3 มี.ค. 2023 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ตลาดกล้วยไม้

อุตสาหกรรมดอกไม้ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ไต้หวันมีความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในส่วนของกล้วยไม้พันธุ์ฟลาแลนของไต้หวันที่มีชื่อเสียงในระดับโลก แต่เพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การส่งออกดอกไม้ตัดดอกไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นดอกไลซิแอนทัส หรือกล้วยไม้พันธุ์ออนซิเดียม ต่างก็มีการหดตัวจนส่งผลให้มีสินค้าเหลือจำหน่ายในประเทศมากเกินไป และทำให้ราคาขายในไต้หวันปรับตัวลดลงไม่น้อย
ล่าสุด สถานการณ์การส่งออกไม้ตัดดอกในปีนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทุเลาลงมากแล้ว การจัดกิจกรรมและงานเลี้ยงของประชาชนก็เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่รัฐบาลก็เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ประชาชนใช้ดอกไม้มากขึ้น จึงเชื่อว่าตลาดดอกไม้ของไต้หวันในปีนี้จะ กลับมาขยายตัวอีกครั้ง
ช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ราคาของสินค้าเกษตรรวมถึงปศุสัตว์และ ประมงของไต้หวันต่างก็มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จะมีก็แต่สินค้าดอกไม้ที่ราคาเฉลี่ยโดยรวมลดลงถึงร้อยละ 26 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการที่การส่งออกมีการหดตัว เช่น ดอกกล้วยไม้ออนซิเดียมตัดดอก ซึ่งในปีที่ผ่ามา การส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่ถือเป็น ตลาดหลักมีการหดตัวลงร้อยละ 19.4 ส่วน ดอกไลซิแอนทัสตัดดอกก็ลดลงร้อยละ 47.6
ทำให้ผลผลิตที่เหลือจากการส่งออกถูกป้อนเข้าสู่ตลาดในไต้หวัน แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาเงินเฟ้อทำให้ความต้องการบริโภคภายในไต้หวันลดลง แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้ น่าจะมีโอกาสฟื้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยสภาเกษตรของไต้หวันได้เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายดอกไม้เพื่อ ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในไต้หวันให้เพิ่มสูงขึ้น
เกษตรกรผู้ส่งออกดอกไลซิแอนทัสไปยังญี่ปุ่น เห็นว่าญี่ปุ่นกับไต้หวันมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง เช่น รายได้ของประชาชนแทบไม่มีการขยายตัว แต่ราคาสินค้าและค่าขนส่งกลับปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการที่ค่าเงินเยนลดลงอย่างหนัก ส่งผลให้การบริโภคหดตัวและกระทบต่อการส่งออกดอกไม้ตัดดอกเป็นอย่างมาก เพราะดอกไม้ส่งออกของไต้หวันบางชนิดต้องพึ่งพาตลาดญี่ปุ่นเป็หลัก ทำให้ในปีที่ผ่านมา ราคาดอกไม้ตัดดอกที่ส่งออกไปญี่ปุ่นมีราคาถูกกว่าราคาขายในไต้หวัน
กล้วยไม้พันธุ์ออนซิเดียมของไต้หวันมีผลผลิตต่อปีประมาณ 45 ล้านต้น และมีญี่ปุ่นเป็นตลาดสำคัญเพียงแห่งเดียว ซึ่งในปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไต้หวันส่งออกกล้วยไม้พันธุ์ออนซิ เดียมตัดดอกไปยังญี่ปุ่ประมาณ 22.11 ล้านกิ่ง แต่หลังเกิดการแพร่ระบาด การส่งออกหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 40
ข้อเสนอแนะ / ความคิดเห็นของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไทเป
ต้นกล้วยไม้ถือเป็นไม้ดอกที่นิยมมอบให้แก่กันมากที่สุดในไต้หวันซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 4 ไปจนถึงไตรมาสแรกของแต่ละปีจะเป็นช่วงที่ปริมาณความต้องการดอกไม้ในไต้หวันสูงที่สุด เนื่องจากชาวไต้หวันนิยมจัดพิธีมงคลสมรสกันมากที่สุดในช่วงหลังเทศกาลไหว้พระจันทร์ไปจนถึงก่อนเทศกาลตรุษจีน ซึ่งมักเป็นในช่วงเดือนมกราคม - ต้นเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ในช่วงไตรมาสแรกนี้ยังมีเทศกาลสำคัญมากมาย ที่ใช้ดอกไม้ในการเฉลิมฉลองทำให้ราคากล้วยไม้ในช่วงนี้จะสูงที่สุดในรอบปี
นอกจากนี้ชาวไต้หวันยังนิยมมอบกล้วยไม้เป็นของขวัญในการเปิดกิจการของห้างร้านด้วยเช่นกัน สำหรับในส่วนของกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวายที่มีการนำเข้าจากไทยมาไม่น้อย ส่วนใหญ่จะถูกใช้ในการจัดจานของร้านอาหารรวมไปจนถึงการจัดเลี้ยงต่างๆ ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีที่ผ่านมา (2565)
ซึ่งไต้หวันเริ่มเปิดพรมแดนและมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้มีการจัดงานเลี้ยงต่างๆ มากขึ้น มูลค่าการนำเข้ากล้วยไม้ไทยจึงเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 10.9 และ 43.8 และการที่รัฐบาลไต้หวันผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคมากขึ้น ประกอบกับการที่ชาวไต้หวันหันกลับมาใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง เชื่อว่าปีนี้การส่งออกกล้วยไม้ไทยมายังไต้หวัน จะมีการขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน
Reference
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไทเป
Economic Daily News / Central News Agency (February 13, 2022)
โฆษณา