2 มี.ค. 2023 เวลา 11:33 • ไลฟ์สไตล์
ไร่ผมเป็นหนึ่งในไร่ที่ปลูกอ้อยส่งโรงงาน (ถึงจะเป็นไร่ขนาดเล็กก็เถอะ) เป็นความจริงที่ว่าการเผาอ้อยเป็นหนึ่งในวิธีที่ชาวไร่ใช้ในการลดต้นทุน(พวกเราคิดกันอย่างงั้น) เพราะค่าตัดอ้อยสดแพงกว่าค่าตัดอ้อยไฟไหม้จริง ๆ อันนี้ต้องยอมรับ แต่ยังไงก็ตามในฐานะชาวไร่อ้อยคนหนึ่ง(ผมไม่รู้คนอื่นจะรู้สึกยังไง) ผมเองไม่ชอบวิธีการเผาอ้อย
.
ปีนี้ไร่ผมเลือกใช้วิธีตัดอ้อยสด โดยใช้เครื่องจักร(รถตัด)ของโรงงาน และเหตุผลก็ไม่ใช่เรื่องความ "รักโลก" แต่เป็นเพราะมันเป็นวิธีการที่เร็วกว่า ง่ายกว่า สะดวกกว่า แถมไม่ต้องยุ่งเรื่องคนงาน ซึ่งทุกวันนี้ แม้ในภาคเกษตร ก็ดูจะหายากซะเหลือเกิน ผมคิดว่าในอนาคตเครื่องจักรคงเข้ามาแทนแรงงานคนแม้ในภาคเกษตรด้วยอย่างมากกว่านี้ และปริมาณอ้อยสดจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การเผาไร่อ้อยจะลดลงมากกว่านี้แน่ แต่อาจต้องรอซัก 3 - 5 ปี ถึงผมจะไม่มีสถิติมายืนยัน(เพราะไม่ได้ตังใจตอบไว้ก่อน)แต่เชื่อว่าหากเรานำสถิติของอ้อยสดกับ
1
อ้อยไฟไหม้ที่ถูกส่งเข้าโรงงานในช่วงซัก 3 ปีที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นว่าอ้อยสดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถึงจะอย่างนั้นก็ตาม ผมก็ยังคิดว่าปัญหาฝุ่นขนาดเล็กนั้นมันอาจจะลดลงอยู่บ้าง แต่ก็คงไม่หมดไป อย่างชัดเจน เพราะ มันก็น่าคิดอยู่ว่าการที่เราเอาการเผาอ้อยออกไป แต่แทนที่ด้วยเครื่องจักรที่ใช้พลังงานจากน้ำมัน จะทำให้ฝุ่นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเกิดจากการเผาไหม้ลดลงอย่างน่าพอใจได้หรือเปล่า?
.
แน่นอนผมในฐานะชาวไร่ การที่จะโยนความผิดในเรื่องนี้ให้กับเราซะทั้งหมดผมก็คงไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเราไม่มีส่วนร่วมในความผิดนี้เลย มันเป็นความจริงที่ว่า ในเครื่องจักรเศรษฐกิจของประเทศที่เรียกกันว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ชาวไร่อย่างเราเป็นส่วนหนึ่งในนั้น แต่ก็เป็นเพียงเฟืองตัวเล็ก ๆ ที่คอยหมุนให้เฟืองตัวใหญ่มันหมุน และพร้อมกันนั้นพวกเราก็ถูกเฟืองใหญ่ ๆ พาให้หมุนอีกทีหนึ่ง หากคุณไม่ชอบการเผาอ้อยจริง ๆ ก็ดูจะมีแค่ทางเดียวคือประเทศนี้ต้องเลิกทำอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไปเลย
.
1
นั่นคือฝั่งของชาวไร่อ้อย
.
ทีนี้ต่อคำถามที่ว่า "แล้วจะให้คนอื่น(ที่ไม่เกี่ยวกับอ้อยแต่ต้องรับกับผลกระทบนี้)ทำยังไง?" ผมคิดว่า ทำได้มากเลยทีเดียว อย่างที่บอก การเผาอ้อยเป็นเพียงหนึ่งในปรากฏการณ์เล็ก ๆ ของปรากฏการณ์ที่ใหญ่กว่า นั่นคืออุตสาหกรรมน้ำตาลทราย และก็เหมือน ๆ กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ อุตสาหกรรมการผลิตใด ๆ ย่อมไปไม่รอดถ้ามันไม่มีผู้บริโภค ชาวไร่(โรงงานน้ำตาลด้วย)อย่างเรา ๆ ไม่ได้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลกินเองในครัวเรือนกันอยู่แล้ว แล้วเราปลูกและเผาอ้อยเพื่อใครล่ะ? จะใครซะอีกนอกจาก "ผู้บริโภคน้ำตาล" อย่างคุณ!
อย่าบอกผมเด็ดขาดว่าคุณไม่ใช่คนที่กินน้ำตาล เพราะจากประสบการณ์โดยส่วนใหญ่ผมพูดได้ว่าคนไทยเรานั้นถ้าในหนึ่งวันไม่ได้กินน้ำตาลเลยซักช้อนชาเราคงจะขาดใจตาย
.
"ถึงจะอย่างงั้นก็เถอะแล้วเราจะทำยังไงได้?" คุณอาจถาม และผมก็จะตอบว่าคุณทำอะไร ๆได้มากทีเดียว ประการแรก ที่คุณสามารถทำได้เลยในตอนนี้คือ หยุดกินน้ำตาล ไม่ว่ามันจะอยู่ในรูปใด ๆ ก็ตาม ทั้งน้ำอัดลม น้ำเชื่อม ขนม ฯลฯ โอ้ย สาระพัดนั่นแหละ เลอกกินซะให้หมด จากนั้นประการต่อมา คุณต้องรณรงค์ขนานใหญ่ แต่อาจเริ่มจากในวงแคบ ๆ ก่อนก็ได้
คือผลักดันการเลิกกินน้ำตาล "เราจะลดการบริโภคน้ำตาลลงให้ได้มากที่สุด" นั่นคือเป้าหมายในการรณรงค์ของคุณ ในทุก ๆ บริษัทน้ำตาล ที่มีการหีบอ้อยไฟไหม้คือเป้าที่ขบวนการของคุณจะต้องมุ่งไปโจมตี "สังคมไทยไร้น้ำตาล" "น้ำตาลเท่ากับศูนย์" อะไรเทืแกนี้คือคำขวัญที่คุณอาจต้องใช้
.
อุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมที่เก่าแก่และมีมาอย่างยาวนานควบคู่ไปกับการกำเนิดขึ้นของยุคสมัยใหม่ ผมเคยอ่านพบมาว่า ก่อนหน้านี้ชาวยุโรปเคยทำสำเร็จมาแล้วในการรณรงค์เลิกกินน้ำตาลเพื่อต่อต้านการค้าทาส ทำไมคุณไม่ลองทำดูล่ะ
1
เลิกกินน้ำตาลเพื่อต่อต้านการเผาอ้อย มันอาจจะได้ผลก็ได้นะ
โฆษณา