28 ก.พ. 2023 เวลา 14:45 • หนังสือ

ฉบับสุดท้าย

ในหน้าบ.ก. แถลงของนิตยสารลลนา ฉบับที่ 531 ปักษ์หลัง 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 บรรณาธิการได้ขึ้นต้นบทพูดคุยกับคนอ่านเอาไว้ว่า
‘บริษัท เนชั่น พับลิชชิ่ง กรุ๊ป ได้โอบอุ้มป้อนข้าวป้อนน้ำลลนามาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2529 นับเป็นเวลากว่าแปดปี
บัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะยกลูกนอกไส้ออกไปจากอก’
ใครที่เป็นแฟนนิตยสารเล่มนี้มาแต่อ้อนแต่ออก อ่านแล้วต้องมีจุกในอกกันบ้างไม่มากก็น้อย ควบคู่ไปกับอารมณ์ที่มีทั้งใจหาย เสียดาย แอบปนโล่งใจอยู่หน่อยๆ
นิตยสารลลนา เป็นตำนานของนิตยสารผู้หญิงอีกเล่มหนึ่งของเมืองไทย ที่ยังคงเป็นที่กล่าวขานถึงมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยความกลมกล่อมในการปรุงแต่ง ผสมผสานศาสตร์และศิลป์ สาระและความบันเทิง ความเก่าและใหม่ของโลกใบนี้เอาไว้ได้อย่างลงตัว
นิตยสารลลนาเล่มแรกหรือฉบับปฐมฤกษ์ ออกมาอวดโฉมเป็นครั้งแรกในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2516 ในราคา 7.50 บาท คำว่า 'ลลนา' นั้นมีความหมายแปลว่า 'สาวน้อย' อีกทั้งยังเป็นชื่อบุตรสาวของคุณบุรินทร์ วงศ์สงวน เจ้าของและผู้ก่อตั้งนิตยสารเล่มนี้อีกด้วย
นิตยสารลลนาในยุคแรกนำทัพโดยนักเขียนสตรีที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในตอนนั้น คือ ’สุวรรณี สุคนธา’ หรือคุณสุวรรณี สุคนธ์เที่ยง สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการนิตยสารผู้หญิงด้วยรูปลักษณ์หน้าตาและเนื้อหาที่โฉบเฉี่ยว ทันสมัยเกินหน้าเกินตากว่าใคร
แต่ความแปลกใหม่นี้เอง ทำให้นิตยสารลลนาประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักในช่วงแรก ทำให้ในปีต่อมา มีการตัดสินใจที่จะยุติการผลิต และคุณสุวรรณีได้ตัดสินใจขอหัวนิตยสารนี้มาทำต่อด้วยตัวเองในปี พ.ศ. 2517 นิตยสารลลนาในช่วงต่อมาเลยมีหน้าตารูปเล่มที่เล็กลง และขยับราคาขายขึ้นมาเป็น 8 บาท
หลังจากนั้นลลนาค่อยๆ เติบโตขึ้นมาเป็นสาวน้อยเสน่ห์แรงสวยสะพรั่ง มีแฟนคนอ่านทั้งชายและหญิง ความโดดเด่นและแปลกใหม่ของนิตยสารลลนา เข้มข้นขึ้น และจัดจ้านขึ้นตามวันและเวลาที่ผ่านไป สามารถต่อสู้กับปัญหาราคาค่ากระดาษที่ขยับราคาขึ้นเป็นรายวันในยุคนั้น ฝ่าฟันจนสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเองในที่สุด กลายเป็นนิตยสารคู่ใจของสาวสมัยใหม่ที่ต้องมีนิตยสารลลนาเป็นเพื่อนแก้เหงา เป็นอาหารสมอง และเป็นคัมภีร์แฟชั่นที่ดูเปรี้ยวเกินหน้าเกินตานิตยสารฉบับไหนๆ ในช่วงเวลานั้น
แต่แล้วก็เหมือนสายฟ้าฟาด…เมื่อบรรณาธิการและผู้เป็นเจ้าของ คือคุณสุวรรณี สุคนธ์เที่ยง ได้จากไปอย่างกระทันหัน ด้วยเหตุโหดร้ายเกินกว่าใครจะคาดคิด เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 ทำให้นิตยสารลลนาซึ่งในขณะนั้นมีอายุเพียง 11 ปี ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า
ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการแทน คือคุณนันทวัน หยุ่น ซึ่งเป็นรองบรรณาธิการ เป็นทีมงานอยู่กับนิตยสารลลนามานาน และในยุคนี้เอง…ที่มีการโอนกิจการให้ไปอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท เนชั่น พับลิชชิ่ง กรุ๊ป ในปี พ.ศ. 2529 ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนบรรณาธิการบริหารมาเป็นคุณสมถวิล จรรยาวงษ์ โดยเริ่มในฉบับที่ 409 ปักษ์หลัง มกราคม พ.ศ. 2533 เป็นฉบับแรก
ในช่วงหลังนี้เองที่นิตยสารลลนา ถึงแม้ว่าจะประสบความสำเร็จในแง่ของธุรกิจ เต็มไปด้วยหน้าโฆษณามากมาย แต่ก็เริ่มบิดเบือนอัตลักษณ์รวมไปถึงเอกลักษณ์ของความเป็น ’ลลนา’ ตามความตั้งใจเดิมของผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการคนแรก ทายาทของคุณสุวรรณี สุคนธ์เที่ยง จึงได้ตัดสินใจขอหัวนิตยสารคืน เพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของนิตยสารลลนาในอดีตให้คงอยู่ในความทรงจำของนักอ่านตลอดไป
นิตยสารลลนาเล่มสุดท้าย ซึ่งเวลานั้นมีราคาเล่มละ 60 บาท จึงต้องยุติการผลิต อำลาจากแผงนิตยสารไทยไปในฉบับที่ 531 ปักษ์หลัง 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 โดยมีข้อความบนสันปกเขียนไว้เป็นครั้งสุดท้ายว่า ‘ผองข้ามดปลวก ยกพวกลา ณ ปักษ์นี้’ และได้คุณเบิร์ด พิทยา ณ ระนอง นายแบบและพระเอกหนุ่มฮอตในยุคนั้น ขึ้นปกอำลานักอ่านในลุคหวาบหวิว ด้วยเสื้อผ้าจากแบรนด์ Santini จากฝีมือการออกแบบของคุณเกษมสันต์ ชาญศึก
พร้อมเนื้อหาด้านในที่มีบทสัมภาษณ์คนกันเองของลลนา คือหม่อมหลวงอารชว วรวรรณ ที่มาให้สัมภาษณ์ลงในนิตยสารลลนาเป็นครั้งที่สาม หลังจากครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2519 และครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2524 และครั้งนี้ในวัย 43 ปี รวมถึงคอลัมน์ทิ้งทวนก่อนโบกมืออำลาอย่างบทสัมภาษณ์ทีมงานลลนาทุกท่าน และคอลัมน์ ‘กว่าจะเป็นลลนาในมือคุณ’
หลังจากยุติบทบาทในการผลิตนิตยสารลลนา ทีมงานเดิมของบริษัทเนชั่น พับลิชชิ่ง กรุ๊ป ได้คลอดนิตยสารผู้หญิงเล่มใหม่ในชื่อ ‘กรวิก’ ประเดิมฉบับปฐมฤกษ์ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2538 แต่ลูกในไส้คนนี้เกิดมาแล้วคงไม่ค่อยแข็งแรงสักเท่าไหร่ เพราะเกิดมาได้แค่ไม่กี่ฉบับ ก็ขาดลมหายใจ…ลาจากตามไปในที่สุด
นิตยสารลลนาโลดแล่นอยู่บนแผงหนังสือนานถึง 22 ปี และถึงแม้ว่าวันนี้…นิตยสารลลนาจะห่างหายไปจากสายตาของนักอ่านมานานถึง 28 ปีแล้วก็ตาม แต่ชื่อของนิตยสารลลนา ยังคงเป็นที่จดจำ และเป็นเสมือนเพื่อนที่ยังคงอยู่ในใจของใครหลายๆ คน…มาจนถึงทุกวันนี้
………………………………
โฆษณา