4 มี.ค. 2023 เวลา 10:00 • อาหาร

Food Security ความมั่นคงทางอาหาร ทำไมไทยถึงผลักดัน

Food Security ความมั่นคงทางอาหาร มีความสำคัญอย่างไร ทำไมประเทศไทยถึงต้องเร่งผลักดันให้ได้ตามเป้าหมายเพื่อเป็นครัวของโลก
“ความมั่นคงทางอาหารหมายถึงคนทุกคนทั้งในระดับบุคคล ระดับครัวเรือน ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการทั้งในทางกายภาพและเศรษฐกิจที่ตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี”
นี่คือ คำนิยม Food Security จาก World Food Summit 1996 กรุงโรม, อิตาลี
หลายคนอาจจะพอคุ้นหูกับคำนี้มาบ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์การขาดแคลนอาหารรุนแรงขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด หลายประเทศทั่วโลกวิตกกังวลกับสถานการณ์ “ความมั่นคงทางอาหาร” ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และความสามารถเข้าถึงอาหารของประชาชนโดยตรง เพราะการเข้าถึงอาหารเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในด้านความมั่นคงอาหารของประเทศ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ความสามารถในการซื้อหาอาหารที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ราคาอาหารที่อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลและสอดคล้องกับรายได้
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยข้อมูล ปี 2565 พบว่า ดัชนีราคาอาหารในเดือนมีนาคม 2565 เพิ่มขึ้นเกือบ 13% จากเดือนกุมภาพันธ์ในปีเดียวกัน และราคาอาหารพุ่งขึ้นเกือบ 30% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนเมษายน 2565 ตามดัชนีราคาอาหารของ FAO
เมื่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่พุ่งสูงขึ้น เเต่ประชาชนมีรายได้เท่าเดิม และต้องหักส่วนรายได้เพื่อมาใช้จ่าย ในประเทศรายได้น้อยจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก ส่งผลโดยตรงต่อการเข้าถึงอาหาร และนำไปสู่ปัญหาความอดอยากและขาดสารอาหาร
ขณะที่ FAO ระบุว่า ปี 2019 ประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคน เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร คิดเป็นประมาณ 25.9% ของประชากรโลก สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 ทุกภูมิภาคทั่วโลก ยกเว้นอเมริกาเหนือและยุโรป โดยเอเชียมีประชากรที่เผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารมากที่สุดถึง 1 พันล้านคน
แอฟริกามีสัดส่วนประชากรที่เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารสูงที่สุดที่ 51.6% ของประชากรในภูมิภาค เอเชียประมาณ 22.4%
ภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนมีสัดส่วนประชากรที่เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดโดยเพิ่มจาก 22.9% ในปี 2014 ไปอยู่ที่ 31.7% ในปี 2019
ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก และมีความมั่นคงทางอาหารอยู่ในเกณฑ์สูง เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งสำคัญในการเพาะปลูก และผลิตอาหารหลากหลายชนิด จึงเป็นโอกาสดีในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารให้เติบโตในฐานะ “ครัวของโลก”
รัฐบาลมีส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมตามหลัก BCG Economy Model เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ และเกษตรแปรรูป โดยก่อนหน้านี้ไทยเป็นเจ้าภาพ การประชุม APEC 2022 แสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาค ผลักดันนโยบายสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย
1. การสนับสนุนความปลอดภัยอาหารและการอำนวยความสะดวกทางการค้า
2. การปรับปรุงการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี
3. การส่งเสริมความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ
4. การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีในภาคเกษตรอาหาร
5. การสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ผลักดันแผนปฏิบัติการภายใต้ความมั่นคงอาหารเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนนโยบาย 3S ได้แก่ ความปลอดภัยของอาหาร (Safety) ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร (Security) และ ความยั่งยืนของภาคการเกษตร (Sustainability) เป็นการส่งเสริมให้อาหารมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ถูกหลักโภชนาการ
รวมทั้งส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมที่เชื่อมโยงการพัฒนาฐานข้อมูลด้วยระบบ Big Data ด้านดิน น้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาดของพืชและสัตว์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสินค้าเกษตรและอาหารไทย เป็นผลผลิตที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพได้มาตรฐาน พร้อมเป็นครัวให้กับประชากรในภูมิภาคเอเปคและครัวโลก
จากเป้าหมายของไทยที่จะเป็นครัวของโลก เพราะเป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารที่สำคัญ แต่ไทยก็ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบกับความมั่นคงทางด้านอาหาร และจำเป็นต้องวางแผนรับมืออย่างเร่งด่วน
อีกไม่นานประเทศไทยจะเข้าสู่การเลือกตั้งปี 2566 นโยบายที่เกี่ยวกับเกษตรกร และความมั่นคงทางอาหาร ถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ ภายใต้สถานการณ์ปัญหาต่างๆของประเทศและวิกฤตการณ์ระดับโลก เพราะที่ผ่านมานโยบายส่วนใหญ่คือ การอุดหนุนราคาสินค้าทางการเกษตรเป็นหลัก
โฆษณา