1 มี.ค. 2023 เวลา 04:48 • ท่องเที่ยว
การสร้างทางรถไฟรางคู่ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้การคมนาคมขนส่งของประเทศมีความสะดวก ประหยัด และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งไม่เพียงจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมของประเทศถูกลง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้การเดินทางไปมาหาสู่กันสะดวกมากยิ่งขึ้น ช่วยให้เกิดการกระจายความเจริญออกสู่ชนบท ลดความเหลื่อมล้ำของประเทศได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดการก่อสร้างในหลายจุดไม่ใช่เรื่องง่าย หากแต่ต้องเจออุปสรรคที่ขวางกั้นการก่อสร้าง ซึ่งเส้นทางข้ามแม่น้ำแม่กลอง ในจังหวัดราชบุรีก็พบอุปสรรคนี้เช่นกัน เนื่องด้วยใต้สะพานแห่งนี้ พบวัตถุระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จมอยู่เป็นจำนวนมาก เสี่ยงต่อการระเบิดสูงหากมีการก่อสร้างสะพานตามรูปแบบทั่วไป
ทีมวิศวกรจึงเลือกใช้สะพานรถไฟแบบคานขึง (Extradosed Bridge) ซึ่งตัวสะพานสร้างจากคอนกรีตอัดแรง (Prestress Concrete) และใช้สายเคเบิลรับ/ถ่ายโอนน้ำหนักสู่เสา ทำให้สามารถลดขนาด และความสูง ของฐานรากสะพานลงได้
สะพานคานขึงรถไฟแห่งนี้ มีความยาวสะพาน 340 เมตร มีระยะปลอดเสา 160 เมตร และมีความสูงของเสาขึงสายเคเบิล 17 เมตร คาดว่าจะพร้อมใช้งานในเดือนเมษายน ปีนี้
สำหรับสะพานรูปแบบนี้ แม้ในโลกก็ไม่ได้พบเห็นได้บ่อย ตัวอย่างของสะพานรูปแบบนี้คือสะพานเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เมโมเรียล ในสหรัฐอเมริกา, สะพานนอร์ท อาร์ม ในแคนาดา และสะพานอิบิกาวะ ในญี่ปุ่น
ในอนาคตอันใกล้นี้ สะพานคานขึงทางรถไฟแห่งนี้ จะมิเพียงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟทางคู่ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ 3 แกนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเท่านั้น แต่จะยังกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้มาเยี่ยมชมความสวยงามของสะพานแห่งนี้อีกด้วย
โฆษณา