28 ก.พ. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ถอดบทเรียน สวิตเซอร์แลนด์สู้กับเงินเฟ้อสูงได้อย่างไร?

ในขณะที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับเงินเฟ้อสูง จนบางประเทศเงินเฟ้อแตะเลข 2 หลัก แต่มีอยู่ประเทศหนึ่งในยุโรป ที่สามารถหลีกหนีเงินเฟ้อสูงเสียดฟ้าได้
ประเทศนั้นคือ สวิตเซอร์แลนด์
ในปี 2022 เงินเฟ้อของสวิตเซอร์แลนด์ สูงที่สุดในรอบ 29 ปี แต่ก็สูงเพียง 3.5% เท่านั้น
เมื่อลองมาเทียบกับเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ
เงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงถึง 9.1%
เงินเฟ้อสหราชอาณาจักร 11.1%
เงินเฟ้อสหภาพยุโรป 10.6%
จะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อของสวิตเซอร์แลนด์อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเหล่านี้
1
ปัจจัยอะไร ถึงทำให้เงินเฟ้อของสวิตเซอร์แลนด์ไม่สูงเหมือนประเทศอื่นๆ?
#ฐานราคาสูงเป็นทุนเดิม
สวิตเซอร์แลนด์ เป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ด้วยตัวเลข GDP ต่อหัวที่สูงแซงหน้าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ อย่าง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเยอรมนี
สวิตเซอร์แลนด์ ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ด้วยค่าเฉลี่ยความมั่งคั่งอยู่ที่ 696,604 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อประชากรวัยทำงาน 1 คน และแน่นอนว่าเมื่อคนมีความมั่งคั่งเช่นนี้ ค่าครองชีพที่นี่ก็สูงเช่นกัน
ดังนั้นชาวสวิสจึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคามากนัก เนื่องจากพวกเขาใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งที่จำเป็น เช่น อาหารและที่อยู่อาศัย เป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่ไม่มีความจำเป็น
พูดง่ายๆ คือ คนสวิสส่วนใหญ่ค่อนข้างร่ำรวย สัดส่วนของค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหารต่อรายได้ครัวเรือน จึงไม่ได้มากเท่าประเทศอื่นๆ
#เงินฟรังก์สวิสที่มีเสถียรภาพ
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าของสวิตเซอร์แลนด์มีเสถียรภาพ ก็เนื่องมาจากเงินสกุลฟรังก์สวิสที่มีความแข็งแกร่ง
ในปี 2022 สกุลเงินฟรังก์สวิส มีมูลค่าขึ้นจนเกือบเทียบเท่ากับสกุลเงินยูโร ในขณะที่หลายๆ ประเทศค่าเงินท้องถิ่นอ่อนลงเนื่องจากการแข็งค่าอย่างมากของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินฟรังก์สวิสจึงเป็นเพียงไม่กี่สกุลเงินที่ยังทรงตัวอยู่ได้ ท่ามกลางความผันผวนในยุโรป
ซึ่งก็มาจากสถานะของเงินฟรังก์สวิส ถูกเปรียบเสมือนสกุลเงินที่หลบภัย หรือ safe haven ที่มีความผันผวนน้อยในทุกสภาวะตลาด เพราะเงินฟรังก์สวิสถูกหนุนด้วยทองคำ พันธบัตร และสินทรัพย์ทางการเงินจำนวนมาก ทำให้มั่นใจได้ว่าสกุลเงินฟรังก์สวิสจะยังคงมีเสถียรภาพ แม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความผันผวนก็ตาม
สิ่งนี้เองที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศสูงมาก
และเมื่อเจาะลึกลงไปในสินค้าที่นำเข้าและส่งออกหลักๆ จะพบว่าสวิตเซอร์แลนด์นำเข้าสินค้าและบริการหลักๆ จากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ทำให้เมื่อเงินฟรังก์สวิสมีมูลค่าสูงขึ้น ก็เสมือนกับคนสวิสได้ซื้อของในราคาถูกลง
ในขณะที่สินค้าและบริการที่ส่งออกหลักๆ เป็นของที่มีราคาสูง เช่น นาฬิกา และยา ซึ่งเป็นสินค้าที่ราคาไม่ผันผวนมากอยู่แล้ว
#อุปทานพลังงานที่มีความยืดหยุ่น
ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามในยูเครนที่ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นในปีที่ผ่านมาก แต่สวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
ก็เพราะว่าลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นภูเขา มีทะเลสาบถึง 1,500 แห่ง สวิตเซอร์แลนด์จึงพึ่งพาไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นหลัก มากกว่าพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและแก๊สธรรมชาติเหมือนประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในแถบยุโรป
และอีกอย่างหนึ่งคือ รัฐบาลเป็นผู้จัดหาอุปทานพลังงานในสวิตเซอร์แลนด์เป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้มีกฎการควบคุมราคาพลังงาน ราคาพลังงานจึงไม่ผันผวนมากตามตลาดภายนอก
#การควบคุมราคาสินค้าและบริการ
นอกจากราคาพลังงานแล้ว สวิตเซอร์แลนด์ยังมีการควบคุมราคาสินค้าและบริการ ทำให้ราคาอ่อนไหวต่อความผันผวนของเงินเฟ้อน้อยกว่า
ในสวิตเซอร์แลนด์ รายการสินค้าหลักๆ ที่มักจะถูกใช้วัดอัตราเงินเฟ้อ ประกอบด้วยอาหาร ที่อยู่อาศัย และการเดินทาง กว่า 30% ถูกควบคุมเพดานราคาเอาไว้
นอกจากนี้การตั้งกำแพงราคานำเข้าสินค้าเกษตรที่สูง ก็หมายถึงว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศอย่าง นม และชีส จะได้เปรียบในด้านราคา และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงราคาอาหารในตลาดโลกน้อยกว่า
ทั้งหมดนี้จึงทำให้สวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่สูงมากในปีที่ผ่านมา และคาดว่าในปีนี้ เงินเฟ้อคงจะลงมาอยู่ที่ค่าเฉลี่ย 2.4% ก่อนที่จะลดลงไปอยู่ที่ราวๆ 1.8% ในปี 2024 ซึ่งถึงแม้จะต่ำกว่าระดับเป้าหมาย 2% แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา