3 มี.ค. 2023 เวลา 13:00 • กีฬา

ไข่เหี้ย โปรตีนยอดนิยมในครัวเรือนภาคกลางในอดีตของไทย

ในช่วงนี้ประชาชนชาวไทยต่างวิตกกังวลไปต่าง ๆ นานาในเรื่องที่เกี่ยวพันกับลูกชิ้นปลา ที่มีภาพหลุดออกมาว่าได้มีการใช้ "เนื้อเหี้ย" เข้ามาเป็นส่วนประกอบแทนการใช้เนื้อปลาจริง ๆ แต่ในภายหลังได้มีการออกมาแก้ต่างแล้วว่าไม่เป็นความจริง ตัวเหี้ยนั้น เตรียมนำไปทำอย่างอื่น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับลูกชิ้นปลา
กระนั้นสัตว์ที่เรียกชื่ออย่างสุภาพว่า ตัวเงินตัวทอง กลับติดตราตรึงใจนำออกไปจากสมองไม่ได้ ด้วยคิดไปเรียบร้อยแล้วว่า สัตว์ชนิดนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารหรือกระเดือกลงคอได้ แค่เอานำหนังมาทำเป็นกระเป๋าก็อาจจะเพียงพอแล้ว
แม้ไม่แน่ใจว่าในส่วนของเนื้อ มีหลักฐานการรับประทานอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ แต่จริง ๆ แล้วแถบตอนกลางของประเทศไทยเมื่อครั้งอดีตเคยมีความนิยมในการรับประทาน "ไข่เหี้ย" เป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นแหล่งโปรตีนคู่ครัวเรือนของชาวภาคกลางเลยทีเดียว
1
โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเสวยไข่เหี้ยกับมังคุดเป็นอย่างยิ่ง เพราะในอดีตพระองค์เคยรับราชการที่เมืองราชบุรีในตำแหน่ง “หลวงยกกระบัตร” ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ และได้อภิเษกสมรสกับ คุณนาค (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ธิดาในตระกูลเศรษฐีมอญที่มีรกรากอยู่ที่บ้านอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม
2
ซึ่งจังหวัด "สามสมุทร" ได้แก่ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และ สมุทรปราการ ได้รับการคาดการณ์กันว่าเป็นแหล่งที่ตัวเหี้ยเกิดและเติบโตได้ดีที่สุด โดยเฉพาะ จ.สมุทรปราการ ในอดีตถึงขนาดเคยมีอำเภอชื่ออำเภอบางเหี้ย คลองบางเหี้ย บ้านบางเหี้ย และวัดบางเหี้ย (ปัจจุบันอำเภอบางเหี้ย ได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอบางบ่อ และมีสิ่งเชิดหน้าชูตา คือปลาสลิด มาแทนที่) เรียกได้ว่า "เหี้ยกันครึ่งค่อนจังหวัด" เลยทีเดียว
5
เมื่อเป็นแหล่งเหี้ยชุกชุม อะไรก็ตามที่เป็นผลผลิตจากเหี้ยย่อมถือว่าใช้ประโยชน์ได้และไม่ได้มีความผิดแปลกอะไร เพราะอย่างไรก็คือสัตว์ที่อยู่ในท้องถิ่นและมีจำนวนมาก เหมือนกับที่ในภาคอีสานนิยมรับประทานอึ่งอ่าง ด้วยการนำไปทำเป็นต้มอึ่ง เพราะเป็นแหล่งที่อึ่งอ่างชุกชุม
1
โดยวิธีทำไข่เหี้ยคือ ต้มให้สุกพอประมาณ ให้ไข่ขาวยังเหลวอยู่ จึงนำเข็มสักให้เป็นรูพรุน แล้วแช่น้ำเกลือให้ความเค็มซึมเข้าไป จากนั้นย่างไฟแล้วนำไปปรุงเป็นอาหาร มีรสชาติมัน ๆ เค็ม ๆ กินกับมังคุดนับว่าเข้ากันได้อย่างดี
1
ซึ่งรัชกาลที่ 1 ท่านเสพติดการเสวยไข่เหี้ยอย่างหนัก เรียกได้ว่าอยากกินต้องได้กิน แม้จะไม่ใช่ฤดูวางไข่ของเหี้ยก็ตาม เจ้าจอมแว่น สนมเอกของท่านจึงประดิษฐ์ “ขนมไข่เหี้ย” ขึ้นตั้งเครื่องถวายแทน ถึงแม้จะเรียกว่าขนม แต่กลับให้รสสัมผัสและรสชาติที่คล้ายกับไข่เหี้ยจริง ๆ อย่างมาก เรียกได้ว่าสามารถทดแทนกันได้เลยทีเดียว
3
ขนมชนิดนี้ได้รับการแพร่ขยายไปสู่วงกว้างอย่างมาก เพราะแน่นอนว่าไม่ได้มีแต่รัชกาลที่ 1 ที่ชื่นชอบการกินไข่เหี้ย แต่บรรดาไพร่ทั่วไปก็ชื่นชอบเช่นกัน และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ขนมไข่หงส์" แบบที่คุ้นชินในปัจจุบัน
เรื่องนี้ ขนาด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ยังติดอกติดใจไข่เหี้ยชนิดโงหัวไม่ขึ้น ขนาดบ่นอุบกับ สุกิจ นิมมานเหมินท์ ว่าอยู่แถวซอยสวนพลูนั้นหาไข่เหี้ยกินได้ยากยิ่ง แถวบ้านท่านมีตัวเหี้ยชุกชุม หากออกไข่โปรดนำส่งมาให้กระผมจะเป็นการขอบคุณมาก
1
อีกทั้งในสำนวนไทยยังมีที่กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยสำนวนนั้นคือ “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” เกลียดตัว หมายถึง คนเกลียดเหี้ย กินไข่ หมายถึง คนกินไข่เหี้ย คนเกลียดเหี้ยแต่ก็ลักไข่เหี้ยมากินนั่นเอง แสดงให้เห็นว่าในสังคมไทยสมัยก่อนกินไข่เหี้ยกันเป็นปกติ
3
เพราะคนไทยเกลียดเหี้ยมานานนมแล้ว ในคัมภีร์อภิไทโภธิบาทว์ มีการระบุว่า "เหี้ยขึ้นเรือน" นับเป็นอุบาทว์อย่างหนึ่ง แถมระบุวิธีแก้เอาไว้ว่า หากเหี้ยขึ้นเรือนให้บูชาด้วยเหล้า ข้าว และธูปเทียน ก็จะได้ลาภอันพึงพอใจ
1
ทั้งนี้แม้ในปัจจุบันประชาชนชาวไทยไม่ได้นิยมบริโภคไข่เหี้ยเหมือนอย่างในอดีต แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลยนั่นคืออาการเกลียดเหี้ยเป็นทุน เข้าทำนอง "เกลียดตัวกลัวไข่" ไปเสียเฉย ๆ แต่กระนั้นการเปิบพิสดารก็ยังคงเกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ เพราะผู้คนมักจะสรรหาสิ่งแปลก ๆ มาเข้าปากเสมอ
1
ไม่แน่ว่ากระแส "นิยมไข่เหี้ย" อาจจะกลับมาอีกครั้ง เหมือนที่มีการหา "ไข่นกกระทา" "ไข่นกกระจอกเทศ" "ไข่เต่า" "ไข่จิ้งจก" หรือ "ไข่จระเข้" ที่เป็นสปีชีส์ห่าง ๆ ของเหี้ยมาลองชิมก็เป็นได้
2
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา