6 มี.ค. 2023 เวลา 02:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“ตูวาลู” ประเทศที่ รัฐบาลหาเงินเข้าประเทศ จาก “นามสกุลเว็บไซต์”

เคยสังเกตกันไหมว่า ส่วนท้ายสุดของชื่อเว็บไซต์ มักจะต่อท้ายด้วย .com, .net หรือ .org
ซึ่งส่วนท้ายสุดนี้ เราจะเรียกว่า “โดเมนระดับบนสุด” หรือ Top-Level Domain (TLD)
แต่ถ้าหากพูดให้เข้าใจง่าย ๆ มันก็คือ นามสกุลของเว็บไซต์
1
และถึงแม้ว่า มันจะเป็นตัวอักษรเพียง 2-3 ตัว
แต่ประเทศตูวาลู กลับสามารถทำเงินมหาศาลเข้าประเทศได้มากว่า 25 ปีแล้ว
แล้วเรื่องนี้ มีความน่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ วิธีการหารายได้จาก โดเมน หรือ นามสกุลเว็บไซต์ กันสักนิด..
สำหรับ นามสกุลเว็บไซต์ที่เราเข้าใช้งานกันอยู่นั้น
ในแต่ละประเทศ จะได้รับการกำหนดอักขระโดเมน 2 ตัว ตามรหัสประเทศ
เช่น .th (ไทย), .jp (ญี่ปุ่น), .au (ออสเตรเลีย) และ .uk (สหราชอาณาจักร)
ซึ่งโดเมนเหล่านี้ จะมีการซื้อ-ขายกัน ผ่านบริษัทรับจดโดเมน
และถ้าหากเราอยากมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ก็จะต้องไปทำการเช่ามาจากบริษัทเหล่านี้
แต่นอกจาก โดเมน 2 ตัว จะถูกใช้เพื่อบ่งบอกถึง ประเทศเจ้าของโดเมนแล้ว
มันยังถูกนำไปใช้เพื่อบ่งบอก “ตัวตน” ของเว็บไซต์อีกด้วย
โดยในกรณีของประเทศ “ตูวาลู” ที่มีโดเมนว่า “.tv”
ซึ่งชวนให้นึกถึง TV หรือ Television
ดังนั้น ตูวาลู จึงใช้ประโยชน์จากชื่อดังกล่าว
และเปิดให้บริการจดทะเบียนโดเมน .tv แก่บริษัทด้านสื่อโทรทัศน์ และสตรีมมิง
ซึ่งก็เป็นไปตามคาด กลุ่มธุรกิจสื่อโทรทัศน์ดิจิทัล และสตรีมมิง ต่างหมายปองที่จะเข้ามาขอเช่าชื่อนี้
เพื่อให้ชื่อเว็บไซต์ของตน สามารถชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า
ธุรกิจของคุณคือใคร และทำเกี่ยวกับอะไร
หรือมีเป้าหมายอะไรในการตั้งเว็บไซต์นี้ขึ้น
2
ด้วยข้อดีในการสร้างภาพลักษณ์ทางธุรกิจที่ชัดเจน
จึงทำให้บริษัทที่รับจดทะเบียนโดเมน ต่างเล็งเป้ามาที่ตูวาลู
เพื่อที่จะเข้ามาเจรจาเช่าโดเมน .tv
ซึ่งบริษัทแรกที่เข้ามา เกิดขึ้นเมื่อปี 1998
โดยบริษัท DotTV ได้ทำสัญญามูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นระยะเวลา 12 ปี
ด้วยเงินจำนวนนี้ อาจจะดูเหมือนเล็กน้อยมาก ๆ ถ้าเทียบกับ มุมมองที่ว่า ชื่อโดเมนนี้มีเพียง หนึ่งเดียวในโลก และเป็นเสมือนทรัพยากรร่วมกันของชาวตูวาลู
แต่ถ้าหากเราลองไปดู GDP ของตูวาลู ในตอนนั้น ก็จะพบว่า
ประเทศนี้มี GDP เพียงแค่ประมาณ 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น
นี่หมายความว่า รายได้จากการขายสิทธิ์โดเมนในครั้งนี้ อาจเทียบเท่า GDP เกือบ 4 ปี เลยทีเดียว
และในอีกมุมหนึ่ง การเป็นเจ้าของชื่อโดเมน .tv
ยังเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่แน่นอนและสม่ำเสมอ ให้กับประเทศทุกปี
เนื่องด้วยประชากรตูวาลูที่มีอยู่จำนวนน้อยนิด
ซึ่งปัจจุบันมีไม่เกิน 12,000 คน
แถมประชากรส่วนใหญ่ ก็ยังทำเกษตรและประมง เพื่อ “เลี้ยงชีพ” มากกว่าทำอาชีพ “เชิงพาณิชย์”
ดังนั้น ที่ผ่านมา ภาครัฐ จำเป็นต้องพึ่งพารายได้จาก “ต่างชาติ” เป็นหลัก
ไม่ว่าจะเป็น การขายสัมปทานการทำประมงให้เรือต่างชาติ
เงินช่วยเหลือ จากองค์กรระหว่างประเทศ
และรายได้จากแรงงานลูกเรือชาวตูวาลูที่ส่งกลับมาให้ครอบครัว
ซึ่งการทำเช่นนี้ไปนาน ๆ เข้า อาจไม่ส่งผลดีต่อประเทศอย่างแน่นอน
ดังนั้น ภาครัฐจึงพยายามมองหารายได้ใหม่ ๆ เพื่อความมั่นคงมากขึ้น
รวมถึงในปี 2002 ก็ยังมีการปรับสัญญาให้ประเทศ ได้รับผลประโยชน์ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น
โดยหลังจากที่ DotTV ขายสัญญาการดูแลโดเมน .tv ต่อให้ “Verisign” ซึ่งเป็นบริษัทผู้ครองสิทธิ์จดทะเบียน โดเมนทั้ง .com, .net, .edu, .gov จากสหรัฐอเมริกา
ซึ่งดีลใหม่นี้ จะทำให้ตูวาลู ได้รับเงินจาก Verisign ประมาณ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็น 30% ของ GDP ในปี 2002
โดยเม็ดเงินเหล่านี้ รัฐบาลตูวาลู ก็ได้นำไปใช้กับการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน Verisign ได้หมดสัญญากับตูวาลูไปแล้วในปี 2021 ที่ผ่านมา ทำให้สิทธิ์ในการจัดการ .tv ถูกส่งต่อไปยัง GoDaddy บริษัทจดทะเบียนโดเมนรายใหญ่อีกเจ้าของสหรัฐอเมริกา
ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า สัญญาฉบับใหม่นี้จะสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ให้กับชุมชนและเศรษฐกิจของตูวาลูต่อไป
สำหรับในปัจจุบัน บนเว็บไซต์ที่ต่อท้ายด้วย .tv จะมีทั้งหมด 458,195 แห่ง
และหนึ่งในนั้นก็คือ Twitch แพลต์ฟอร์มถ่ายทอดสด การเล่นเกม และการแข่งขัน E-Sports ที่ตอนนี้ Amazon เป็นเจ้าของ
อ่านมาถึงตรงนี้ โดยพื้นฐานแล้ว การที่ตูวาลูเปิดสัมปทานให้กับภาคธุรกิจเข้ามาเช่าโดเมนประเทศ มันก็เหมือนกับการมีที่ดินและปล่อยให้คนอื่น เข้ามาเช่าที่ต่อ
แล้วมันก็เหมือนเรื่อง “บังเอิญ” ที่ตูวาลูได้รับชื่อโดเมนอินเทอร์เน็ตของประเทศว่า .tv ที่ได้กลายเป็นดั่งทำเลทอง ที่มีคนต้องการมากขึ้น ท่ามกลางธุรกิจสื่อดิจิทัลและสตรีมออนไลน์
จนสุดท้ายความบังเอิญที่ว่า ก็กลายมาเป็น “โอกาส” ให้กับประเทศเล็ก ๆ อย่างตูวาลูใช้สร้างประโยชน์ เพื่อแปรกลับมาเป็นอีกแหล่งรายได้ ที่นำเข้ามาพัฒนาประเทศต่อไป นั่นเอง..
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป พุ่งเป้าพัฒนาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เพื่อเข้ามาเติมเต็มและต่อจิกซอว์เทรนด์ไลฟ์สไตล์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น หลังจากประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยและต่างชาติที่มาใช้บริการร้าน Marimekko Pop-Up Café คาเฟแห่งแรกในโลก พร้อมเดินหน้าปูทางธุรกิจ F&B ภายใต้แบรนด์อื่นในเครือ หวังเจาะตลาดกลุ่มลูกค้า Gen Y - Gen Z มากขึ้น
#TANACHIRA #MarimekkoCafeThailand
โฆษณา