11 มี.ค. 2023 เวลา 05:00 • ไลฟ์สไตล์

ฮาวทูรับมือภาวะ ‘เห็นใจคนอื่นจนเหนื่อย’ ทำอย่างไร?

เห็นใจคนอื่นน่ะดี แต่บางทีก็เหนื่อย! ฮาวทูรับมือภาวะ ‘เห็นใจคนอื่นจนเหนื่อย’ ทำอย่างไร? เมื่อการเป็น #ที่ปรึกษา ทำให้เหนื่อยล้าจากการเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้จริง! โดยภาวะดังกล่าวเรียกว่า #Compassion Fatigue
หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ, ผู้จัดการ, หัวหน้างาน อาจเคยรู้สึกว่า “ความเห็นอกเห็นใจ” ของคุณเริ่มลดลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้คุณเคยมีพลังที่จะสนับสนุนทีม ช่วยรับฟังปัญหาของแต่ละคน และทำให้พวกเขาก้าวผ่านปัญหาและอุปสรรคในการทำงานไปได้ แต่แล้ววันหนึ่งพลังงานที่ดีเหล่านั้นกลับค่อยๆ หมดไป ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
จริงๆ แล้วการช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังเจ็บปวด หรือให้คำปรึกษาคนอื่น ถือเป็นการตอบสนองที่ดีทางสังคม แต่หากต้องทำเป็นระยะเวลานานๆ สะสมต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้ให้คำปรึกษาได้ ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทั้งทางอารมณ์และทางจิตใจ
โดยภาวะดังกล่าวเรียกว่า “Compassion Fatigue” หรือ ภาวะ “เหนื่อยล้าจากการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น” โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นคนคอย #ให้คำปรึกษาผู้อื่น เช่น แพทย์, นักบำบัด, ผู้ดูแลผู้ป่วย, ผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาด้านต่างๆ ฯลฯ
สำหรับอาการที่บ่งชี้ถึงภาวะ “เห็นใจคนอื่นจนเหนื่อย” ได้แก่ มีความเหนื่อยล้าสะสม, มีอารมณ์ด้านลบ, การสูญเสียความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น, เครียด, นอนไม่หลับ
Heidi Allespach นักจิตวิทยา จาก Miller School of Medicine แห่งมหาวิทยาลัยไมอามี อธิบายว่า ผู้ที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาคนอื่น บางครั้งสามารถรู้สึกมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นมากเกินไป จนเมื่อแบกรับภาระทางอารมณ์ไม่ไหว ก็จะพบว่าตนเองเริ่มมึนงงกับความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย
โดยเฉพาะในช่วงโควิดระบาดหนัก 2-3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าภาวะเห็นใจคนอื่นจนเหนื่อย ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะ กับแพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ หรือนักบำบัดเท่านั้น แต่พบว่าเกิดขึ้นบ่อยในสังคมการทำงานของ #พนักงานออฟฟิศ ทั่วไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น
📌พนักงานขอให้ผู้นำเพิ่มความเห็นอกเห็นใจเป็น 2 เท่า
เพื่อสนับสนุนสมาชิกในทีมให้ฟื้นตัวจากความเศร้าโศก ความสูญเสีย และสุขภาพจิตที่ตกต่ำในช่วงโควิด (บางคนสูญเสียพ่อแม่/ญาติ/เพื่อน จากโควิด-19) โดยพวกเขามักจะถูกขอร้องให้มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น และแบกรับภาวะทางอารมณ์รูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน (เช่น ลูกน้องขอลางานเพื่อทำใจเรื่องการสูญเสีย)
ในขณะเดียวกัน ผู้นำก็ต้องรับมือกับความไม่แน่นอนของธุรกิจในยุคโควิดที่มีความผันผวนมากเป็นพิเศษ ต้องมีภาระงานที่มากขึ้นโดยใช้เวลาน้อยลง เหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจของหัวหน้างาน
📌พนักงานคาดหวังต่อผู้นำสูง
แม้ปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาดโควิดได้บรรเทาเบาบางลงแล้ว แต่พนักงานก็ยังมีความคาดหวังสูงกับผู้นำว่าจะสามารถเข้าใจและดูแลความต้องการของพวกเขาได้ เช่น พวกเขาคาดหวังให้ผู้จัดการที่มีความเห็นอกเห็นใจ และสนับสนุนให้สถานที่ทำงานเอื้อต่อสุขภาพจิตดีและยั่งยืน และพร้อมที่จะลาออกเมื่อความคาดหวังเหล่านี้ไม่ได้รับการเติมเต็ม
อย่างไรก็ตาม หากองค์กรและผู้นำสามารถตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานได้ เรื่องภาวะเห็นใจจนเหนื่อยก็คงไม่เป็นปัญหาในระยะยาว แต่ถ้ารู้สึกว่าการเรียกร้องให้เห็นใจมีมากเกินไป จนเกินกว่าที่ผู้นำอย่างคุณจะรับไหว ก็มีวิธีรับมือและป้องกันไม่ให้ภาวะ Compassion Fatigue เกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยมีคำแนะนำดังนี้
💰ดูแลตนเองเริ่มต้นจากการ “นอนหลับ” ให้เพียงพอ
การดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เช่น เปลี่ยนเวลานอนเร็วขึ้น อาจปิดไฟเร็วขึ้น 15 นาที หรือย้ายโทรศัพท์จากโต๊ะข้างเตียงไปไว้ไกลๆ เป็นการหยุดตัวเองไม่ให้เผลอเล่นมือถือยาวๆ จนดึกดื่น เพื่อให้นอนหลับพักผ่อนได้มากขึ้น นอกจากนี้ก็ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
💰พักผ่อนด้วยการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่งาน
ใช้เวลากับคนที่คุณห่วงใย เช่น ไปทานอาหารกับครอบครัว ไปแฮงเอาท์กับเพื่อนสนิท ทำงานอดิเรกที่คุณชื่นชอบ และการไปเที่ยวพักผ่อนบ้างเป็นครั้งคราว
💰พักผ่อนระหว่างวันทำงานก็เป็นสิ่งที่ทำได้!
มีวิธีเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณสามารถดูแลตัวเองได้แม้ในวันทำงานที่ยุ่งที่สุด เช่น แบ่งเวลาออกไปเดินเล่นข้างนอกในมื้อเที่ยง หรือการพัก 10 นาที ระหว่างประชุมยาวๆ การแบ่งเวลาพักผ่อนสั้นๆ เหล่านี้ สามารถช่วยเติมพลังระหว่างวันและจัดการความเครียดให้ลดลงได้ คล้ายกับการฝากเงินในบัญชีธนาคาร การดูแลตนเองก็สามารถค่อยๆ เติมได้อย่างยืดหยุ่นเช่นกัน
💰ฝึกความเห็นอกเห็นใจตนเอง
ความเห็นอกเห็นใจตนเองเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อคุณพบกับความพ่ายแพ้หรือความท้าทาย นี่เป็นทักษะง่ายๆ แต่กลับทำยากสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะมักเข้าใจผิดไปว่าการเห็นใจตัวเอง เป็นเรื่องของความเอาแต่ใจ ทำให้อ่อนแอ และบั่นทอนความสำเร็จของตน
แต่มีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า มันไม่เป็นเช่นนั้น! ในทางกลับกันความเห็นอกเห็นใจตนเองทำให้คุณเป็นผู้นำที่ดีขึ้น มีความฉลาดทางอารมณ์ที่สูงขึ้น และสามารถสงบสติอารมณ์ภายใต้ความกดดันได้ดี ลดความเครียด ลดความเสี่ยงซึมเศร้า อีกทั้งยังช่วยให้คุณรับมือกับข้อเรียกร้องต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นของการเป็นผู้นำในยุคปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น
💰ต้องปกป้องอารมณ์และจิตใจของตนเอง
แม้ว่าการเห็นอกเห็นใจจะช่วยให้คุณเชื่อมต่อกับผู้อื่นได้ และการที่จะไม่แสดงความเห็นใจคนขณะที่พวกเขาเจ็บปวดเป็นเรื่องทำได้ยาก แต่ก็มีแนวโน้มที่คุณจะซึมซับเอาอารมณ์ด้านลบของพวกเขาเข้ามาด้วย ยืนยันจากงานวิจัยเรื่อง “การปฏิบัติของผู้นำเพื่อตอบโต้การระบายในที่ทำงาน” ที่เผยแพร่ใน Personnel Psychology ระบุว่า
“การฟังคนอื่นระบายในที่ทำงาน ไม่เพียงแต่นำไปสู่อารมณ์ด้านลบในตัวผู้นำที่เป็นฝ่ายรับเท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสที่พวกเขาจะปฏิบัติต่อผู้อื่นในทางที่ผิดในภายหลังด้วย”
ดังนั้น คำแนะนำคือ เมื่อผู้อื่นแบ่งปันความเจ็บปวดและปัญหากับคุณ ให้มุ่งเน้นที่การค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างจริงจังเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ให้ดียิ่งขึ้น โดยตัดเรื่องอารมณ์ออกไป
การตอบสนองแบบนี้ จะช่วยป้องกันคุณจากผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุภาพจิตใจได้ เพราะมันนำไปสู่การรับรู้ความเห็นอกเห็นใจในเชิงเหตุผล มากกว่าการมีอารมณ์ร่วมไปกับพวกเขาด้วยนั่นเอง
อ้างอิง : Harvard Business review https://bit.ly/3IwHXge
Harvard Business review2 https://bit.ly/3Z3r044
Personnel Psychology https://bit.ly/41tY9aM
โฆษณา