1 มี.ค. 2023 เวลา 04:29 • ข่าว

ประวัติศาสตร์การเงินโฉมใหม่ Virtual Reality ธนาคารแห่งอนาคต

นอกจาก Virtual Reality หรือ VR ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีแล้ว บนโลกนี้ยังมีสารพัดสิ่งจะ Virtual ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น Virtual Currency, Virtual Run, Virtual Event ฯลฯ
สำหรับธุรกิจการเงินในช่วงหลายเดือนมานี้ น่าจะเห็นคำว่า Virtual Bank หรือ 'ธนาคารเสมือน' ปรากฏขึ้นมาบ่อยๆ โดยเฉพาะในไทยที่ทางการกำลังผลักดันให้เกิดธนาคารรูปแบบใหม่ได้จริง
5
แต่ก่อนที่คนไทยจะได้ใช้ Virtual Bank กันจริงๆ TODAY Bizview ชวนทำความเข้าใจคอนเซปต์ของธนาคารรูปแบบใหม่ สรุปว่า Virtual Bank คืออะไร แตกต่างกับธนาคารแบบเดิมอย่างไรบ้าง
[ สรุปสั้นๆ Virtual Bank คืออะไร ]
ต้องบอกว่านิยามของ Virtual Bank ก็ไม่เหมือนกันสักประเทศ สำหรับประเทศเรา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นิยามไว้ว่า Virtual Bank คือ ธนาคารที่ทำธุรกิจบนดิจิทัลเต็มรูปแบบ ลักษณะสำคัญคือ
1
1. ไม่มีสาขา ไม่มีตู้ ATM แต่มีสำนักงานใหญ่ได้ กับ 2. ให้บริการบนดิจิทัลตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันตัวตนของลูกค้า การฝากเงิน การให้สินเชื่อ การโอนเงิน การจ่ายเงิน การลงทุน ฯลฯ
ถึงจะเป็นคอนเซปต์ที่ค่อนข้างใหม่ในไทย แต่ต่างประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง อังกฤษ เกาหลี สิงคโปร์ ฯลฯ Virtual Bank เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมาหลายปีแล้ว ซึ่งแกนหลักของธุรกิจเหมือนกันคือ 'ต้องเป็นธนาคารที่ให้บริการบนช่องทางดิจิทัลเท่านั้น'
ส่วนสาเหตุที่ต้องให้บริการแบบ Virtual เท่านั้น ก็เพราะต้องการให้ธนาคารหลุดออกจากกรอบเดิมๆ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการทำธุรกิจ
จากเดิมธุรกิจธนาคารจะทำอะไรก็ค่อนข้างยาก เพราะยังผูกติดอยู่กับระบบเดิม ทำอันนั้นไม่ได้ ทำอันนี้ไม่ได้ ทำอันนี้กระทบอันนั้น ซึ่งค่อนข้างเทอะทะ อีกทั้งยังใช้คนจำนวนมากและมีต้นทุนในการให้บริการที่สูง
[ Virtual Bank ≠ Mobile Banking ]
2
เกริ่นมาหลายบรรทัด แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบว่า สรุปแล้ว Virtual Bank มันแตกต่างกับธนาคารที่เราใช้กันอยู่ตอนนี้ยังไง โดยเฉพาะคนไทยที่ไม่เข้าใจว่าเราจะ Virtual Bank ทำไม เพราะวันนี้ Mobile Banking ทำได้แทบทุกอย่าง
เรื่องนี้ก็มีคนถามแบงก์ชาติเหมือนกัน เพราะเห็นว่าธนาคารในประเทศ Go Digital กันไปเยอะแล้ว ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยอธิบายว่า คำถามนี้ได้บ่อยมากในระหว่างที่ทำงานเรื่อง Virtual Bank
1
คีย์เวิร์ดคือ 'ธนาคารที่ไร้สาขา' เพราะการที่ไม่มีสาขาจะทำให้ธนาคารต้องหลุดออกจากกรอบการทำธุรกิจแบบเดิม ซึ่งทุกคนน่าจะรู้กันดีว่าธนาคารแบบเดิมมักจะใช้คนมาก กระบวนการเยิ่นเย้อ มีระบบงานที่เก่า แถมจะปรับเปลี่ยนก็ยุ่งยาก
'การกำหนดให้ธนาคารไร้สาขา ไม่สามารถมีสาขาได้ ต้องให้บริการบนโลกดิจิทัลล้วนๆ มันทำให้ต้องเปลี่ยนกระบวนการคิดใหม่ทั้งหมด ต้องให้บริการให้ได้ และต้องให้บริการที่ดีมากด้วย'
1
คำถามถัดมาคือ ทำไมสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) เช่น บริษัทบัตรเครดิตหรือบริษัทสินเชื่อต่างๆ ถึงไม่เข้าข่ายเป็น Virtual Bank ด้วย เพราะบางเจ้าก็ไม่มีสาขาตามที่แบงก์ชาติบอก ไม่มีตู้ ATM ของตัวเอง แถมเก่งเรื่องให้สินเชื่อดิจิทัลด้วย
ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยอธิบายว่า 'กลุ่มนี้เขาคล่อง แต่เขาไม่ครบวงจร' เพราะไม่สามารถให้บริการอื่นๆ มาเสริมนอกเหนือจากการให้สินเชื่อได้ ง่ายๆ คือ ไม่รับฝากเงิน ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้ลูกค้าเหมือนธนาคาร
[ ค่าบริการ Virtual Bank ต้องถูกลง ]
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนก็น่าจะพอเข้าใจคอนเซปต์ของ Virtual Bank แล้ว แต่อาจจะยังไม่เห็นภาพว่า เราในฐานะลูกค้าจะได้ประโยชน์อะไรจากการหันมาใช้ธนาคารเสมือนแทนธนาคารแบบเดิม
1
ซึ่งหากเราดูตัวอย่างจากต่างประเทศ จะเห็นว่าการเข้ามาของ Virtual Bank กระตุ้นให้ธนาคารแบบเดิมตื่นตัวมากขึ้น เกิดการแข่งขันมากขึ้น หลายธนาคารยอมลดค่าธรรมเนียมเพื่อแข่งขันกับ Virtual Bank
หรือบางรายยอมยกเลิกค่าธรรมเนียมที่เคยเก็บมาตลอดหลายสิบปี เช่น ฮ่องกง ธนาคารูปแบบเดิมยอมยกเลิกคิดค่าธรรมเนียมรักษาบัญชีเพื่อแข่งกับ Virtual Bank ที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมดังกล่าว เป็นต้น
ดังนั้น การเข้ามาของ Virtual Bank เลยกลายเป็นประโยชน์ต่อเราในฐานะผู้บริโภค เพราะตลาดมีการแข่งขันกับผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามา แข่งกันตัดราคา ลดราคา เราก็ได้ใช้บริการต่างๆ ในราคาที่ถูกลง
[ Virtual Bank ต้องเข้าถึงคนตัวเล็ก ]
นอกจากเรื่องการแข่งขันแล้ว ต้นทุนที่ถูกลงของ Virtual Bank ก็ทำให้ตัวมันเองสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินแต่ละอย่างได้ในราคาที่ดีกว่าธนาคารแบบเดิม ได้ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากสูง ดอกเบี้ยสินเชื่อต่ำ หรือการยกเว้นค่าธรรมเนียมอย่างที่เล่าไป
นอกจากนี้ Virtual Bank ยังสามารถออกโปรดักต์ที่อาจจะไม่เคยมีมาก่อน หรือมีอยู่แล้วแต่มีลูกเล่นที่น่าสนใจกว่า เพื่อจับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เซกเมนต์ใหม่ๆ ได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เดิมเข้าไม่ถึงบริการเชิงลึกของธนาคาร (Underbanked)
เช่น เงินฝากของ Virtual Bank ในต่างประเทศ จะมีการออกโปรดักต์สนุกๆ ที่ส่งเสริมให้คนออมมาออมเงิน ออมทีละน้อยๆ แต่ออมบ่อยๆ และจูงใจให้ออมนานๆ ยิ่งออมนานยิ่งได้ดอกเบี้ยสูง ถ้าออมถึงเป้าก็จะมีรางวัลแจกให้อีก เป็นต้น
ส่วนเรื่องปล่อยกู้ Virtual Bank จะมีวิธีดูข้อมูลต่างกับธนาคารทั่วไป เช่น ไม่ดู Statement แต่จะดูประวัติการซื้อของแทน หรือใช้ Big Data เข้ามาประกอบในการให้สินเชื่อ ทำให้ลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง SMEs กับรายย่อย ได้รับการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น
[ ธนาคารไร้สาขาในไทยไปถึงไหนแล้ว ]
ส่วนความเคลื่อนไหวเรื่อง Virtual Bank ในไทย ต้องบอกว่ายังเป็นระยะเริ่มต้นมากๆ โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งปิดรับฟังความเห็นเรื่องเกณฑ์ต่างๆ และจะสรุปเกณฑ์ทำธุรกิจให้เสร็จภายในไตรมาส 1 นี้ ก่อนจะเปิดรับสมัครคนทำธุรกิจในไตรมาส 2
2
ตอนนี้มีธุรกิจที่สนใจเข้ามาสอบถามข้อมูลกับแบงก์ชาติประมาณ 10 รายแล้ว มีทั้งแบบจะทำเองคนเดียว และมีทั้งแบบจับมือกันมาหลายๆ คน แต่เฟสแรกแบงก์ชาติขอจำกัดใบอนุญาตให้แค่ 3 รายก่อน จะได้ดูแลได้ทั่วถึง
1
กลุ่มทุนกลุ่มแรกที่ออกมาประกาศว่าจะทำ Virtual Bank ด้วยกันคือ กัลฟ์ (Gulf) เจ้าของธุรกิจโรงไฟฟ้า AIS ค่ายมือถือเบอร์ 1 ในไทย และธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งทั้ง 3 คนมีฐานลูกค้ารวมกันกว่า 50 ล้านราย
กลุ่มถัดมาคือ เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ยานแม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ประกาศจะเป็นคนขอไลเซนส์ Virtual Bank เอง ส่วนยานลูกก็ทำเรื่อง Digital Banking ต่อไป
ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย (KBank) และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) สนใจจะขอไลเซนส์ Virtual Bank เหมือนกัน ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคารกรุงเทพ (BBL) อยู่ระหว่างศึกษา
[ กลุ่มทุนใหญ่อยากได้ไลเซนส์ทำธุรกิจ ]
นอกจากกลุ่มที่กล่าวไปข้างต้นและเหล่าธนาคารแล้ว กลุ่มทุนจากธุรกิจอื่นๆ ก็สนใจเรื่อง Virtual Bank ไม่แพ้กัน เช่น เจมาร์ท (Jaymart) ที่ประกาศแผนธุรกิจอยากเป็น Virtual Bank ด้วย โดยระบุว่า 'เจ เวนเจอร์ส' (J Ventures) บริษัทในเครือ มีพาร์ทเนอร์ต่างประเทศที่พร้อมพัฒนาระบบให้
นอกจากนี้ ยังมีข่าวลือว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ก็สนใจทำธุรกิจ Virtual Bank เช่นกัน ซึ่งกลุ่ม CP ก็มีความพร้อมด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน ฐานลูกค้า เครือข่าย (7-11)
แถมยังมีแอปพลิเคชันด้านการเงินอย่าง TrueMoney Wallet อยู่ในมือ ซึ่งมี 'แอนท์ ไฟแนนเชียล' (Ant Group) ฟินเทคสัญชาติจีนของแจ็ค หม่า (Jack Ma) เป็นพาร์ทเนอร์อีกด้วย
แต่ก็ใช่ว่ามีแต่คนอยากทำ เพราะแบงก์ที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) และกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ยังไม่ได้สนใจจะทำ Virtual Bank ในตอนนี้
บางส่วนก็พร้อมมอร์นิเตอร์และปรับตัวตลอด แต่บางส่วนมองว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ ยังไงธนาคารก็ควรมีสาขา และไม่แน่ใจว่าการให้บริการโดยที่ไม่มีสาขาตามนิยามของแบงก์ชาติ จะสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าได้จริงหรือเปล่า
บางรายมองว่าทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาทสูงเกินไป แถมยังไม่ให้ตั้งชื่อหรือพึ่งพาทรัพยากรจากธนาคารแม่ ถึงจะมีโอกาสที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่จะเข้ามาพาร์ทเนอร์และยอมทุ่มเงินเพื่อมาร์เก็ตติ้งก็ตาม แต่น่าจะต้องทำใจยอมเผาเงินอยู่หลายปีเลยทีเดียวกว่าจะคืนทุน
นอกจากนี้ ยังมีบางรายมองว่า การที่แบงก์ชาติกำหนดให้แนบ 'แผนฌาปนกิจ' (Exit Plan) หรือแผนการออกจากธุรกิจในกรณีที่ไปไม่รอดมากับใบสมัครด้วย ก็สะท้อนว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นความเสี่ยง ซึ่งในต่างประเทศ Virtual Bank ก็ยังเป็นช่วงตั้งไข่เหมือนกัน ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าทำแล้วจะสำเร็จ
[ คนไทยจะได้ใช้ Virtual Bank เมื่อไหร่ ]
สนใจหรือไม่ก็ตาม แบงก์ชาติก็วางไทม์ไลน์ไว้แล้วว่าคนไทยจะได้ใช้บริการ Virtual Bank ในช่วงกลางปี 2568 ซึ่งค่าบริการจะถูกลงจริงหรือไม่ จะมีบริการแปลกๆ อะไรให้เราได้เล่นบ้าง คงจะต้องติดตามกันต่อในอนาคต
#TODAYBizview
#MakeTomorrowTODAY
โฆษณา