28 ก.พ. 2023 เวลา 09:30 • ข่าว

หมอสาวเล่า จับพลัดจับผลู เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดดุ-โตเร็ว

หมอสาวแชร์ประสบการณ์ จับพลัดจับผลู เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่ดุ-โตเร็ว หลังคลำเจอก้อนที่คอ 6 เดือนกับการรักษาจนโรคเริ่มสงบ
วันที่ 28 ก.พ. 66 โลกโซเชียลมีการแชร์เรื่องราวของคุณหมอลูกหมู พญ.ณัฐรดา คชนันทน์ เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ "พักก้อน" ซึ่งได้ทำเพจขึ้นมา เพื่อโพสต์เล่าประสบการณ์ในมุมของหมอที่จับพลัดจับผลูเป็นคนไข้แบบงงๆ ให้ได้อ่าน
1
โดยระบุว่า เริ่มชีวิตในฐานะคนไข้อย่างไม่ได้ตั้งใจ ปลายเดือนเมษายน ปี 2022 หลังวันเกิดครบรอบ 27 ปี 2 เดือน จะพูดให้ชัดกว่านั้นคือ "คนไข้มะเร็ง"
1
เรื่องมันมีอยู่ว่า..วันดีคืนดีของชีวิตแพทย์ใช้ทุนปีสอง เราคลำได้ก้อนที่คอ โตเร็วจนส่องกระจกก็เห็นว่ามีก้อนปูดๆ ออกมา ไม่เจ็บ ไม่บวม ไม่แดง
สำหรับพวกเราชาวเมดดิซีนแล้ว ก้อนที่โตเร็วและไม่เจ็บ ดูไม่น่าจะเป็นก้อนที่เป็นมิตรได้เลย ก็เลยเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ
เรายังจำความรู้สึกที่เหมือนพื้นโลกที่เราเหยียบอยู่กำลังแตกออก เหมือนกับว่าเราจะหล่นวูบลงไปในช่องว่างที่มองไม่เห็น ตอนที่เราอ่านผลชิ้นเนื้อของตัวเองบนจอคอมพิวเตอร์
"Diffuse large B-cell lymphoma"
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งที่ดุและโตเร็ว ใน 1 ปี จะมี 6,000 คนทั่วโลกที่ถูกวินิจฉัยด้วยโรคนี้ ใน 8,000 ล้านคน เราอยู่ในกลุ่ม 6,000 คนที่ถูกเลือก บางทีเราก็สงสัยว่าทำไมชีวิตที่ผ่านมาถึงรู้สึกหนักอกหนักใจจังเลยนะ
ทุกอย่างเข้าใจได้ตอนเห็นผล CT scan เพื่อประเมินระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองก่อนเริ่มรักษา มีก้อนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตรอยู่ในช่องทรวงอกของเรา อยู่ระหว่างปอดสองข้าง ใกล้ๆ กับหัวใจและพวงเส้นเลือดใหญ่ต่างๆ ที่รับเลือดเสียกลับเข้าหัวใจ และส่งเลือดดีออกไปเลี้ยงร่างกาย
เราถูกตามมาแอดมิตทันทีที่อาจารย์โรคเลือดเห็นผล CT scan คุณก้อนตัวดีโตจนไปกดเส้นเลือดใหญ่เราซะแล้ว อีกไม่ถึงสัปดาห์เราอาจจะหน้าบวม แขนบวม หายใจไม่ออก จากภาวะที่เรียกว่า "SVC syndrome"
และวันนั้นเป็นวันสุดท้ายที่เราได้ทำงานในฐานะหมอ โดยไม่มีใครรู้เลยว่าเราจะได้กลับมาอีกมั้ย ก็คำว่า "มะเร็ง" ทำให้ไม่มีใครกล้าพูดได้เต็มปากว่าเราจะได้กลับมา
6 เดือนผ่านไป คุณก้อนก็ทำให้เราได้พักผ่อน อยู่บ้านอย่างระมัดระวัง ไปรับยาเคมีบำบัดตามรอบ มีหน้าที่อย่างคือห้ามติดเชื้อใดๆ เด็ดขาด รับยาเคมีบำบัดให้ครบตรงเวลา และที่ทุกคนของ่ายๆ "อย่าตาย"
ในวันนี้เราได้ยาเคมีบำบัดครบแล้ว
การตรวจติดตามหลังรักษา อยู่ในสถานะโรคสงบ (in remission)
เราได้กลับมาทำงานเต็มเวลา ได้กลับมารักษาคนไข้ และได้เป็นว่าที่แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ ตามที่เคยฝันมาตลอดตั้งแต่เป็น นศพ. ปีห้า
นอกจากนี้ ยังบอกด้วยว่า "เดิมทีแล้วสำหรับเรามะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือ Lymphoma ก็เป็นแค่บทนึงในตำราเรียนที่จำได้บ้างไม่ได้บ้าง เป็นคำวินิจฉัยนึงของคนไข้ที่อยู่ในความดูแล (ซึ่งแผนการรักษาก็มาจาก Hematologist หรือ อายุรแพทย์โรคเลือด ซะส่วนใหญ่)
1
การเขียนออเดอร์ neutropenic diet, งดผลไม้เปลือกบางก็เป็นแค่ความเคยชินที่ทำให้สำหรับผู้ป่วยที่มารับเคมีบำบัด จนวันนึงคุณมะเร็งก็เข้ามาอยู่ในชีวิตเรา อยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน หายใจไปพร้อมกัน
หลายคนอาจจะสงสัยว่าในฐานะหมอ พอเราป่วยซะเองจะมีความคิดความรู้สึกต่างจากคนไข้ทั่วไปยังไงกันนะ?
สำหรับตัวเราเอง ไม่ต่างเลยค่ะ555 ออกจะกังวลมากกว่าคนไข้ทั่วไปด้วยซ้ำ ตลอดเวลา 6 เดือนที่ป่วยและรับยาเคมีบำบัดเต็มไปด้วยความกังวล เพราะเราเห็นมาตลอดว่าถ้าคนไข้มะเร็งได้ยาเคมีบำบัดแล้วมีการติดเชื้อแทรกซ้อน อาการจะรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป เพราะฉะนั้นเวลาจะกินอะไร หรือจะทำกิจกรรมอะไร เรามักจะคิดภาพตัวเองนอนซมให้ยาฆ่าเชื้อใน ICU อยู่บ่อยๆ
ตอนยังทำงานอยู่เราก็ไม่ต่างกับหมอหลายคนที่อยู่เวรห้องฉุกเฉิน แล้วเจอคนไข้ที่มาด้วยภาวะที่ไม่ได้ฉุกเฉินจริง
ในช่วง 6 เดือนนั้น คนไข้ที่มีคำนำหน้าว่าแพทย์หญิงคนนี้ได้เข้าห้องฉุกเฉิน 2 ครั้ง และไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงแก่ชีวิตทั้งสองครั้ง ครั้งแรกที่บ้านพาไปส่งเพราะเพลียมาก หน้ามืด วัดความดันได้ 60/30 (พอไปวัดที่ ER ปกติซะเฉยๆ)
ส่วนอีกครั้งคือ ท้องเสีย ปวดท้อง pain score 10/10 พอไปตรวจจริงก็ปกติดี เป็นแค่อาการลำไส้แปรปรวน และทั้งสองครั้งที่ไปห้องฉุกเฉินนั้นไม่มีเจตนาอื่นใด นอกจากกลัวตายเท่านั้นแหละ
1
การเป็นคนไข้ซะเองทำให้เราเข้าใจคนไข้มากขึ้น
- เข้าใจคนไข้ที่มาห้องฉุกเฉินตอนตีสาม เพราะท้องเสีย ปวดท้อง แค่โรคลำไส้อักเสบธรรมดาที่ไม่ฆ่าใคร แต่มันสามารถปวด pain score 10/10 ได้จริงๆ ไม่มีใครอยากเข้าห้องฉุกเฉินหรอกถ้าไม่กลัวตาย (ยกเว้นมาขอยาเดิมหรือขอใบรับรองแพทย์ตอนดึกๆ อันนั้นก็ยังไม่เข้าใจเหมือนเดิม)
- เข้าใจว่าผู้ป่วยมะเร็งทุกคนต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งและต้องการกำลังใจจากคนรอบข้างขนาดไหน การต่อสู้กับผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด การต้องระวังตัวเองตลอดเวลาไม่ให้ป่วย แต่ละวันมันไม่เคยง่ายเลย
- เข้าใจว่าทุกคำสั่งการรักษาที่เขียนไปมันส่งผลกระทบกับชีวิตคนไข้จริงๆ หลายๆอย่างมันง่ายกับคนเขียน แต่ลำบากคนทำ เคยไม่เข้าใจว่าทำไมคนไข้เบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ได้ถึงไม่ยอมฉีดยาอินซูลิน จนถึงวันที่ตัวเองโดนฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว (เข้าใต้ผิวหนังคล้ายอินซูลิน) ยังรู้สึกว่ามันเจ็บ และมันลำบากจริงๆ แหละ
แม้ว่าตอนนี้โรคจะสงบ กลับมาทำงานเป็นหมอเหมือนเดิมแล้ว สถานะคนไข้ก็ยังต้องติดตัวไปอีกหลายปี เพราะยังต้องเข้ารับการตรวจติดตามเป็นระยะ (แน่นอนว่าก็ยังกังวลเหมือนเดิมทุกครั้งแหละ555)
เราผ่านอะไรมาเยอะมากจริงๆ ค่ะ ทั้งประสบการณ์ที่ผมค่อยๆ ร่วงเป็นกระจุกจนหมดหัว ปวดกระดูกจนนอนร้องไห้ กินอาหารแล้วไม่รู้รสชาติจนยอมแพ้ที่จะกิน อ่อนเพลียมากจนเดินได้วันนึงไม่กี่ก้าว พอมาคิดจริงๆ ก็ไม่ใช่เราคนเดียวหรอกที่เคยต้องผ่านเรื่องแบบนี้มา
เรารู้สึกว่าตัวเองในฐานะหมอก็มีความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน เราเรียนรู้ที่จะมองคนไข้เป็นมากกว่างานที่ต้องทำให้เสร็จ มีหลายครั้งที่เราเลือกจะนั่งลงข้างเตียงคนไข้ที่เพิ่งรู้ว่าเป็นมะเร็งเพื่อพูดว่า "กินข้าวเยอะๆ นะคะ หมอรู้ว่ากินไม่อร่อยหรอก แต่ถ้าร่างกายเราแข็งแรง ผลการรักษาก็จะดีขึ้นนะ"
ไว้ครั้งหน้าจะมาเล่าประสบการณ์การรับมือกับการสูญเสียผม หรือการใช้ชีวิตกับ picc line (เส้นให้ยาเคมีบำบัด)โดยไม่ติดเชื้อให้ฟังกันนะคะ ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรง
คุณหมอลูกหมู ยังบอกด้วยว่า เพจนี้ตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่อบันทึกการเดินทางตลอดหกเดือนที่ตัวเองและคนรอบข้างได้ต่อสู้กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจนได้กลับมาใช้ชีวิตปกติอย่างแข็งแรง รวมถึงแชร์ประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่น่าจะเป็นปัญหาที่เจอได้บ่อยในผู้ป่วยที่ต้องรับยาเคมีบำบัด
สำหรับเพื่อนๆ พี่ๆ ป้าลุงตายาย ที่กำลังต่อสู้กับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง อยากได้กำลังใจในการรักษา ตัวเองยินดีที่จะตอบข้อความเท่าที่จะมีเวลาว่างเสมอ
"มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในผู้ป่วยแต่ละคนมีปัจจัยที่แตกต่างหลากหลายมาก วิธีการรักษาก็อาจจะแตกต่างกัน ถ้ามีคำถามเรื่องรายละเอียดการรักษา จะขออนุญาตให้ไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นเจ้าของไข้นะคะ".
ที่มาจาก เฟซบุ๊ก พักก้อน
โฆษณา