1 มี.ค. 2023 เวลา 14:26 • การตลาด

เวนดิ้ง แมชชีน โตแตะหมื่นล้านบาทในปีนี้

ไม่จับตามอง ไม่ได้แล้ว...
2
เวนดิ้ง แมชชีน ถูกจัดให้เป็น 1 ในทิศทางของค้าปลีกในยุค “Retail Tech” ที่เทคโนโลยีถูกใช้เข้ามาเป็นตัวช่วยชับเคลื่อน เพื่อตอบโจทย์ทั้งในแง่ความสะดวกสบาย และการทลายข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่ในการเปิดร้านค้าปลีก
1
ขณะเดียวกัน ยังเป็นตัวช่วยในการเข้ามาเป็นช่องทางขายที่เข้าถึงลูกค้าโดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลางอย่างร้านค้าปลีกของสินค้าหลากหลายแบรนด์
ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในไทยมีมานานกว่า 20 ปี แต่เริ่มมีบทบาทโดดเด่นมากขึ้นในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงของการระบาดของโควิด – 19 ที่เป็นเสมือนตัวที่ช่วยเร่งให้เวนดิ้ง แมชชีน บูมขึ้นอย่างมาก
ttb analytics ออกมานำเสนอข้อมูลในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า จำนวนตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ณ ปัจจุบันมีมากกว่า 10 แบรนด์ ด้วยจำนวนมากกว่า 30,000 ตู้ แต่ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่พื้นที่เขตกรุงเทพและภาคตะวันออกรวมแล้วมากกว่า 60%
โครงสร้างธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ประกอบด้วยธุรกิจตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติ 60% และตู้จำหน่ายขายสินค้าอื่น ๆ 40% ส่วนแบรนด์หลัก ๆ ที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูง อาทิ ซัน108 ของกลุ่มสหพัฒน์ฯ เป็นผู้เล่นรายใหญ่สุดในตลาด มีสินค้าหลากหลายทั้งอุปโภคและบริโภค
รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เล็ก ๆ รองลงมาเวนดิ้งพลัสของกลุ่มสบาย เทคโนโลยี จำหน่ายสินค้าตั้งแต่เครื่องดื่ม ขนม หน้ากากอนามัย และตู้เต่าบินที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2564 ของกลุ่มฟอร์ท เวนดิ้ง
ttb analytics ยังนำเสนอข้อมูลอีกว่า หลากหลายปัจจัยหนุนการเติบโตธุรกิจในอนาคต ดันยอดขายเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด เมื่อพิจารณาจาก
1.พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ใช้ชีวิตเร่งรีบ ชอบความสะดวกสบาย มีสินค้าหลากหลายให้เลือกมากขึ้น โดยกระแสความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่มีการล็อกดาวน์ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคเริ่มปรับตัวคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติมากขึ้น อีกทั้งมีสินค้าหลากหลายให้เลือกมากขึ้น
ที่สำคัญคือพัฒนาการของระบบการชำระเงินของตู้อัตโนมัติในปัจจุบันเติมเต็มไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล ด้วยช่องทางชำระเงินหลากหลายทั้งเงินสดและกระเป๋าเงินดิจิทัล พร้อมเพย์และสแกนจ่าย
2.เป็นทางเลือกในการเพิ่มช่องทางจำหน่ายของธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้ปัจจุบันนอกจากตู้บริการเครื่องดื่มที่คนไทยคุ้นมานาน ยังมีสินค้าอย่างอื่นอีกมากมายที่สามารถวางขายในตู้อัตโนมัติได้
การขายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติช่วยประหยัดเรื่องของต้นทุนพื้นที่เช่าและค่าพนักงาน เครื่องเหล่านี้สามารถตั้งได้ในพื้นที่จำกัดทำให้ค่าเช่าพื้นที่หน้าร้านถูกลงมาก
ตัวอย่างเช่น ค่าเช่าพื้นที่ในตึกออฟฟิศใหญ่ในกรุงเทพฯ หรือคอนโดมิเนียมที่มีผู้อาศัยอยู่มาก อยู่ที่ราว 10,000 บาทต่อเดือน นอกจากค่าเช่าถูกแล้ว ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัตินั้นสามารถขายสินค้าได้ตลอด 24 ชม. ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับร้านค้าทั่วไป
นอกจากนี้ การขายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติทำให้ธุรกิจของผู้ประกอบการดูทันสมัยยิ่งขึ้นจากการที่ตู้จำหน่ายอัตโนมัติทำหน้าที่เหมือนเป็นป้ายโฆษณา ดึงดูดกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น วัยทำงาน อีกทั้งทำให้ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่หลากหลายอีกด้วย
3.เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก สะท้อนจากความหนาแน่นของตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติต่อประชากรไทยยังต่ำ เทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีตู้ขายสินค้าอัตโนมัติกว่า 4 ล้านเครื่องคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติทั่วโลก
ในขณะเดียวกันเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ 1 เครื่องจะครอบคลุมประชากรญี่ปุ่นราว 30 คน ซึ่งถือเป็นความหนาแน่นต่อประชากรที่มากที่สุดในโลก ขณะที่สัดส่วนของไทยอยู่ที่ 1 เครื่องต่อประชากร 366 คน เ
มื่อพิจารณาจากจำนวนตู้อัตโนมัติทั่วประเทศราว 30,000 ตู้เทียบกับประชากร 11 ล้านคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีตู้อัตโนมัติมากสุด ประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลี สัดส่วนอยู่ที่ 1 เครื่องต่อประชากร 255 คน และสิงคโปร์ 1 เครื่องต่อประชากร 360 คน
4.ผู้ประกอบการธุรกิจจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติใช้กลยุทธแฟรนไชส์ต่อยอดธุรกิจขยายสาขา เจาะเมืองท่องเที่ยว เมืองใหญ่ ทำเลย่านชุมชน เมื่อธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเริ่มลงตัวและบริษัทมองว่าธุรกิจของตนสามารถเติบโตได้อีก
แต่บริษัทไม่มีกำลังมากพอที่จะดูแลการเติบโต เนื่องจากปัจจัยข้อจำกัดเช่นเรื่องพื้นที่ที่ห่างไกล จำนวนพนักงาน หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องทุนทรัพย์ที่ไม่เพียงพอบริษัทสามารถพัฒนาระบบแฟรนไชส์ขึ้นมาเพื่อให้นักลงทุนที่สนใจสามารถมาลงทุนในกิจการของตน เพื่อให้บริษัทเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
2
จากหลายปัจจัยหนุนธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติให้เติบโต ทำให้ในปี 2566 คาดว่ามีผู้ประกอบการในธุรกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นรูปแบบการเป็นแฟรนไชส์ ดันรายได้ธุรกิจในภาพรวมขยับสูงเป็น 1 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตปีละ 13-15% รวมทั้งจะได้เห็นตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในรูปแบบใหม่ ๆ ดึงดูดผู้บริโภคในตลาดมากขึ้น
1
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บรรดาผู้ประกอบการค้าปลีก ต่างก็เข้ามาเกาะกระแสและมีการวางตู้เวนดิ้ง แมชชีน ของตัวเองมาพักใหญ่ๆ แล้ว แม้การขยายสาขายังคงเป็นกลยุทธ์หลัก แต่เวนดิ้ง แมชชีน ก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยเพิ่มทางเลือก รวมถึงในบางโลเกชั่นที่ไม่สามารถเข้าไปเปิดสาขาเต็มรูปแบบได้
การเพิ่มช่องทางขายผ่านตู้เวนดิ้ง แมชชีน ของเชนค้าปลีกในบ้านเรา ถือเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ เข้าไปในจุดที่เดิมทีอาจจะเจาะเข้าไปไม่ถึง
การเติบโตอย่างรวดเร็วของการขายผ่านตู้เวนดิ้ง แมชชีน ของเซเว่น อีเลฟเว่น ที่วันนี้ มีการกระจายตู้เข้าไปยังจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล หรืออาคารสำนักงาน คือตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้
เซเว่น อีเลฟเว่น เริ่มรุกขยายช่องทางขายผ่านตู้เวนดิ้ง แมชชีน มาตั้งแต่ปี 2562 โดยมุ่งไปที่ที่พักอาศัย หอพัก คอนโดฯ ที่มีจำนวนผู้อยู่อาศัย 500 ห้องขึ้นไป อาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัย โรงเรียน สนามบิน สถานีขนส่ง โรงงาน ศูนย์แสดงสินค้า ที่มีคน 1,000 คนขึ้นไป หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มี 200 เตียงขึ้นไป
รวมถึงโรงแรม รีสอร์ต และห้างสรรพสินค้า โดยบริษัทจะเป็นผู้ติดตั้งตู้ให้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้พื้นที่ประมาณ 2 ตร.ม./ตู้ รองรับบริการชำระเงินทั้งเงินสด พร้อมเพย์ บัตรเครดิต และทรูมันนี่วอลเล็ต ซึ่งเจ้าของพื้นที่จะมีรายได้จากค่าไฟ และค่าเช่าในอัตราที่กำหนด
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เซเว่น อีเลฟเว่น เลือกที่จะจำหน่ายสินค้าตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละโลเกชั่น โดยการบริหารจัดการสินค้าจะใช้พนักงานและสินค้าจากสาขาที่อยู่ใกล้เคียง หรือมีรัศมีจากจุดติดตั้งตู้ไม่เกิน 500 เมตร จากสาขาที่ใกล้ที่สุด ให้เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเป็นการใช้ศักยภาพจากเครือข่ายสาขาของตัวเองที่เป็นเน็ตเวอร์คสำคัญเข้ามาช่วยในการทำตลาด
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของตู้เต่าบินนั้น ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดนี้ เพราะทำให้เวนดิ้ง แมชชีน ก้าวข้ามจากแค่การขายความสะดวกสบาย มาสู่การขายประสบการณ์ในการใช้บริการ
โดยวางตัวเองให้เป็น “ Your Robotic Barista” ที่นำเสนอเมนูกาแฟที่รสชาติอร่อยทุกแก้ว รวมถึงเครื่องดื่มตัวอื่นๆ ที่แตกต่างจากเวนดิ้ง แมชชีน ในยุคก่อนหน้านั้น ที่ไม่ได้แค่แค่สินค้าในรูปแบบเดิมๆ แต่นำเสนอประสบการณ์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาในก่อนหน้านั้น
จำนวนตู้ของเต่าบินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในไตรมาส 4 ของปี 2564 เต่าบินมีจำนวนตู้อยู่ที่ 546 ตู้ เพิ่มขึ้นเป็น 4,942 ตู้ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ส่วนยอดขายนั้น เต่าบิน สามารถยอดขายในปี 2565 ได้ 1,510 ล้านบาท ตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนตู้ในปีนี้อีก 5,000 ตู้ ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
การเกิดขึ้นของเต่าบินนั้น เป็นเสมือนการเปิดเข้าสู่ยุคของการนำเอาเทคโนโลยี AI for Vending Machine ที่ไม่เพียงแค่ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายผ่านช่องทางขายเวนดิ้ง แมชชีน เท่านั้น แต่เทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้เพื่อเชื่อมโยงเข้าหาดาต้า และการทำ CRM อีกด้วย
ทำให้หลายบริษัทที่เป็นผู้ผลิตหรือนำเข้าตู้เวนดิ้ง แมชชีน เริ่มเอาจุดขายในเรื่องที่ว่านี้ มาเป็นอีกหนึ่งจุดขาย นอกเหนือจากเรื่องของการเพิ่มความสะดวกสบาย และการเจาะเข้าหาลูกค้าในโลเกชั่นต่างๆ
ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็คือ การทำตลาดของ บริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่ผลิตและพัฒนาตู้ Advance Vending ซึ่งมี AI for Vending Machine โมเดลตู้ขายของอัตโนมัติ ร่วมถึงการสร้าง OEM และพัฒนาระบบ Smart Vending Machine and AI Retail Vending Machine ตามความต้องการของเจ้าของธุรกิจ
โดยมีระบบบริหารจัดการอัจฉริยะที่เชื่อมโยงการทำงานระหว่างตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ กับสินค้าได้อย่างง่ายดาย ทันสมัย โดยมีระบบการจัดการหลังบ้าน Smart Vending Machine IoT Solution เป็นระบบบริหารจัดการตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติแบบอัจฉริยะครบวงจร
บริษัทนี้ เจาะกลุ่มลูกค้า B2C โดยตรง รับออกแบบ ทั้ง Software และ Hardware ด้านตู้ Vending ให้กับลูกค้าเจ้าของธุรกิจ เพื่อที่จะได้นำไปให้บริการกับ Customer ของแต่ละธุรกิจ ซึ่งในนั่นก็จะมีระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบสมาชิก ระบบ E-member ซึ่งรับพัฒนาให้ตาม Requirement ของทางลูกค้าเองด้วย
ทำให้ไม่ได้ไปขยายในเรื่องของจุดตั้งตู้อย่างเดียว แต่หลักๆจะทำ Support เรื่องเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิตสินค้า ที่ต้องการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ให้ต้นทุนถูกลดลงทำกำไรได้มากขึ้น หรือการทำงานผ่าน LINE OA ในการตรวจสอบยอดสต็อก รายงานยอดขายในแต่ละวัน แบบ Real Time และยังสามารถกำหนดสิทธิ์การใช้งาน และตั้งค่าการเบิกจ่ายเงินภายในตู้ได้อีกด้วย
รวมถึงแสดงยอดการขายให้เชื่อมต่อกับระบบทางบัญชี จากจุดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ทำให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างโอกาสเพิ่มช่องทางในการขายสินค้าสร้างรายได้เติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2566 Advance Vending มีการขยายตัวสินค้าและบริการเพิ่มเติม ด้วยตู้ Vending Type ใหม่ๆ ที่พัฒนาระบบเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น
Advance Vending ตั้งเป้าที่จะขยายตลาด Vending Machine ร่วมกับลูกค้า และพาสเนอร์ทางธุรกิจ ไม่ต่ำกว่า 1,000 ตู้ภายในปี 2566 ด้วยการกระจายการจำหน่ายไปยังกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว, กลุ่มธุรกิจเครื่องสำอาง, กลุ่มธุรกิจอาหาร, กลุ่มธุรกิจสุขภาพ
ส่วนรูปแบบอาจะไม่ใช่แค่บริการของตู้ Vending แต่จะเป็นเรื่องบริการอื่นๆ ที่สร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าที่มาใช้งานตู้ Vending ด้วย ควบคู่ไปกับการทำ Omni Channel ที่สามารถนำข้อมูลมาทำ CRM วิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ
เป็นอีกสีสันของการขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดเวนดิ้ง แมชชีน....
อ่านเพิ่มเติม https://brandage.com/article/34404
#Vending #OmniChannel #BrandAgeOnline
โฆษณา