Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วาสนา was
•
ติดตาม
5 มี.ค. 2023 เวลา 09:46
เมื่อคุณส่องตัวเองลงไปในกระจก คุณนึกถึงอะไร?
ใจหยาบ ..
เพราะดวงตา "มองเห็นกระจกเพียงด้านเดียว"
. .
เป็นเรื่องราวของผม .. ซึ่งเกิดขึ้นมาหลายปี
. .
ก่อนนั้น .. ปรากฏข่าวในทีวีอยู่เสมอ ๆ ว่า
พระเดินบิณฑบาต ได้สิ่งของจำนวนมาก และเอาไปขายต่อให้แม่ค้า .
แล้วแม่ค้าก็นำมัน มาขายให้สาธุชนนำไปใส่บาตรอีกต่อหนึ่ง .. วนเวียนเทียนเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน
..
วันหนึ่ง .. ในหลายปีก่อนนั้น ..
เช้ามืด หัวรุ่ง .. หน้าตลาดกิมหยง หาดใหญ่ .. (*คนใต้จะเรียกเวลาตอนเช้าที่พระอาทิตย์เริ่มทอแสงรำไรว่า .. หัวรุ่ง)
ผมได้เตรียมสิ่งของ อาหาร ปัจจัย จำนวน 39 ชุด .. เพื่อตักบาตรทำบุญให้อาโกว (อาหญิง) ที่ลาลับจากไป
ระหว่างการตักบาตร ใส่สิ่งของ ใส่ปัจจัย .. ได้พบเห็นพระภิกษุสงฆ์วัยกลางคน เดินมารับบาตรจากผม
จากนั้นก็ให้ลูกศิษย์เอาสิ่งของที่รับมา ไปไว้หลังรถตุ๊กตุ๊ก ซึ่งจอดรออยู่มุมหนึ่ง .. แล้วพระสงฆ์ท่านนั้นก็เดินไปรับบาตรจากคนที่รออยู่อีกทางหนึ่ง
ผมตักบาตรไป มองไป ใจที่เคยคาดหวังในการทำบุญครั้งนี้ รู้สึกสลดเศร้าลงนิดหนึ่ง ..
สิ่งของที่เตรียมไว้ 39 ชุด ยังคงเหลือ .. ด้วยพระที่มาเดินบาตรมีไม่มาก
สักครู่ .. พระสงฆ์ท่านนั้น ก็เดินถือบาตรมาที่หน้าผมอีกครั้ง ..
ผมนิ่ง ขมวดคิ้ว ส่งสีหน้าสายตาเชิงไม่พอใจ .. แต่พระสงฆ์ท่านนั้นก้มมองบาตร ไม่ได้สบตาผม .. ผมจึงต้องตักบาตรให้อีกครั้ง อย่างไม่พึงพอใจ ..
บุญที่ตั้งใจทำ .. ดูเหมือนจะหมดหายไปในทันใด
พระสงฆ์ท่านให้พรเสร็จ .. สบตาให้ผมเล็กน้อย .. ผมจึงส่งสายตาตำหนิซ้ำให้ท่านทราบ .. ไม่รู้ท่านจะทราบหรือไม่ แต่ท่านยิ้มอย่างเมตตาให้ผม
จากนั้นท่านก็ให้ลูกศิษย์นำของในบาตรออกไปเก็บที่รถตุ๊กตุ๊ก เหมือนเดิม
วันนั้นผมไม่มีความสุขในการทำบุญเลย .. และมันยังคงติดตาติดใจมาตลอดหลายปี
..
พอผมได้บวช ..
พระครูที่บวชให้ผม .. นำพระภิกษุใหม่อย่างผม ออกเดินบิณฑบาตในตอนเช้า ..
พระครูท่านสอนผมว่า การรับบาตรรับของจากชาวบ้าน เอาแค่เต็มบาตร .. และเอาแค่ใช้มือข้างหนึ่งหิ้วถุงได้ก็พอแล้ว .. อย่าเอามากไป เอามาก็กินใช้ไม่หมด
ดังนั้นท่านพระครูและพระใหม่อย่างผมเดินบิณฑบาต .. ก็ได้เพียงของเต็มบาตรและหิ้วถุงได้ 1 ถุง .. จึงหันหลังกลับวัด ไม่เดินไปต่อข้างหน้า
ยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่า .. พระสงฆ์ที่ตลาดกิมหยง หาดใหญ่ ในหลายปีก่อนนั้น ทำไม่ถูก ..
ผมจึงไม่คิดตักบาตรในที่สาธารณะแบบนั้นอีกเลย .. ถ้าจะทำ จะยกไปทำที่วัดใดวัดหนึ่งแทน
...
📌 แต่ทุกอย่าง .. กลายเป็นความผิดของผม ..
ผมคิดเห็นผิด ๆ ด้วย "ใจหยาบ" ของตนเองฝ่ายเดียว
..
เมื่อไม่นานมานี้ .. ผมได้ไปหาดใหญ่ ทานกาแฟกับรุ่นน้อง
เราคุยกันถึงเรื่อง โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ที่สร้างใหม่ใหญ่โต เพื่อรองรับคนป่วยทั่วภาคใต้ .. ทั้งจากนครศรีฯ ตรัง กระบี่ ยะลา ปัตตานี ฯลฯ
เราคุยกันถึงญาติผู้ป่วย ที่มาเฝ้า จะมานอนพักค้างคืน ..
พวกเขาจะพักกันตรงไหน ? .. ด้วยค่าใช้จ่ายค่าโรงแรมในหาดใหญ่ก็ไม่ได้ถูก ๆ เลย ..
ยิ่งอยู่เฝ้าคนป่วยนานเท่าไร ยิ่งใช้จ่ายมากขึ้น
รุ่นน้องคนนั้น บอกว่า .. เขามาพักกันที่ วัดโคกนาว ซึ่งอยู่ตรงข้าม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
ทางวัดนี้มีที่พักให้ทุกคน รองรับได้เป็น 100 -200 คนเลย
และแยกส่วนเป็นที่พักคนพุทธ และที่พักคนมุสลิม . มีห้องน้ำ มีพัดลม มีเสื่อ พร้อมสรรพ .. คนจนจะได้ไม่ต้องลำบาก
เมื่อก่อน ค่าใช้จ่ายก็ตามแต่บริจาค 5 บาท 10 บาทก็ได้ .. ตอนนี้น่าจะเป็นค่าบริการ 20 บาท
รุ่นน้อง ยังขยายความอีกว่า .. "อาหารการกินก็มีให้ ถ้าญาติผู้ป่วยที่มาเฝ้าไข้ไม่มีตังค์ ส่วนใหญ่หลายคนไม่มีตังค์เป็นคนจน ต้องมาเฝ้าไข้เป็น10-20วัน หรือเป็นเดือน "
ผมถาม "แล้วเอาอาหารนั้นมาจากไหน"
รุ่นน้องบอกว่า
📌 "พระที่วัด จะออกไปบิณฑบาตในตอนเช้า ๆ .. พระได้อาหารมาเยอะ ใส่รถตุ๊กตุ๊กมาเลย .
มาถึงวัด ลูกศิษย์วัดก็จะขนลงมา .. แยกอาหารสดไปไว้โต๊ะหนึ่ง .. แยกอาหารแห้ง อาหารกระป๋องไปไว้ที่โต๊ะหนึ่งได้
จากนั้นคนที่มาพัก มาเฝ้าไข้ญาติ ก็มาเลือกเอา อยากกินอะไรก็หยิบไป .. จานช้อนมีพร้อม"
..
⭐️ พระสงฆ์ ทำหน้าที่มากกว่าเป็นพระ .. ท่านยังทำหน้าที่สังคมสงเคราะห์ให้แก่มนุษย์ผู้ลำบากอีกด้วย
..
บ่ายวันนั้น เมื่อฟังรุ่นน้องบอกเล่า
กาแฟที่ขมอยู่แล้ว พลันขมขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
นึกย้อนความทรงจำกลับไป .. ที่ตลาดกิมหยง ซึ่งผมส่งสายตาตำหนิพระสงฆ์ท่านนั้นด้วยใจหยาบ .. แต่ท่านมองและยิ้มอย่างเมตตามาให้
พลันนึกถึง คำพูดของ ..
สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี .. ซึ่งกล่าวไว้ว่า ..
📌 “กระจกนั้นมีหกด้าน”
คือ มองคนต้องมองให้ครบทุกด้าน" .. อย่าพิพากษาใครด้วยการมองเพียงด้านเดียว 📌
...
ใจหยาบ และใจบาป ที่เข้ายึดเกาะใจผมมาตั้งหลายปี
ไม่นานมานี้ .. ถึงเพิ่งรู้สำนึกผิด
...
🙏🙏🙏
Fb : Padipon Apinyankul
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย