2 มี.ค. 2023 เวลา 09:52 • ธุรกิจ

SABUY จะซื้อหุ้น SINGER เพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท

เมื่อวานนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY มีมติเห็นชอบ ให้บริษัท เข้าซื้อหุ้นของบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER เพิ่มอีก 87,951,300 ล้านหุ้น
หากการเข้าซื้อสำเร็จ ก็จะทำให้ SABUY มีสัดส่วนความเป็นเจ้าของ SINGER ถึง 15% ขึ้นแท่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ของบริษัท ทันที
แล้ว SABUY และ SINGER ทำธุรกิจอะไร ?
สำหรับผู้เข้าซื้ออย่าง SABUY นั้น เป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่มีธุรกิจในเครือ ครอบคลุมไปในหลายด้าน เช่น ธุรกิจบริการด้านการชำระเงินและระบบการเงินอิเลคทรอนิกส์ และธุรกิจให้บริการสินเชื่อและประกันภัย
ในขณะที่ SINGER ทำธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าประเภทเช่าซื้อ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ซิงเกอร์”
โดยมีสินค้าอย่างเช่น จักรเย็บผ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านต่าง ๆ
ส่วนโดยการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ จะเป็นการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มอีก 87,951,300 ล้านหุ้น ในราคาเฉลี่ย 27 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนกว่า 2,374 ล้านบาท
หากรวมกับการเข้าซื้อหุ้น SINGER เพิ่มอีกครั้งนี้
จะทำให้ SABUY ถือหุ้นของ SINGER ถึงจำนวน 123,351,300 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 15% และทำให้ SABUY กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3
โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่มีสัดส่วนใน SINGER มากกว่า ก็จะเป็น
-JMART 25%
-RABBIT 24%
อย่างไรก็ตาม ดีลนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า SABUY ได้มีการพูดคุยกับผู้ถือหุ้นใหญ่เบอร์หนึ่งอย่าง JMART มาก่อนหรือไม่
หากไม่ได้มีการพูดคุยกัน ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า การเข้าซื้อหุ้นของ SABUY อาจเป็นการเข้าซื้อกิจการแบบไม่เป็นมิตร (Hostile Takeover)
แต่ถ้าหากเป็นการเข้าร่วมมือกันตามปกติ การผสานระหว่างความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของ SABUY และฐานลูกค้าของ SINGER ก็ถือว่าเป็นท่าปกติทั่วไป
ที่ผ่านมาบริษัท SABUY มีฐานลูกค้าเป็นผู้มีรายได้น้อย ที่ยังเข้าไม่ถึงการบริการของธนาคาร
การจับมือกับ SINGER ที่มีฐานลูกค้ากลุ่มเดียวกัน ก็อาจช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้กับ SABUY ได้เหมือนกัน
หากเราไปดูผลประกอบการของ SABUY ในปี 2565
-รายได้รวม 5,325 ล้านบาท
-กำไร 1,482 ล้านบาท
ในความเป็นจริงแล้ว กำไรที่บริษัททำได้ ส่วนหนึ่งมาจากกำไรพิเศษจากการวัดมูลค่ายุติธรรมจากการลงทุน มากถึง 1,404 ล้านบาท
อธิบายง่าย ๆ คือเป็นกำไรที่ได้จากมูลค่าของหุ้นที่ถืออยู่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ได้มาจากธุรกิจหลักของบริษัทแต่อย่างใด
นั่นจึงทำให้ SABUY ไม่ได้มีกระแสเงินสดมากนัก จึงต้องตัดสินใจขอวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยการนำหุ้นบริษัท TKS และ หุ้น AIT ที่บริษัทถืออยู่ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้
หมายความว่า หากหุ้น TKS และ AIT ปรับตัวลดลง SABUY ก็ต้องขายหุ้น หรือ หาหลักประกันมาค้ำประกันเงินกู้เพิ่มมากขึ้น
ก็เป็นที่น่าติดตามกันต่อไปว่า การเข้าซื้อในครั้งนี้ จะเป็นไปได้ด้วยดีหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การเข้าซื้อหุ้น SINGER ของ SABUY ในครั้งนี้ จะกลายเป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าตื่นเต้น ของตลาดหุ้นไทยปีนี้เลยทีเดียว…
โฆษณา