2 มี.ค. 2023 เวลา 02:59 • ประวัติศาสตร์
ติมอร์ตะวันออก

เส้นทางมิตรภาพ 2 ทศวรรษ ไทย-ติมอร์-เลสเต และ ก้าวต่อไปในอนาคต

ผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินชื่อประเทศ “ติมอร์-เลสเต” แต่หลายท่านอาจยังไม่คุ้นเคยกับประเทศนี้มากนัก ทราบหรือไม่ว่า มิตรภาพระหว่างไทยและติมอร์-เลสเต นั้นเกิดขึ้นมานานกว่า ๒๐ ปี แล้ว โดยปี พ.ศ.๒๕๖๕ ถือเป็นปีแห่งการครบรอบ ๒๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและติมอร์-เลสเต ซึ่งไทยเป็นชาติลำดับที่ ๓ ที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับติมอร์-เลสเต
ในโอกาสนี้ กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ISC) และศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการเรื่อง "เส้นทางมิตรภาพ ๒ ทศวรรษ ไทย-ติมอร์-เลสเต และก้าวต่อไปในอนาคต" เพื่อฉลองวาระพิเศษนี้ โดยทุกท่านสามารถรับชมเทปบันทึกกิจกรรมเสวนาครั้งนี้ได้ที่ https://youtu.be/FYpUSZcA1r0
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับติมอร์-เลสเต กันก่อนดีกว่าค่ะ ‘ติมอร์-เลสเต’ หรือชื่อทางการ ‘สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต’ เป็นประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก ตั้งอยู่ใกล้กับ ๒ ประเทศที่มีความสำคัญ กล่าวคือ ตอนบนใกล้กับอินโดนีเซียและตอนล่างใกล้กับออสเตรเลีย ทำให้ติมอร์-เลสเต มีความสำคัญในฐานะเส้นทางของการค้าโลก อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านภาษา โดยมีภาษาทางการ คือ ภาษาโปรตุเกสและภาษาท้องถิ่น (Tetum) นอกจากนี้ คนท้องถิ่นในประเทศยังใช้ภาษาบาฮาซาอินโดนิเซียและภาษาถิ่นในการสื่อสารอีกด้วยค่ะ
แผ่นที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต (ที่มา: กองเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ)
ติมอร์-เลสเต มีประวัติศาสตร์การสร้างชาติที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยในยุคจักรวรรดินิยม ติมอร์-เลสเต ถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ฝั่งตะวันออกตกเป็นอาณานิคมโปรตุเกส และฝั่งตะวันตกตกเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งภายหลัง ดินแดนฝั่งตะวันตกเองก็ได้มาตกอยู่ภายใต้อาณานิยมของโปรตุเกสด้วยเช่นกัน ต่อมา จากเหตุการณ์ทางการเมืองในโปรตุเกส ติมอร์-เลสเต จึงได้รับอิสรภาพ
ทว่า อิสรภาพครั้งนั้นเป็นเพียงช่วงเวลาอันสั้น อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกได้แทรกแซงและผนวกติมอร์-เลสเต เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย สร้างความไม่พอใจให้กับชาวติมอร์-เลสเต เป็นจำนวนมาก
โดยในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ (ค.ศ. ๑๙๙๑) ได้เกิดเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ๒ ครั้งใหญ่ขึ้น ได้แก่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใน Santa Cruz และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเมือง Dili ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียจัดประชามติเกี่ยวกับสถานะของติมอร์-เลสเต ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ (ค.ศ. ๑๙๙๙) ผลคือ ชาวติมอร์-เลสเต ประสงค์จะปกครองตนเอง
หลังได้รับอิสรภาพอีกครั้ง ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจแยกตัวออกจากอินโดนีเซีย ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศ ทั้งสหประชาชาติและอาเซียน รวมถึงออสเตรเลีย และไทย เข้าช่วยเหลือติมอร์-เลสเต โดยไทยในฐานะประเทศที่เป็นกลางและเป็นหนึ่งใน “เพื่อนบ้าน” ของประเทศติมอร์-เลสเต ได้ส่งกองกำลังเข้าไปช่วยประเทศติมอร์-เลสเต ในช่วงที่มีการสร้างชาติ ตามคำขอของสหประชาชาติ
นอกจากการช่วยเหลือด้านการรักษาสันติภาพและการสร้างระบอบประชาธิปไตยในประเทศแล้วนั้น ไทยยังได้ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปเผยแพร่และให้ความรู้อีกด้วย ส่งผลให้ชาวติมอร์-เลสเต มีทัศนคติที่ดีต่อไทย และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสานสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและติมอร์-เลสเตต ราบจนทุกวันนี้
กองกำลังรักษาสันติภาพไทย ประจำกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในติมอร์-เลสเต (ที่มา: พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ)
ปัจจุบัน ติมอร์-เลสเต เป็นประเทศที่น่าจับตามองอย่างมาก เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ไปด้วย น้ำมัน และป่าไม้ อีกทั้งยังมีแรงงานจำนวนมาก รวมถึงค่าแรงที่ต่ำกว่าประเทศอื่นโดยรอบ อย่างไรก็ตาม แม้ติมอร์-เลสเต จะอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่ยังต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคล โครงสร้างพื้นฐาน และโลจิสติกส์ โดยเฉพาะด้านเส้นทางการบินพลเรือน
โดยปัจจุบันยังไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างไทยและติมอร์-เลสเต อีกทั้งยังมีข้อจำกัดด้านภาษาในการทำธุรกิจเนื่องจากภาษาที่ชาวติมอร์-เลสเต ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรตุเกส ภาษาบาฮาซาอินโดนีเซีย และภาษาท้องถิ่น ซึ่งล้วนไม่ใช่ภาษาที่นิยมในการทำธุรกิจ
ในฐานะมิตรประเทศ ไทยได้จัดการประชุมความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับติมอร์-เลสเต โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าและสำคัญที่สุด โดยมีการประชุมระหว่างกันทุก ๑๘ เดือน ภายใต้ความร่วมมือ ๗ รูปแบบ ได้แก่ ๑) โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ๒) ทุนการศึกษา/ฝึกอบรมดูงาน ๓) การส่งผู้เชี่ยวชาญไทยไปปฏิบัติงาน ๔) การส่งอาสาสมัครเพื่อนไทย ๕) การมอบวัสดุอุปกรณ์ ๖) หลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (AITC) และ ๗) หลักสูตรศึกษาปริญญาโทนานาชาติ (TIPP)
ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต (ที่มา: กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA))
ในเวทีระหว่างประเทศ ปัจจุบันติมอร์-เลสเต มีสถานะเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ในการประชุมกรอบต่าง ๆ ของอาเซียน รวมถึงการประชุมสุดยอดแบบเต็มคณะ ซึ่งล่าสุดในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนได้เห็นชอบในหลักการที่จะรับติมอร์-เลสเต เข้าเป็นประเทศสมาชิก ประเทศ ที่ ๑๑ ของอาเซียนในอนาคต โดยจะมีการวาง roadmap สำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเป็นทางการให้แก่ติมอร์-เลสเต ด้วย โดยไทยพร้อมมีบทบาทเชิงรุกให้การสนับสนุนในการนี้
บทความโดย
นางสาวเพ็ญประไพ มะยมรัฐ
เจ้าหน้าที่สนับสนุนภารกิจด้านการประชาสัมพันธ์การจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการต่างประเทศ
เรียบเรียงโดย
นายเอกวิทย์ ซอหะซัน
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
โฆษณา