Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
THE STATES TIMES
•
ติดตาม
28 ก.พ. 2023 เวลา 07:25 • ข่าว
สังคมยังสงสัย!!
‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ภัยทันสมัยในม่านควัน หรือวาทกรรมที่ถูกปั้นเพื่อให้คนกลัว
“...แวดวงนักกลืนควันในอดีต เวลาจุดบุหรี่สูบก็ต้องสูบให้หมดมวน แต่บุหรี่ไฟฟ้าสูบคำสองคำก็พอ ทำให้ลดการสูบลง” คือคำพูดของเด็กหนุ่มใกล้ตัวที่คุยกับผม ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ได้รับความนิยมอย่างสูงในแวดวงนักกลืนควันวันนี้ ทั้งที่รู้อยู่เต็มบอกว่ามันก็มีอันตรายไม่แตกต่างจากบุหรี่ (จริง)
บรรพบุรุษของบุหรี่รุ่นแรกมีหน้าตาค่อนไปทางซิการ์ คือ มวนโตและห่อพัน (ใบยาสูบ) ด้วยใบยา (อีกที) และดูเหมือนจะมีมาก่อนในดินแดนเม็กซิโกและอเมริกากลาง ราวศตวรรษที่ 9 ซึ่งก็คือบริเวณที่ชาวมายาและแอซเท็กเริ่มสูบยา รวมถึงใบยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทกับพิธีกรรมทางศาสนา โดยพบหลักฐานภาพวาดบนเครื่องปั้นดินเผาและภาพแกะสลักบนวิหาร เป็นภาพนักบวชหรือเทพเจ้ากำลังสูบบุหรี่ ซึ่งทั้งซิการ์กับบุหรี่คือ วัฒนธรรมของชนชาวพื้นเมืองแถบแคริบเบียน, เม็กซิโก, อเมริกากลาง และใต้ ก่อนเผยแพร่ไปทั่วโลกเพียงไม่กี่ทศวรรษ
“สูบบุหรี่แก้ขวย ช่วยเข้าสังคม” คือคำโฆษณาจากรัฐบาลยุคมาลานำไทย เชิญชวนให้คนสูบบุหรี่ (ซึ่งเป็นกิจการของรัฐ) นัยว่าช่วยพัฒนาประเทศทางอ้อม ด้วยภาพลักษณ์ของการสูบบุหรี่ยังดูโก้เก๋ ทันสมัย มีอารยะ
คนไทยโบราณไม่ว่าหญิงหรือชายจะมีของติดตัวกันแทบทุกคน สำหรับสตรีไทย คือ ‘กระทายหมาก’ หรือ ‘เชี่ยนหมาก’ ส่วนของบุรุษก็คือ ‘กลักบุหรี่’ หรือ ‘กระป๋องใส่บุหรี่’ ที่ยังไม่ได้มวนพร้อมสูบ สมัยนั้นเวลาจะสูบบุหรี่สักที ก็ต้องนั่งมวนต่อมวน แล้วจุดด้วยไฟที่เกิดจากการตี ‘หินเหล็กไฟ’ จนเกิดประกายติดใส่นุ่นในหลอดที่มีพร้อมอยู่ข้างกาย จึงจะได้สูบบุหรี่สำเร็จได้ดังใจนึก
บุหรี่หรือยาสูบ เคยถูกใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนควบคู่กับ ‘หมาก - พลู’ โดยเห็นได้จากคำกล่าว “หมากพลู บุหรี่” รับแขกบนชานเรือนของตน ก่อนการแพทย์และสาธารณสุขจะล่วงรู้ถึงภัยร้ายของควันบุหรี่ จนกระทั่งสังคมก็เริ่มเสื่อมความนิยมต่อ ‘บุหรี่’ ลงเป็นลำดับ
แต่หากดูตามสถิติ ‘นักสูบหน้าใหม่’ ก็ยังเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยหันหาสิ่งที่เรียกว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ มากขึ้น ๆ และด้วยความเชื่อว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ มีภัยต่อร่างกายน้อยกว่า ‘บุหรี่’ จริง
‘บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์’ หรือ ‘อี - ซิกาแรต’ (E - Cigarette) หรือบ้านเราเรียก ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ นั้นถูกพัฒนาขึ้นในประเทศจีนราวปี พ.ศ. 2546 โดย ‘Hon Lik’ ผู้ซึ่งสูญเสียบิดาจากโรคมะเร็งปอด (เพราะสูบบุหรี่) ต่อมาในปี 2549 ได้แพร่หลายสู่สหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป โดยได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีกลิ่นควัน สามารถสูบได้ทุกหนทุกแห่ง ค่าใช้จ่ายถูกกว่าการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ยังมีคำกล่าวอ้างสรรพคุณว่า “สูบแล้วไม่เป็นอันตรายจากโรคมะเร็ง” ช่วงแรก ๆ อีกด้วย
อย่างไรเสีย เกือบสองทศวรรษนับแต่ถือกำเนิด ‘บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์’ ยังคงมีสถานะเป็น ‘ผลิตภัณฑ์สีเทา’ ที่สังคมยังถกเถียงกันอยู่ว่า คุณ (หรือโทษ) ตามคำ โฆษณานั้นจริงหรือเท็จ เพราะผู้ผลิตล้วนกล่าวอ้าง “...บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ไม่มีอันตรายต่อผู้สูบ หรือผู้คนที่อยู่รอบข้าง เพราะใช้กลไกการผลิตไอระเหย ซึ่งปล่อยควันเทียม แถมบางรุ่นยังไร้นิโคติน” แต่สำหรับเรื่องนี้กลับได้รับการคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ โดยมีผลพิสูจน์จากตัวอย่างยี่ห้อชั้นนำว่า พบทั้งนิโคติน และสารก่อมะเร็ง
ทุกวันนี้ ‘บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์’ หรือ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ยังไม่ได้รับการทดสอบว่า ปลอดภัยพอสำหรับนักสูบหรือไม่ แต่ด้วยการตลาดแล้ว ยอดขายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกกลับสวนทางกับความห่วงใย เช่น ในปี พ.ศ. 2551 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่อุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับช่วยในการเลิกสูบบุหรี่ และสำหรับประเทศไทยนั้น
ผู้ครอบครอง ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ถือว่าผิดกฎหมาย โดยมีความผิดโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากลักลอบนำเข้าก็จะรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เรื่อง: พรชัย นวการพิศุทธิ์
บันทึก
6
1
6
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย