข้อหลักๆ ที่ให้คุณลองพิจารณา
1. เริ่มจากปรับความคิดตัวเองก่อน
ก่อนจะไปถึงเทคนิควิธีการอะไร ผมอยากให้ลองเริ่มที่ความคิดของเราก่อนนะครับ
- ให้อภัยตัวเอง
หากคุณผัดวันมาอย่างยาวนาน ผมอยากจะบอกว่ามันไม่เป็นอะไรเลยจริงๆ คุณไม่จำเป็นต้องโทษตัวเองกับการที่คุณควบคุมตัวเองไม่ได้ ยิ่งคุณโทษตัวเองมากเท่าไรคุณก็ยิ่งหลุดออกจากวงจรผัดวันได้ยากขึ้นเท่านั้น
- มองมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้น
ถ้าคุณคิดว่าถ้าทำไปต้องโดนด่าแน่ๆ ต้องโดนวิจารณ์แน่ๆ คุณลองเปลี่ยนมุมมองเป็นถ้าฉันถูกวิจารณ์ ฉันจะสามารถเอาคำเหล่านั้นมาพัฒนางานต่อไปได้
- ลดมาตรฐานของตัวเองลงสักนิด
ถ้าคุณคือพวกเพอร์เฟ็ค ข้อนี้น่าจะเหมาะกับคุณเลยทีเดียว อยากจะให้รู้ไว้ว่าเราคือมนุษย์ เราย่อมมีความผิดพลาด เราไม่มีทางสมบูรณ์แบบ ฉะนั้นถ้าคุณกังวลว่าสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่มันไม่ดีพอ อยากให้ลองชมสิ่งเล็กๆน้อยๆที่อาจมองข้ามไปดู คุณอาจเห็นค่าของงานนั้นมากขึ้น
2. ให้รางวัลต่อการกระทำที่ดีและทำโทษต่อการกระทำที่ไม่ดีให้เห็นผลเร็วขึ้น
1
เพราะผลกระทบจากสิ่งที่ทำมีผลต่อการกระทำของเราในอนาคต เช่น ถ้าคุณไปแตะกระทะร้อนๆ คุณจะสะดุ้งออกมาและจำไว้ว่าจะไม่ทำอีก หรือถ้าคุณทำงานได้ดีแล้วได้โบนัสเพิ่ม ก็จะมีแนวโน้มจะตั้งใจทำงานมากขึ้น
กับการผัดวันประกันพรุ่งก็เหมือนกัน คุณต้องได้รางวัลหากคุณทำพฤติกรรมที่ดีและต้องได้รับโทษเมื่อทำพฤติกรรมที่แย่
- เทคนิคมัดรวมสิ่งล่อใจ(Temptation Bundling)
คือเทคนิคการผูกพฤติกรรมที่อยากทำเข้ากับพฤติกรรมที่ต้องทำ เช่น คุณอยากออกกำลังกายแต่ก็อยากดูหนังไปด้วย คุณก็แค่ออกกำลังกายขณะดูหนังไปด้วยแค่นี้เอง(ดูลำบากดี555)
3. ลดแรงต้านของสิ่งที่ต้องทำและเพิ่มแรงต้านของสิ่งที่ก่อให้เกิดการผัดวัน
นั่นก็คือการทำสิ่งให้ง่ายขึ้นนั่นเอง
- กฎ 2 นาที(2-Minute Rule)
คือการแตกพฤติกรรมออกให้สามารถทำได้สำเร็จภายใน 2 นาที เช่น จากตั้งเป้าว่าจะเขียนบทความ 1 บทความ ⇒ เปิดโปรแกรมเขียนบทความขึ้นมา
4. หาสิ่งเตือนใจ
คือการหาสิ่งของบางอย่างหรืออะไรก็ได้ที่ทำให้เรานึกถึงเรื่องที่ต้องทำ
- กลยุทธ์คลิปหนีบกระดาษ (Paper Clip Strategy)
เริ่มจากนำกล่อง 2 กล่องมาวางไว้ข้างๆกัน แล้วเทคลิปหนีบกระดาษ(ที่จริงแล้วจะอะไรก็ได้ที่ใส่พอดีกล่อง) ลงใน 1 กล่อง แล้วเมื่อเราทำกิจสำเร็จให้ย้ายคลิปจากอีกกล่องไปยังกล่องที่ว่างอยู่ และทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนคลิปในกล่องแรกจะหมด
มักจะใช้เทคนิคโพโมโดโร(Pomodoro Technique) ควบคู่ไปด้วย คือเมื่อเราโฟกัสงานถึงเวลาที่กำหนด ให้ย้ายคลิปไปอีกกล่อง
- Seinfeld Strategy
คลิปหนีบกระดาษมีข้อจำกัดนึง คือเมื่อคุณเริ่มวันใหม่ก็ต้องเริ่มจาก 0 เสมอ แต่ Seinfeld Strategy จะมาช่วยในจุดนี้ วิธีคือให้คุณหาปฏิทินมาแขวนไว้ในจุดที่มองเห็นง่าย เมื่อทำกิจสำเร็จให้กากบาทในวันนั้น และเมื่อคุณทำติดต่อกันเป็นเวลานานจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “โซ่” ขึ้น(คือการกากบาทที่ต่อเนื่องกัน)
หน้าที่เดียวของเราก็คือ การอย่าทำให้โซ่นั้นขาดก็พอ เป็นกลยุทธ์ที่รักษาความสม่ำเสมอได้เป็นอย่างดี
5. รู้จักการปฏิเสธ
คุณต้องรู้ว่าอะไรที่จำเป็นและไม่จำเป็นต่อแผนการ เลือกที่จะปฎิเสธกับสิ่งที่ไม่ได้ช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายได้ เช่น ถ้าคุณจะลดน้ำหนัก คุณต้องปฏิเสธชาบูหมูทะทั้งหมดก่อน
.
ด้านดีของการผัดวัน
การผัดวันประกันพรุ่งเองก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน(มั้ง) เราเรียกการผัดวันเหล่านี้ว่า Productive Procrastination เป็นการผัดวันโดยที่ให้ผล(อาจจะ)ดีตามมา อย่างถ้าเราขี้เกียจทำงานแล้วออกไปเดินเล่น เข้าโซเชียลสักเล็กน้อย จะส่งผลให้สมองปลอดโปร่งและมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น แล้วสามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หรือในช่วงเวลาที่ใกล้ถึงกำหนดส่งงาน เราจะมีพลังมาจากไหนไม่รู้สั่งให้เราต้องทำงานให้เสร็จ เคยสังเกตดูไหมครับ? นั่นคือพลังแห่งเดดไลน์! ONE NIGHT MIRACLE!!! เมื่อรับรู้ถึงความอันตรายสมองเราจะหลั่งสารอะดรีนาลีนออกมาทำให้เราตื่นตัว ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเลยทีเดียว (แต่ผมคิดว่าคงไม่ใช่เรื่องดีในระยะยาวหรอกนะครับ555)
.
บทสรุป
สรุปแล้วการผัดวันประกันพรุ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ทำให้เราเลือกความสุขในปัจจุบันมากกว่า แต่หากมัวแต่สนใจความสุขในปัจจุบัน ในอนาคตเราอาจจะต้องลำบากก็เป็นได้
ดังนั้นการเอาชนะสัญชาตญาณในตัวเราจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆ จึงจำเป็นต้องเข้าใจเหตุผลของการมีอยู่ของมันอย่างชัดๆ และรวมถึงมีเทคนิควิธีการต่างๆ ที่ช่วยให้เราเอาชนะการผัดวันได้ด้วย ถึงแม้มันอาจจะมีข้อดีอยู่บ้าง แต่ยังไงในระยะยาวแล้วก็ยังคงเป็นผลเสียอยู่ดี
อีกเรื่องนึงคือสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา ถึงเราจะคิดว่าตัวเองเป็นตัวเองมากแค่ไหน แต่หากสภาพแวดล้อมทำการผัดวันประกันพรุ่งจนเป็นนิสัยแล้ว เราเองจะเป็นรายต่อไป
โฆษณา