2 มี.ค. 2023 เวลา 23:02 • ปรัชญา

“ ปัญญากับสมาธิ ”

ต้องทำสลับกัน เจริญปัญญาไปจนรู้สึกฟุ้งซ่าน ก็ต้องหยุด กลับเข้ามาพักในสมาธิ เพราะหมดกำลัง หมดอุเบกขา กิเลสออกมาเพ่นพ่าน มาก่อกวนการพิจารณา ก็ต้องกลับเข้าไปทำใจให้สงบให้เป็นอุเบกขาใหม่ ถ้าชำนาญในสมาธิก็จะเข้าไปได้ทันทีเลย กำหนดปั๊บเดียวก็สงบ พอสงบแล้วก็ปล่อยให้สงบไปจนกว่าจะถอนออกมาเอง
พอถอนออกมาแล้วก็กลับมาพิจารณาใหม่ พิจารณาเรื่องที่ยังติดอยู่ เช่นเรื่องลาภยศสรรเสริญ เรื่องรูปเสียงกลิ่นรส เรื่องคนนั้นคนนี้ เรื่องร่างกาย เรื่องเวทนา เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนี้จะไปด้วยกัน เราพิจารณาเวทนาตัวเดียวก็พอ เวลามีทุกขเวทนาสัญญาจะเป็นผู้บอก สังขารก็จะปรุงแต่ง อยากให้ทุกขเวทนาหายไป เราก็มาแก้ที่สังขารตัวเดียว
หยุดความอยากให้ทุกขเวทนาหายไป ไม่ต้องพิจารณาสัญญาสังขารวิญญาณ ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา นี่เป็นทางทฤษฎี ในทางปฏิบัติให้พิจารณาทุกขเวทนา ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เพื่อปล่อยวางความเจ็บ
จะเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป เพราะเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ห้ามไม่ได้ ห้ามไม่ให้เจ็บไม่ได้ สั่งให้หายไม่ได้ ต้องหยุดตัณหาความอยาก ที่สังขารคิดปรุงแต่งขึ้นมา คิดอยากจะให้หาย อยากจะลุก อยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องหยุดสังขาร ถ้ายังไม่มีปัญญา ก็ใช้สมาธิดับไปก่อน พุทโธๆไป เอาสังขารมาพุทโธ แทนที่จะปล่อยให้สังขารคิดอยากจะลุก อยากจะให้ความเจ็บหายไป ก็เอาสังขารมาคิดพุทโธๆไป
พอความอยากที่จะให้ความเจ็บหายไปหยุดทำงาน ความทุกข์ใจก็จะหายไป ความเจ็บของร่างกายอาจจะหายไปด้วย ถ้าไม่หายก็ไม่เป็นไร เพราะไม่รุนแรงเท่ากับความเจ็บของใจที่เกิดจากความอยาก พอความเจ็บทางใจหายไปแล้ว ก็จะนั่งต่อไปได้ เพราะใจเป็นอุเบกขาแล้ว ความเจ็บก็จะเป็นเหมือนกับยุงกัด ไม่ได้ทรมานเหมือนกับตอนที่มีความอยาก.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
กำลังใจ ๕๗ กัณฑ์ที่ ๔๔๐
๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๕
โฆษณา