Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Wolfpack Style 80
•
ติดตาม
2 มี.ค. 2023 เวลา 06:51 • ปรัชญา
หลัก 19 ข้อ ในการใช้ชีวิตของ Marcus Aurelius จักรพรรดิ์โรมันนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่
1. “ให้ความสำคัญกับผู้คนเป็นอันดับแรก”
2
2. “อย่าให้ใครได้ยินว่าคุณบ่น…”
3. “ทำเฉพาะสิ่งที่จำเป็น”
4. “อย่าเสียเวลากังวลกับความคิดเห็นของคนอื่น”
5. “อย่าจมอยู่กับความกลัวในจินตนาการ”
6. “โฟกัสที่ความพยายาม ไม่ใช่ผลลัพธ์”
7. ถ้าคุณใกล้ตาย คุณจะยังทำสิ่งนี้มั้ย? ตัดสิ่งนั้นออกถ้าคำตอบคือไม่ใช่
8. “เลือกความเห็นอกเห็นใจมากกว่าความโกรธเคือง”
9. “ฮึดจมูกของคุณเอง - อย่ารอหวังว่าจะมีคนมาช่วยคุณ คุณต้องช่วยตัวเอง”
10. “คิดถึงพัฒนาการ ไม่ใช่คิดถึงความสมบูรณ์แบบ”
11. “ปล่อยวางความวิตกกังวล”
12. “เลือกทำสิ่งที่ยากกว่า”
13. “ตื่นเร็วให้ได้”
14. “เข้มงวดกับตัวเองและอดทนต่อผู้อื่น”
15. “อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ”
16. “ถือว่าความสำเร็จและความล้มเหลวนั้นเหมือนกัน”
17. “เป็นอิสระจากอารมณ์และเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก”
18. “อุปสรรคคือหนทาง”
19. “ทำในสิ่งที่ถูกต้องเสมอ”
1
===================================
หลัก 19 ข้อ ในการใช้ชีวิตของ Marcus Aurelius จักรพรรดิ์โรมันนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ [เขียนโดย Ryan Holiday]
.
Marcus Aurelius ไม่เคยอ้างว่าเป็น Stoic
.
Gregory Hays หนึ่งในนักแปลที่ดีที่สุดของเรื่องราวเกี่ยวกับ Marcus Aurelius เขียนไว้ในบทนำของหนังสือ “Meditations” ว่า “ถ้ามาร์คัสต้องระบุตัวเขากับโรงเรียนใดสำนักหนึ่ง.. [ลัทธิสโตอิก] คงจะเป็นสำนักที่เขาเลือกแน่นอน แต่ฉันสงสัยว่าหากถามว่าเขาศึกษาอะไร คำตอบของเขาคงไม่ใช่ 'ลัทธิสโตอิก' แต่เป็นเพียง 'ปรัชญา'”
.
จากนั้นเขาตั้งข้อสังเกตว่าในโลกยุคโบราณ "ปรัชญา" ไม่ได้ถูกรับรู้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มันมีบทบาทที่แตกต่างกันมาก "มันไม่ใช่แค่เรื่องที่จะเขียนถึงหรือโต้เถียงกัน" เฮย์สเขียน "แต่เป็นเรื่องที่ให้ 'แบบแผนสำหรับการใช้ชีวิต' - ชุดของกฎในการใช้ชีวิตของคน ๆ หนึ่ง - นั่นคือสิ่งที่ปรัชญานี้มอบให้เรา
1
.
ปรัชญา คือ “ดีไซน์ในการใช้ชีวิต” ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะอย่างที่เซเนกาเขียนไว้ว่า “ชีวิตที่ปราศจากการออกแบบนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้”
.
กฎของมาร์คัสมีอะไรบ้าง? นี่คือรายการโปรดของผม (Ryan Holiday)
> 1. “ให้ความสำคัญกับผู้คนเป็นอันดับแรก”
.
.
เรื่องราวที่ผมชื่นชอบเกี่ยวกับมาร์คัส ออเรลิอุสนั้นมาจากเรื่องราวลึกๆของ Antonine Plague ซึ่งเป็นโรคระบาดร้ายแรงในกรุงโรมโบราณที่คร่าชีวิตผู้คนนับล้าน เศรษฐกิจของกรุงโรมพังพินาศ ผู้คนล้มตายตามท้องถนน และทุกคนรู้สึกว่าไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว
.
แล้วมาร์คัสทำอะไร?
.
เขาเดินผ่านพระราชวังและเริ่มตั้งพื้นที่เพื่อขายของ จากนั้นเป็นเวลาสองเดือน บนสนามหญ้าในวังของจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ เขาขายเอาอัญมณีของเขามาขาย เครื่องเรือน และเครื่องประดับที่เป็นของจักรพรรดิอย่างเขากำลังถูกขาย
.
นั่นคือ เขากำลังส่งข้อความว่า 'ฉันจะไม่ให้ความสำคัญกับตัวเองก่อน ฉันไม่ต้องการของหรูหราเหล่านี้ — ไม่ใช่ตอนที่ผู้คนลำบาก’
.
สำหรับผมแล้ว นี่เป็นเหมือน CEO ที่ยอมลดค่าจ้างในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี นี่คือนักกีฬาที่เจรจาสัญญาใหม่เพื่อให้ทีมสามารถนำผู้เล่นใหม่เข้ามาได้ นี่คือผู้นำที่เสียสละและต่อสู้ดิ้นรนและให้ความสำคัญกับผู้คนของเขามากกว่าความสะดวกสบายและความต้องการของตนเอง นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่ายิ่งใหญ่
> 2. “อย่าให้ใครได้ยินว่าคุณบ่น…”
.
.
อย่าบ่นแม้แต่กับตัวเอง ในหนังสือ Meditations มาร์คัสพูดถึงแนวคิดนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า: จงมองข้างเข้าข้างใน ไม่ใช่มองออกไปภายนอก อย่าบ่น อย่ายุ่งเรื่องของผู้อื่น เมื่อคุณเห็นใครบางคนทำตัวไม่เหมาะสม ให้จำไว้ว่า คุณก็เคยทำตัวไม่เหมาะสม
2
.
ลัทธิ Stoic ไม่มีเวลาบ่นเกี่ยวกับคนอื่นเพราะพวกเขายังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงอีกมากภายในตัวเอง เมื่อเราแยกแยะระหว่างสิ่งที่อยู่ในการควบคุมของเรากับสิ่งที่อยู่นอกการควบคุม เราจะเห็นได้อย่างทันทีว่ามีเพียง การตัดสินใจ การกระทำ คำพูดและความคิดของเราเองเท่านั้นที่ควรค่าแก่การใส่ใจของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างนอกจากนั้นเป็นเรื่องของคนอื่น
> 3. “ทำเฉพาะสิ่งที่จำเป็น”
.
.
นี่คือสูตรง่ายๆ ของ Marcus เพื่อประสิทธิภาพและความสุข “ถ้าคุณแสวงหาความเงียบสงบ” เขากล่าว “ทำให้น้อยลง” แล้วเขาก็ชี้แจงต่อว่า ไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ทำให้น้อย ทำเฉพาะสิ่งที่จำเป็น แล้วมันจะนำมาซึ่งความพึงพอใจสองเท่า “ทำน้อยลงแต่ดีขึ้น” ลองทำตามคำแนะนำนี้วันนี้และในทุกๆวัน แปะมันไว้ในที่ที่คุณเห็นบ่อยๆ “ทำเฉพาะสิ่งที่จำเป็น”
> 4. “อย่าเสียเวลากังวลกับความคิดเห็นของคนอื่น”
.
.
มาร์คัสพูดถึงความย้อนแย้งที่ประหลาด: โดยทั่วไปแล้วมนุษย์นั้นเห็นแก่ตัว แต่เรากลับให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของคนอื่นเกี่ยวกับตัวเรามากกว่าความคิดเห็นของตัวเราเอง “มันไม่เคยหยุดทำให้ฉันประหลาดใจ” เขาเขียน “เราทุกคนรักตัวเองมากกว่าคนอื่น แต่กลับใส่ใจความคิดเห็นของพวกเขามากกว่าตัวเราเอง”
.
หลักการสโตอิกพื้นฐานนั้นคือ การที่เรามุ่งเน้นเฉพาะสิ่งที่อยู่ในการควบคุมของเรา ความคิดเห็นของคนอื่นไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเรา อย่าใช้เวลาไปกับการกังวลว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร
1
> 5. “อย่าจมอยู่กับความกลัวในจินตนาการ”
.
.
อย่าให้จินตนาการของคุณบดบังชีวิตโดยรวม มาร์คัสเตือนตัวเอง “จงอยู่กับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า” มุ่งเน้นไปที่ช่วงเวลาตรงหน้านั้น อย่าเสียเวลาคิดเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดที่อาจโผล่มาในภายภาคหน้า หรืออาจจะไม่โผล่มาก็ได้
> 6. “โฟกัสที่ความพยายาม ไม่ใช่ผลลัพธ์”
.
.
มันเป็นความย้อนแย้งที่แปลกประหลาด คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมากที่สุด ผู้ที่ครองตำแหน่งสูงสุดในอาชีพของพวกเขา พวกเขาไม่ได้สนใจเรื่องการชนะมากนัก พวกเขาไม่สนใจผลลัพธ์
.
ดังที่มาร์คัสกล่าวไว้ มันบ้ามากที่จะผูกโยงความเป็นอยู่ที่ดีของคุณกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของคุณ
.
มาร์คัสเขียนว่า ความสำเร็จ ความเชี่ยวชาญ หรือการมีสตินั้น มาจากการผูกโยงความเป็นอยู่ที่ดีของคุณเข้ากับ “การกระทำของคุณเอง” หากคุณทำดีที่สุดแล้ว ทุ่มสุดตัว หากคุณใช้วิจารณญาณที่ดีที่สุด นั่นคือชัยชนะ...ไม่ว่ามันจะเป็นผลลัพธ์ที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม
> 7. ถ้าคุณใกล้ตาย คุณจะยังทำสิ่งนี้มั้ย? ตัดสิ่งนั้นออกถ้าคำตอบคือไม่ใช่
.
.
ลองถามคำถามนี้ มาร์คัสชอบที่จะกรองตัวเลือกของเขาผ่านคำถาม “คุณกลัวความตายเพราะคุณจะไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้อีกต่อไปใช่หรือไม่?”
.
นั่นแหละคือประเด็นของแนวคิด memento mori หากคุณมีเวลาไม่จำกัด คุณอาจไม่รังเกียจที่จะใช้เวลาสองชั่วโมงต่อวันไปกับการจราจร บางทีคุณคงไม่รังเกียจที่จะเลื่อนดู Twitter หรือจัดการกับข้อมูลในอีเมลในอินบอกซ์ของคุณ
.
แต่ถ้าจู่ๆ ความตายก็เกิดขึ้นจริงสำหรับคุณ ถ้าคุณมีเวลาอยู่ไม่กี่เดือนหรือเป็นปี คุณจะใช้เวลาทำอะไรน้อยลงในทันที อะไรที่คุณจะตัดออก? ตัดสิ่งนั้นออกไปตั้งแต่ตอนนี้ไม่ใช่ในภายหลัง
> 8. “เลือกความเห็นอกเห็นใจมากกว่าความโกรธเคือง”
.
.
ใน “Meditations” Marcus เขียนว่า การขอโลกที่ปราศจากคนไร้ยางอายและการกระทำชั่ว คือ การขอสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เขากล่าวเสริมว่า คนที่ทำร้ายผู้อื่นจบลงด้วยการทำร้ายตัวเองเท่านั้น — “การทำความอยุติธรรมต่อผู้อื่นคือการทำความอยุติธรรมให้ตัวเอง — มันทำให้คุณเสื่อมเสีย”
.
มาร์คัสกล่าวว่า คนเหล่านี้สมควรได้รับความสงสาร เขาเขียนว่า “เมื่อมีคนทำร้ายคุณ จงรู้สึกเห็นอกเห็นใจมากกว่าโกรธแค้น”
.
สำนึกในความดีและความชั่วของคุณอาจจะเหมือนกับพวกเขาหรือใกล้เคียง ซึ่งในกรณีนี้คุณต้องให้อภัยพวกเขา
.
หรือ สำนึกในความดีและความชั่วของคุณอาจแตกต่างจากของพวกเขา ซึ่งในกรณีนี้พวกเขาหลงทางและสมควรได้รับความเห็นใจจากคุณ”
> 9. “ฮึดจมูกของคุณเอง - อย่ารอหวังว่าจะมีคนมาช่วยคุณ คุณต้องช่วยตัวเอง”
.
.
มาร์คัส สังเกตว่าตัวเองมักอธิษฐานขอให้ได้อะไรมาบ่อยแค่ไหน และจะดีกว่าไหม ถ้าเขาจะทำให้ตัวเองแข็งแกร่งพอที่จะไม่ต้องการสิ่งใดๆ ที่เทพเจ้าจะประทานให้
.
Epictetus เรียกสิ่งนี้ว่าการฮึดจมูกของคุณเอง นั่นคือ อย่ารอโดยหวังว่าจะมีคนมาช่วยคุณแก้ปัญหาของคุณเอง
.
แทนที่จะเฝ้ารอ ลองฟังคำสอนของ Marcus เพื่อช่วยเหลือตัวเองให้แข็งขัน - หากคุณรักตัวเอง คุณต้องจัดการปัญหาของตัวเอง และทำอย่างเต็มความสามารถ
> 10. “คิดถึงพัฒนาการ ไม่ใช่คิดถึงความสมบูรณ์แบบ”
.
.
มาร์คัสเตือนตัวเองว่า: "อย่ารอคอยความสมบูรณ์แบบของสาธารณรัฐของเพลโต" เพราะถ้าคุณทำ นั่นคือทั้งหมดที่คุณทำ..
.
นี่เป็นความย้อนแย้งของพวกลัทธินิยมความสมบูรณ์: มันไม่เคยมีความสมบูรณ์ที่แท้จริง — หากมองความความสมบูรณ์แบบ คุณจะพบแต่ความผิดหวัง ความคับข้องใจ และแน่นอน การผัดวันประกันพรุ่ง
.
ดังนั้น มาร์คัสจึงกล่าวว่า “จงพอใจกับความก้าวหน้าแม้เพียงเล็กน้อย” คุณจะไม่มีวันสมบูรณ์แบบ ไม่มีสิ่งนั้น คุณเป็นมนุษย์ ดังนั้น ให้มุ่งไปที่ความก้าวหน้าแทน แม้จะเป็นความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยที่สุดก็ตาม
> 11. “ปล่อยวางความวิตกกังวล”
.
.
“วันนี้ฉันหลุดพ้นจากความวิตกกังวล” มาร์คัสกล่าว “หรือไม่ก็คือ ฉันทิ้งมันไป เพราะมันอยู่ในตัวฉัน อยู่ในการรับรู้ของฉันเอง มันไม่ได้มีอยู่จริง”
.
เขาเขียนสิ่งนี้ในช่วงที่เกิดโรคระบาดอย่างหนัก เราบอกตัวเองว่าเรากำลังเครียดและวิตกกังวลเพราะเจ้านายกดดันเรา หรือเพราะเส้นตายที่ใกล้เข้ามา หรือเพราะสถานที่ทั้งหมดที่เราต้องอยู่และคนที่เราต้องเจอ และเมื่อทุกอย่างลงตัว คุณก็ตระหนักว่า 'โอ้ ไม่ใช่ละ นั่นมันฉันเอง ฉันคือต้นเหตุของความวิตกกังวล’ ความกังวลมาจากภายใน และคุณสามารถเลือกที่จะทิ้งมันได้
> 12. “เลือกทำสิ่งที่ยากกว่า”
.
.
เมื่อใดก็ตามที่เรามาถึงทางแยกเล็กๆ นั่นคือ การต้องตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำและวิธีการที่จะทำมัน มาร์คัสกล่าวว่าให้เริ่มต้นที่ตัวเลือกที่ท้าทายคุณที่สุด เขาเขียนใน “Meditation” เกี่ยวกับการถือบังเหียนไว้ในมือข้างที่ไม่ถนัด ซึ่งเป็นทั้งแบบฝึกหัดของตัวเขา และเป็นการอุปมาสำหรับการทำสิ่งที่ยาก
.
กระโดดลงไปในสระที่เย็นกว่า
.
เดินแทนการขับรถ
.
หยิบหนังสือแทนโทรศัพท์ของคุณ
.
รับผิดชอบแทนที่จะหวังว่ามันจะไม่มีใครสังเกตเห็น
.
ไม่ว่าจะในเรื่องใหญ่และเล็ก ความกล้าหาญคือการเลือกตัวเลือกที่ยากกว่า
.
จงทำให้เป็นนิสัย เหล็กลับเหล็กให้คมได้ คุณจะดีขึ้นได้เรื่อยๆ ไม่เพียงแต่พัฒนาการด้านทักษะฃเท่านั้น แต่รวมถึงพลังใจที่คุณกำลังพัฒนาโดยการเลือกตัวเลือกที่ยากกว่าอย่างตั้งใจ
> 13. “ตื่นเร็วให้ได้”
.
.
พูดถึงการทำสิ่งที่ยาก หนึ่งเรื่องราวใน Meditations ที่คนอย่างเราๆเข้าถึงได้มากที่สุดก็คือ การโต้เถียงที่มาร์คัสมีกับตัวเองในเรื่องของการตื่นเช้า
.
เช่นเดียวกับพวกเราหลายคน เขารู้ว่าต้องลุกจากเตียง แต่ก็ยังอยากอยู่ใต้ผ้าห่มอุ่นๆ เหลือเกิน มันน่าประทับใจเพราะ มาร์คัสไม่จำเป็นต้องลุกจากเตียง เขาไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้ จักรพรรดิมีสิทธิพิเศษทุกประเภท แต่มาร์คัสยืนกรานว่าเขาจะตื่นแต่เช้าไปทำงาน ทำไมน่ะเหรอ? เพราะมาร์คัสรู้ว่าการเอาชนะตัวเองในตอนเช้า คือกุญแจสู่การชนะในวันนั้นๆ รวมทั้งชัยชนะในชีวิต
.
มาร์คัส คงไม่เคยได้ยินคำพูดที่ว่า “นกที่ตื่นเช้าย่อมได้หนอน” แต่เขารู้ดีว่าการเริ่มต้นที่ดีของวันก็คือการสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง
.
การผลักดันตัวเองให้ทำบางสิ่งที่อึดอัดและยากลำบาก ก็คือการได้เริ่มต้นขั้นตอนแรกของกระบวนการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
> 14. “เข้มงวดกับตัวเองและอดทนต่อผู้อื่น”
.
.
เรียกอีกอย่างก็คือ การมีวินัยในตนเอง และโปรดจำไว้ว่า ลัทธิสโตอิกเป็นปรัชญาส่วนบุคคลที่ออกแบบมาเพื่อชี้นำพฤติกรรมของตนเอง มันเย้ายวนใจที่คุณจะพยายามทำให้ผู้อื่นมีมาตรฐานเดียวกับที่คุณยึดถือ แต่สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ไม่ยุติธรรมเท่านั้น (เขาไม่ได้สมัครใจ) มันยังไม่เวิร์คอีกด้วย
.
ข้อสังเกตจาก Ernest Renan นักเขียนชีวประวัติของ Marcus ผู้ที่มีความรอบคอบที่สุด อธิบายว่า “ผลที่ตามมาของปรัชญาที่เคร่งครัดอาจก่อให้เกิดความเข้มงวดและรุนแรง แต่นั่นก็คือความดีที่ไม่ค่อยมีใครมี แต่สิ่งสำคัญที่เปล่งประกายออกมาอย่างเจิดจรัสในธรรมชาติของ Marcus Aurelius ก็คือ “ความเข้มงวดของเขาจำกัดอยู่แค่ที่ตัวเขาเอง” นั่นแหละคือกุญแจสำคัญ มาตรฐานของคุณควรมีไว้สำหรับคุณเท่านั้น
.
มาร์คัส กล่าวว่า ปรัชญาที่เข้มงวดกับตัวเองและให้อภัยผู้อื่น ไม่ได้เป็นแค่วิธีที่ทำให้คุณเป็นคนจิตใจดีเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีเดียวที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย
> 15. “อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ”
.
.
ใช่ สโตอิกนั้นแข็งแกร่ง ใช่ สโตอิกคือผู้กล้าหาญ ใช่ สโตอิกแบกภาระและเต็มใจแบกภาระให้คนอื่นด้วยเมื่อจำเป็น แต่พวกเขาก็ต้องสามารถขอความช่วยเหลือได้เช่นกัน เพราะบางครั้งนั่นเป็นสิ่งที่แข็งแกร่งและกล้าหาญที่สุดที่จะทำ
.
“อย่าอายที่ต้องการความช่วยเหลือ” Marcus Aurelius เขียน “เหมือนกับทหารที่บุกกำแพง คุณมีภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จ และถ้าคุณได้รับบาดเจ็บและคุณต้องการเพื่อนที่จะดึงคุณขึ้น? แล้วทำไมคุณจะไม่ขอความช่วยเหลือล่ะ”
.
หากคุณต้องการเวลาสักครู่ ขอ
.
หากคุณต้องการความช่วยเหลือ ขอ
.
หากคุณต้องการการบำบัด therapy ไปเลย คุยกับหมอ
.
หากคุณจำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่ ลุยเลย
.
หากคุณต้องการพึ่งพาใครสักคนหรือบางสิ่ง จงทำ
> 16. “ถือว่าความสำเร็จและความล้มเหลวนั้นเหมือนกัน”
.
.
มาร์คัสเขียนว่า บางวัน ฝูงชนโห่ร้องและบูชาคุณ และในวันอื่นๆ พวกเขาเกลียดคุณและทุบตีคุณด้วยก้อนอิฐ
.
คุณได้รับโชคดีในบางครั้ง ได้รับเครดิตและความสนใจมากกว่าที่คุณสมควรได้รับ และบางครั้งคุณจะได้รับมาตรฐานที่ไม่ยุติธรรมอย่างไม่น่าเชื่อ พวกเขาจะสร้างคุณขึ้นแล้วทำลายคุณลง - และทำเหมือนว่ามันเป็นความผิดของคุณเองที่ขึ้นไปถึงจุดนั้นตั้งแต่แรก พวกเขาจะวิพากษ์วิจารณ์คุณในที่สาธารณะและบอกคุณเป็นการส่วนตัวว่าทั้งหมดนี้เป็นการแสดง คุณจะมีปีที่ดีและไม่ดี เวลาที่ไพ่เด็ดหล่นมาทางเรา เวลาที่ลูกเต๋าโผล่ขึ้นมาเป็นตางู นั่นคือวิถีที่มันเป็นไป
.
มาร์คัสกล่าวว่ากุญแจสำคัญ คือ การยอมรับมันทั้งหมด ยอมรับสิ่งที่ดีโดยไม่เย่อหยิ่ง ปล่อยสิ่งไม่ดีไปด้วยความไม่แยแส
.
ความสำเร็จหรือความล้มเหลวไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับคุณ ก้อนหินที่ขว้างขึ้นไปในอากาศไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการขึ้นไป และก็ไม่ได้อะไรจากการตกลงมาด้วยเช่นกัน มาร์คัสกล่าว
> 17. “เป็นอิสระจากอารมณ์และเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก”
.
.
มาร์คัสไม่ใช่หุ่นยนต์ไร้ความรู้สึก เขาเป็นสามีและพ่อ เขาเขียนอย่างสวยงาม เขามีหลักการ ทำงานหนักและเสียสละ สิ่งเหล่านี้ไม่มีทางเป็นไปได้สำหรับคนที่ไร้ความรู้สึก
.
ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาและพวกสโตอิกได้พูดคุยกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการจัดการอารมณ์ เขาพูดถึงการเอาชนะอารมณ์ของพวกเขา เขาพูดถึงการเอาชนะความเศร้าโศก กล่าวถึงการดับตัณหาและขจัดความกลัว มันฟังดูขัดแย้ง แต่ก็เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก อย่างน้อยก็ในการแสดงออกของมาร์คัส
.
เขาอธิบายในตอนเริ่มต้นของ Meditations ในสิ่งที่เขาเรียนรู้จากอาจารย์ Sextus “อย่าแสดงความโกรธหรืออารมณ์อื่นๆ จงปราศจากกิเลสตัณหาและยังเปี่ยมด้วยความรัก” งดงาม!
.
ไม่ใช่ว่าพวกสโตอิกไม่มีอารมณ์หรือไม่มีความกลัว แต่พวกเขาควบคุมอารมณ์เหล่านั้นและแทนที่มันด้วยความรัก
.
พวกเขารักชะตากรรมของพวกเขา (amor fati) พวกเขารักคนอื่น ๆ พวกเขารักทุก ๆ นาทีที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ รักรักรัก. นั่นคือสิ่งที่คุณแทนที่อารมณ์ทั้งหมด
> 18. “อุปสรรคคือหนทาง”
.
.
เมื่อคุณคิดว่าคุณติดแหง็กอยู่ มาร์คัสบอกว่า คุณไม่ได้ติดแหง็ก ใช่ เส้นทางหนึ่งอาจถูกปิด แต่ก็ยังมีเส้นทางอื่นที่เปิดอยู่เสมอ “อุปสรรคต่อการกระทำทำให้การกระทำก้าวหน้า”
.
Marcus เขียนไว้โดยได้รับสรรเสิรญอย่างมากว่า “อะไรขวางทาง สิ่งนั้นก็กลายเป็นทางนั้น” ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอะไรมาขวางทางคุณได้ แต่หมายความว่าไม่มีอะไรสามารถหยุดคุณจากการยอมรับและปรับตัวได้ ไม่มีอะไรเลวร้ายจนเราไม่สามารถสร้างประโยชน์จากมันได้ เราสามารถทำให้ทุกปัญหากลายเป็นโอกาสในการใช้ชีวิตที่ดี
> 19. “ทำในสิ่งที่ถูกต้องเสมอ”
.
.
“แค่คุณทำในสิ่งที่ถูกต้อง” มาร์คัสเขียน “ที่เหลือก็ไม่มีอะไรอีกที่สำคัญ
==============================
.
เขียนโดย Ryan Holiday
.
แปลไทยและเรียบเรียงโดย Wolfpack Style 80
==============================
- มาร์คัส อูเรเลียส -
.
เป็นจักรพรรดิ์แห่งอาณาจักรโรมัน ในช่วงปี AD 161 ถึง 180
.
ถือเป็นผู้ปกครองคนสุดท้าย จากบรรดาจักรพรรดิ์ที่ดีทั้งหมด 5 คน ในประวัติศสาสตร์อาณาจักรโรมัน
.
จักรพรรดิ์ อูเรเลียส ใช้ชีวิตตามแนวทาง
ปรัชญาสโตอิก และได้เขียนโน๊ตส่วนตัวไว้เล่มหนึ่ง ซึ่งภายหลังหนังสือเล่มนี้ถูกเรียกชื่อว่า Meditations
พัฒนาตัวเอง
ปรัชญา
4 บันทึก
2
7
4
2
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย