6 มี.ค. 2023 เวลา 06:11 • หนังสือ

หนังสือ "คู่มือมนุษย์" ฉบับสมบูรณ์

อาตมาได้บรรยายหลักแห่งพุทธศาสนามาโดยลำดับๆว่า พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติเพื่อให้รู้ถึงสิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริง ว่าอะไรเป็นอะไร; สิ่งทั้งปวงนี้มีสภาพตามที่เป็นจริง คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา; แต่สัตว์ทั้งหลายหลงรักหลงยึดถือสิ่งทั้งปวงเพราะอำนาจของอุปาทาน; ในพุทธศาสนามีวิธีปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อจะตัดอุปาทานนั้นเสีย; อุปาทานนั้นมีที่ลงเกาะ หรือจับยึด ที่ขันธ์ทั้งห้า คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ;
เมื่อรู้จักขันธ์ห้าตามที่เป็นจริง ก็สามารถจะเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ไม่ยึดถือด้วยอุปาทาน; และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้วันคืนเต็มไปด้วยปีติและปราโมทย์อันเกิดมาจากการกระทำที่ดี ที่งาม ที่ถูกต้อง อยู่เป็นประจำ แล้วเกิดความระงับแห่งจิต เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆไป จนกระทั่งเกิดนิพพิทา วิราคะ วิมุตติ และนิพพาน ได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม;
หรือถ้าเราจะรีบเร่งทำให้เร็วกว่านั้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ นับตั้งแต่มีศีลบริสุทธิ์ มีจิตบริสุทธิ์ มีทิฐิบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดสังโยชน์ต่างๆได้ เรียกว่าการบรรลุมรรคผล. ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นการแสดงแนวสังเขปทั้งหมดของพระพุทธศาสนาแล้วตั้งแต่ต้นจนปลาย ให้เห็นว่าหลักพระพุทธศาสนามีอยู่อย่างไร พร้อมกันกับหลักปฏิบัติไปในตัว. (หน้า ๒๖๙-๒๗๐)
... คนเราย่อมเชื่อความคิดความเห็นของตัว เพราะฉะนั้น ความจริงหรือสิ่งที่เรียกว่า สัจจะ สำหรับบุคคลหนึ่งๆ นั้น มันอยู่ตรงที่เพียงว่า เขาเข้าใจและมองเห็นได้เท่าไร...; เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า "ความจริง" ของคนเรา จึงไม่เหมือนกัน เพราะว่าคนเราเข้าถึง ตัวจริงของสิ่งซึ่งเป็นปัญหานั้นได้ตื้นลึกกว่ากัน หรือด้วยท่าทางลักษณะที่ต่างกัน และสติปัญญาที่ต่างกัน. ... "ความจริง" ของคนระดับนี้จะเดินได้เสมอ คือเดินไปเรื่อยๆตามสติปัญญาความรู้ความเข้าใจ ที่เพิ่มขึ้นทุกๆวัน จนกว่าจะถึงความจริงขั้นสุดท้าย. (หน้า ๒๗๙)
พุทธศาสนา "เนื้องอก" ทำนองนี้มีขึ้นใหม่ๆมากมาย หลายสิบหลายร้อยอย่าง (เช่น พิธีรีตองต่างๆที่เพิ่งเกิดขึ้น การบวชนาค กฐิน เป็นต้น - ผู้อ่าน) ...แต่อาตมาอยากจะให้ชื่อว่าพุทธศาสนาเนื้องอก คือเป็นเนื้อร้ายชนิดหนึ่งซึ่งงอกขึ้นๆ แต่ก็ยังได้ชื่อว่าพุทธศาสนาอยู่นั่นเอง เป็นการงอกออกมาปิดบังห่อหุ้มเนื้อดีหรือแก่นแท้ของพุทธศาสนาให้ค่อยๆลับเลือนไป ด้วยเหตุฉะนี้แหละ สิ่งที่เราเรียกกันว่าพุทธศาสนาๆ จึงมีเพิ่มขึ้นมากมายหลายประเภทจากตัวแท้ของพุทธศาสนาที่มีอยู่เดิม (หน้า ๒๘๕)
... ความรู้อันลึกซึ้ง เช่นเรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นต้นนั้น ไม่ต้องสงสัย ย่อมเป็นปรัชญาสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรม, แต่จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ไปทันทีสำหรับผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว. แม้เรื่องอย่างเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเรื่องสุญญตานี้ก็เหมือนกัน อย่างดีที่สุดจะเป็นได้ก็เป็นเพียงปรัชญาสำหรับคำนึงคำนวณของคนทั่วไป ไม่อาจจะเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นมาได้. แต่ถ้าสำหรับพระอรหันต์แล้ว เรื่องเหล่านี้กลายเป็นวิทยาศาสตร์ไปทันที เพราะท่านได้เห็นแจ้งประจักษ์แล้วด้วยใจของท่านเอง (หน้า ๒๙๐)
... "พุทธศาสนาคือวิชารวมทั้งระเบียบปฏิบัติสำหรับจะให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร" ... คำที่ว่า ให้รู้อะไรเป็นอะไร นั้น มันมีความหมายลึกซึ้งมาก. ... ถ้าผู้ใด รู้ว่าสิ่งทั้งปวงคืออะไร ผู้นั้นจะเป็นผู้รู้พุทธศาสนา. ถ้ารู้หมดจนสิ้นเชิง ก็เท่ากับว่ารู้พุทธศาสนาหมดจนสิ้นเชิงได้;
เมื่อเรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรจริงๆ แล้ว เราย่อมไม่ปฏิบัติผิดต่อสิ่งทั้งปวง แต่ย่อมจะปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวง. เมื่อปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวงแล้ว ก็เป็นอันแน่นอนว่าความทุกข์จะเกิดขึ้นไม่ได้. เดี๋ยวนี้เรายังไม่รู้จักสิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่มันเป็นจริง ว่ามันเป็นอะไร เราจึงปฏิบัติผิดต่อสิ่งทั้งปวงไม่มากก็น้อย ความทุกข์ก็เกิดขึ้นตามส่วน. (หน้า ๑๐-๑๑)
...การปฏิบัติของเรานั้น เราปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่าสิ่งทั้งปวงคืออะไร ตามที่เป็นจริงอย่างไร เท่านั้น. ถ้าลงได้รู้ในเรื่องนี้แล้ว การปฏิบัติก็ไม่จำเป็นอะไรต่อไปอีก. การปฏิบัติอย่างที่เรียกกันว่า ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติกรรมฐานภาวนาอะไรก็ตามทั้งหมดนั้น ล้วนแต่มุ่งผลในที่สุด เพื่อให้รู้ว่าสิ่งทั้งปวงคืออะไร. เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงคืออะไร ก็ย่อมหมายถึงบรรลุมรรคผล ชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือถึงที่สุด เพราะว่าความรู้นั้นเองเป็นตัวทำลายกิเลสไปในตัว และเป็นการรู้ผลของการหมดกิเลสไปในตัว.
เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไรจริงๆแล้ว การเบื่อหน่าย คลายกำหนัดและความหลุดพ้นที่เรียกว่า นิพพิทา วิราคะ และวิมุตตินั้น ย่อมเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องทำความเพียรหรือปฏิบัติอะไรต่อไปอีก. เรามีหน้าที่ที่จะทำความเพียรหรือปฏิบัติ ก็แต่ขั้นที่ว่ายังไม่รู้อะไรเป็นอะไรเท่านั้น. โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือไม่รู้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี่, (หน้า ๑๒)
... หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งพระไตรปิฎก ก็ล้วนแต่เป็นการบ่งระบุให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไรเท่านั้นเอง.(หน้า ๑๔)
อริยสัจจ์ข้อที่ ๑ ที่แสดงว่า สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ หรือสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ นี่ก็คือบอกตรงๆว่า สิ่งทั้งปวงหรืออะไรเป็นอะไรนั่นเอง. ... แต่สัตว์ทั้งหลายไม่ทราบ ไม่รู้ ไม่เห็น ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นความทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงได้มีความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งในสิ่งทั้งปวง. ... คือปฏิบัติผิดต่อความจริงของสิ่งทั้งปวง.
อริยสัจจ์ข้อที่ ๒ ที่แสดงว่า ความอยากนั้นๆเป็นเหตุของความทุกข์ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าใจ ว่าความอยากนี้แหละเป็นเหตุของความทุกข์ จึงได้พากันอยากนั่น อยากนี่ ร้อยแปดพันประการ และอยากทุกสิ่งทุกอย่างอยู่โดยไม่เห็นว่าความอยากนี้ เป็นที่ตั้งของความทุกข์...
อริยสัจจ์ข้อที่ ๓ ที่แสดงว่า นิโรธหรือพระนิพพานคือการดับตัณหาเสียให้สิ้นเป็นความไม่มีทุกข์ ... ก็คือว่าไม่รู้อะไรเป็นอะไร จึงไม่มีใครปรารถนาที่จะดับความอยาก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือไม่ปรารถนาพระนิพพาน เพราะไม่มีความรู้ว่าอะไรเป็นพระนิพพาน...
อริยสัจจ์ข้อที่ ๔ ... เรียกว่ามรรค อันได้แก่วิธีดับความอยากนั้นๆเสีย ไม่มีผู้ใดรู้เห็นเข้าใจว่า การทำอย่างนี้เป็นวิธีดับเสียซึ่งความอยากหรือทำตนให้ถึงความดับทุกข์; ... ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไรอีกนั่นเอง ; ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ ; ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรขวนขวายพยายามอย่างยิ่ง; จึงไม่มีใครสนใจกับเรื่องอริยมรรคอันมีองค์ ๘ ประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่เลิศประเสริฐที่สุด ในบรรดาวิชาความรู้ของมนุษย์เรา...
ทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่าเรื่องอริยสัจ ๔ ประการนั้น คือความรู้ที่บอกให้เห็นชัดว่าอะไรเป็นอะไรอย่างครบถ้วนนั่นเอง (หน้า ๑๕-๑๗)
... ใจความของพุทธศาสนานั้นคือการบอกให้รู้ว่า "สิ่งทั้งปวงนั้น มันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา, มันดับไม่ได้จนกว่าจะดับเหตุเสียก่อน" แม้ใจความสำคัญนี้ ก็เป็นการชี้ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั่นอีกเหมือนกัน คือเป็นการชี้ให้รู้ว่า อย่าไปเห็นว่าปรากฏการณ์อะไรเป็นตัวตนที่ถาวร ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวร มีแต่สิ่งที่เกิดงอกงามออกมาจากเหตุ และงอกงามเจริญต่อไปโดยอำนาจของเหตุ และดับไปเพราะความสิ้นสุดของตัวเหตุ.
คำว่าเหตุในที่นี้หมายถึงสิ่งที่มีอำนาจปรุงแต่ง ซึ่งเราอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปัจจัย ก็ได้. สิ่งหนึ่งๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยปรุงแต่งสิ่งอื่นๆสืบต่อกันไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้หรือปรากฏการณ์ทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นผลิตผลของสิ่งที่เป็นเหตุ ไม่มีตัวมันเองที่เป็นของอิสระตายตัว เป็นแต่ความเลื่อนไหลไป ในฐานะเป็นผลของสิ่งที่เป็นเหตุที่ปรุงทะยอยกันมาไม่หยุด. ...
พุทธศาสนาจึงบอกให้รู้ สิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตน มีแต่ความที่เป็นเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันไปและเป็นความทุกข์รวมอยู่ในนั้นด้วย เพราะไม่มีอิสระในตัวเอง ต้องเป็นไปตามอำนาจของเหตุ ; จะไม่มีความทุกข์ ก็ต่อเมื่อหยุดหรือดับ. จะหยุดหรือดับ ก็ต่อเมื่อดับเหตุ ทำเหตุนั้นให้หยุดให้ดับ ไม่ให้มีการปรุงสืบไป. ข้อนี้ก็เป็นการบอกให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างลึกซึ้ง อย่างสุดสามารถที่คนเราหรือว่าผู้มีสติปัญญา ตามธรรมดาจะบอกได้ นับว่าเป็นหัวใจพุทธศาสนาจริงๆ. (หน้า ๑๙-๒๐)
... เรื่องพระไตรลักษณ์ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นหลักสำคัญหรือตัวพุทธศาสนาอีกแนวหนึ่งด้วยเหมือนกัน ... อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ คือการประกาศความจริงออกไปว่า "สิ่งทั้งปวง ที่มีปัจจัยปรุงแต่งนั้น ไม่เที่ยง, สิ่งทั้งปวงที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นทุกข์, สิ่งทั้งปวงทั้งที่ปัจจัยปรุงแต่งและปัจจัยไม่ปรุงแต่งนั้นเป็นอนัตตา" นี้, เป็นหลักพระพุทธศาสนา. นี้ยิ่งเป็นการตอบปัญหาของคำถามที่ว่า "อะไรเป็นอะไร"อย่างยิ่ง; (หน้า ๒๒)
ทีนี้ เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วไม่ต้องสงสัย เราก็จะปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวง. การที่เราจะปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวงโดยที่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั้นเป็นไปไม่ได้. ... โอวาทปาติโมกข์ คำสอนที่เป็นประธานของคำสอนทั้งหมด ... โอวาทปาติโมกข์มีอยู่ ๓ ข้อสั้นๆ คือการไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้เต็มที่ให้ครบถ้วน, และการทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด ปราศจากความเศร้าหมองโดยประการทั้งปวง. นี้เป็นหลักสำหรับปฏิบัติต่อสิ่งทั้งปวงให้ถูกต้องตามที่สิ่งทั้งปวงเป็นจริงอยู่อย่างไร.
... จิตใจที่จะเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวงนั้น ต้องมาจากความรู้ว่าอะไรเป็นอะไรถึงที่สุดเสมอไป; ถ้ายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ก็จะต้องไปหลงรักหลงชัง... แล้วจะมีความเป็นอิสระได้อย่างไรกัน ... ความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั่นเอง ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาเป็นความชอบหรือไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ ... ถ้ายังมีความรู้สึกสองอย่างนี้อยู่แล้ว ก็หมายความว่ายังไม่เป็นอิสระ. จิตยังไม่เป็นอิสระเพราะยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างถูกต้อง (หน้า ๒๓-๒๗)
การคำนึงคำนวณตามหลักแห่งเหตุผลนั้น ไม่ใช่ "การเห็นแจ้ง" อย่างที่เรียกว่า "เห็นธรรม" การคำนวณตามเหตุผลนั้น ต้องอาศัยอยู่กับเหตุผล เมื่อเหตุผลเปลี่ยนแปลงเพราะความไม่เที่ยงเป็นต้น สิ่งนั้นก็พลอยเลือนไปด้วย: เลือนไปตามเหตุผล ... การเห็นธรรมจึงไม่อาจจะเห็นได้ด้วยการคำนวณตามเหตุผล แต่ต้องเห็นแจ้งด้วยความรู้สึกในใจแท้จริงคือเห็นด้วยใจจริง. (หน้า ๔๕)
ความทุกข์ทั้งหลายต้องเกิดขึ้นมาจาก การเอา-การเป็น หรือความอยากเอา อยากเป็นทั้งนั้น. ... การที่อยาก ก็เพราะไม่รู้ว่าสิ่งนี้ หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรอยาก เพราะเหตุที่มีความสำคัญผิดติดมาแต่ในท้องโดยสัญชาตญาณ เราเกิดมาในโลกนี้ตั้งแต่เล็กๆก็รู้จักอยากรู้จักทำตามความอยาก แล้วก็เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ซึ่งตรงตามที่ตนอยากก็มี ไม่ตรงก็มี.
ถ้าได้ผลตรงตามที่ตนอยาก ก็อยากได้มากขึ้นไปอีก, ... ถ้าไม่ได้ผลตามที่ตนอยาก ก็ดิ้นรนอยากทำอย่างอื่น อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปอีก จนกว่าจะได้ผลตามที่ตนอยาก; ... เมื่อลงมือทำลงไป มันก็ได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่งมาอีก วนเป็นวงกลมของกิเลส-กรรม-วิบาก อยู่อย่างนี้อันท่านเรียกว่า วัฏฏะ หรือวัฏฏสงสาร. ... คนเราต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในวงกลมนี้เอง. ถ้าออกไปจากวงกลมนี้ได้ ก็เป็นอันว่าพ้นไปจากความทุกข์โดยแน่นอน (หน้า ๕๐-๕๒)
การศึกษาให้เข้าใจเรื่องกิเลสส่วนที่เป็นเหตุให้ยึดถือ หรือที่เรียกว่า "อุปาทาน" ... จะเป็นการช่วยให้เราเข้าใจพุทธศาสนาได้ชัดเจนลึกซึ้งถึงที่สุด และโดยง่าย. (หน้า 72)
อุปาทาน หรือกิเลสเป็นเครื่องให้ยึดถือนี้ ท่านจำแนกเป็น ๔ ประการด้วยกัน ...
กามุปาทาน คือ การยึดถือในของรักของใคร่ทั่วไป ...
ทิฏฐุปาทาน การยึดถือทิฏฐิความคิดเห็นตามที่ตนมีอยู่ ...
สีลัพพตุปาทาน ยึดถือในศีลและวัตรปฏิบัติต่างๆที่ตนเคยประพฤติปฏิบัติกระทำโดยงมงายมาแต่เดิม ...
อัตตวาทุปาทาน คือ การยึดถือด้วยการกล่าวว่าเป็นตัวเป็นตน (หน้า ๗๓)
ความรู้สึกชอบ กับความรู้สึกชังนี้ ตามความหมายอันแท้จริงของทางธรรมแล้ว ท่านถือว่าเป็นความทุกข์เท่ากัน. แต่ความหมายอย่างโลกๆที่คนธรรมดารู้สึกนั้น กลับเห็นว่าฝ่ายที่ชอบที่รักนั้นเป็นความสุข ไม่ใช่ความทุกข์, ฝ่ายที่ไม่ชอบ จึงเป็นความทุกข์. นี่เรียกว่ามองกันอย่างโลกๆ หรืออย่างติดสมมติ
... ทางธรรมนั้น หมายความว่ามันทำให้เกิดการทรมานเท่ากัน: ความชอบหรือความรัก ก็ทำให้เกิดความฟูขึ้นทางจิตใจ; การไม่ชอบไม่รัก ก็ทำให้แฟบลงในทางจิตใจ. ... เหล่านี้เป็นการทำให้จิตเหน็ดเหนื่อยเท่ากัน; ทำให้เกิดความอยาก ทำให้เกิดการวนเวียนในความทุกข์เท่ากัน. (หน้า ๑๓๘)
... พระอรหันต์ก็เหมือนกัน แม้จะหมดกิเลสตัณหาด้วยอำนาจของปัญญาและเมตตาแล้ว แต่โมเมนตั้มของปัญญาและเมตตาเหลืออยู่มาก ฉะนั้นท่านจึงทำสิ่งที่ควรทำไปได้ทุกอย่างด้วยอำนาจของปัญญาเป็นใหญ่ (หน้า ๑๗๙)
โดยสรุปความ เราจะเห็นได้ว่า หลักแห่งการศึกษาเรื่องของวิปัสสนานั้น เรามีหลักเป็นลำดับอยู่ว่า ศีลและสมาธิเป็นรากฐานที่ตั้งที่อาศัยของวิปัสสนา สิ่งทั้งปวงจะเรียกว่าโลกทั้งปวงก็ได้ ภพทั้ง ๓ ก็ได้ สังขารทั้งปวงก็ได้ ขันธ์ห้าก็ได้เป็นที่กำหนดสำหรับเจริญวิปัสสนา ลักษณะแห่งตัววิปัสสนาหรือความเห็นแจ้งนั้นคือ เห็นความไม่เที่ยง. เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะเห็นเต็มไปในภพทั้ง ๓ เป็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ... จนเห็นว่าเต็มไปด้วยความน่ากลัว น่าเบื่อหน่าย ไม่มีอะไรที่น่าเอา-น่าเป็น.
กิจหรือหน้าที่โดยตรงของวิปัสสนาคือ การกำจัดความโง่ ความมืด ... ผลของวิปัสสนาก็คือ ความแจ่มแจ้ง จนเป็นอริยมรรคเกิดขึ้นรู้แจ้งแทงตลอดสิ่งทั้งปวง กำจัดกิเลสสูญสิ้นไป เป็นความสะอาด สว่าง สงบ (หน้า ๒๒๔)
... คำว่า อวิชชา นี้ แปลว่า ความไม่รู้หรือภาวะที่ปราศจากความรู้ การแปลว่าความไม่รู้นี้ มีทางทำให้เกิดความเข้าใจผิดบางอย่างได้ แต่ถ้าแปลว่าภาวะที่ปราศจากความรู้ ก็เป็นการถูกต้องกว่า, เป็นคำที่รัดกุม กันความเข้าใจผิดได้มากกว่า. สำหรับความรู้ที่ประสงค์ในที่นี้หมายถึงความรู้จริง คือไม่ใช่รู้ผิดหรือรู้เท็จ ฉะนั้นจึงไม่มีการพูดถึงความรู้ผิดรู้ถูกกันอีกแล้ว. เมื่อมีความรู้ก็หมายถึงความรู้ถูก ถ้าปราศจากความรู้ก็คือมืดหรือไม่มีความรู้ ซึ่งโดยพฤตินัยก็ได้แก่ความรู้ผิดนั่นเอง (หน้า ๒๕๙)
อย่างต่ำที่สุด เราทั้งหลายควรเข้าเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศิลปะ (Art), ซึ่งในที่นี้หมายถึงศิลปะแห่งการครองชีพ ... ขอให้เราปฏิบัติตามหลักธรรมในพุทธศาสนาในฐานะเป็นศิลปะแห่งการเป็นคน หรือการดำรงชีพอยู่เป็นคน ซึ่งมีความงดงามอยู่ที่กาย วาจา ใจของเรา (หน้า ๒๙๓-๒๙๔)
... พุทธศาสนา นั้นมีลักษณะหลายเหลี่ยมหลายคู เหมือนกับภูเขาลูกเดียว มองจากทิศต่างๆกัน ก็เห็นเป็นรูปต่างๆกัน เป็นประโยชน์ได้ต่างๆกัน แล้วแต่ทรรศนะของผู้มอง. แม้พระพุทธศาสนาจะมีมูลมาจากความกลัว ก็ไม่ใช่ความกลัวที่โง่เขลาของคนป่าเถื่อน ... แต่เป็นความกลัวชนิดที่สูง คือความกลัวว่าจะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นั่นคือความรอดพ้นไปจากความบีบคั้นของความเกิดแก่เจ็บตาย
... ตัวแท้ของพุทธศาสนา ต้องเป็นตัวการปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ชนิดที่จะทำลายกิเลสให้ร่อยหรอหรือสิ้นไปในที่สุด. ...ไม่ต้องเนื่องด้วยตำรา ไม่ต้องเนื่องด้วยพิธีรีตอง ไม่ต้องเนื่องด้วยสิ่งภายนอก ... แต่ต้องเนื่องในภายใน ด้วยกาย วาจา และด้วยใจ เนื่องด้วยสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่กับกายใจโดยตรง คือกิเลสอันสรุปรวมอยู่ที่อวิชชา ความไม่รู้ ซึ่งจะต้องบากบั่นกำจัดให้หมดสิ้นไป จนเกิดความรู้สว่างไสวที่เรียกว่า วิชชาขึ้น สามารถที่จะทำอะไรให้ถูกต้องได้ด้วยตนเอง ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนอวสาน.
นี่แหละ คือตัวแท้ของพระพุทธศาสนาในส่วนที่เราจะต้องเข้าใจ อย่าได้ไปหลงใหลเอาเนื้องอกที่หุ้มห่อพระพุทธศาสนามาเป็นตัวศาสนาเลย. (หน้า ๒๙๙-๓๐๐)
... จึงจำเป็นที่จะต้องถือเป็นหน้าที่ว่า ทุกคนจะต้องอบรมครอบครัวของตนให้ตั้งอยู่ในศีลในธรรมอย่างถูกต้องเช่นเดียวกับตน ... การอบรมครอบครัวให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมนั้นเป็นความจำเป็นเท่าๆกับการปฏิบัติหน้าที่การงานอื่นๆ (หน้า ๓๒๘-๓๒๙)
การที่มีสิ่งแวดล้อมหรือบุคคลแวดล้อมเป็นอุปสรรคเสียเองนั้น ขอให้ถือว่าเป็นโชคร้ายอย่างยิ่ง เป็นอัปมงคลอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าท่านทรงสรรเสริญการมีมิตรดีไว้อย่างยิ่ง จนถึงกับตรัสว่า การมีมิตรดีนั้นเป็นอะไรๆทั้งหมดของความสำเร็จ (หน้า ๓๓๐)
จากหนังสือ "คู่มือมนุษย์" ฉบับสมบูรณ์
พุทธทาส อินทปัญโญ
โฆษณา