7 มี.ค. 2023 เวลา 08:00 • การศึกษา

ข้อดีของการ Take Gap year ที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ

ปัญหายอดนิยมสำหรับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่กำลังเข้าสู่ช่วงที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย คือการที่ยังไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวเองอยากเรียนคณะอะไร? โตไปอยากทำงานอะไร?
นับเป็นอาการปกติที่เด็กม.ปลายจะหมดแพชชั่นและยังไม่สามารถหาความต้องการของตนเองได้ว่าต้องการเรียนต่อคณะอะไร เพราะชีวิตของนักเรียนอย่างพวกเขานั้นต้องใช้ชีวิตหมกมุ่นอยู่กับการเรียนในห้องเรียนมาโดยตลอด จึงไม่มีช่วงเวลาที่จะสามารถออกไปค้นหาตัวเองเลยสักที
อย่างไรก็ตาม นักเรียนหลายคนก็ยังไม่ยอมแพ้ต่อความฝันของตัวเอง ถึงแม้จะยังไม่สามารถค้นหาตัวเองเจอก็ตาม เลยขอมีช่องว่างให้ตัวเองได้หยุดพักและคิดสักนิด และออกไปค้นหาความชอบของตัวเอง ก่อนที่จะไปสู้เพื่อคณะที่ฝันในปีหน้าอย่างเต็มที่ หรือที่เรียกกันว่า ‘Take Gap Year’
‘Take Gap Year’ เดิมทีเป็นแนวคิดที่มาจากนักเรียนฝั่งตะวันตก โดยพวกเขามักจะใช้เวลาหนึ่งปีหลังเรียนจบชั้นม.ปลายเพื่อออกไปค้นหาตัวเอง ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในปีถัดไป โดยออกไปเรียนรู้สิ่งอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องวิชาการ หรือลองไปฝึกงานที่เกี่ยวข้องกับคณะที่ตนเองสนใจ
แต่สำหรับสังคมไทย หรือในเอเชีย การที่จะ Take Gap Year หลังเรียนจบม.ปลายยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก อาจจะด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่กดดัน โดยเฉพาะค่านิยมของสังคม บางคนกลัวเรียนไม่ทันเพื่อน รวมถึงการต้องมาตอบคำถามที่ชวนอึดอัดใจของป้าข้างบ้านหรือญาติพี่น้อง และที่สำคัญคือการกลัวพ่อแม่จะไม่เข้าใจ
แต่ความจริงแล้วการ “แก็ปเยียร์” ที่นักเรียนไทยพูดติดปากกันนั้น ก็มีข้อดีและส่งผลดีต่อชีวิตนักเรียนม.ปลาย ที่เข้าสู่ช่วงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย
และนี่คือ 5 ข้อดีของการ ‘Take Gap Year’ ที่ผู้ใหญ่ยังไม่เข้าใจ
1. มีโอกาสไปเที่ยวและเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ
ระหว่างการแก็ปเยียร์นั้นคุณจะมีเวลาว่างพอที่จะได้ไปท่องเที่ยวตามแพลนที่เคยวางไว้ คุณอาจจะใช้โอกาสนี้ไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่าง ๆ ที่คุณอาจจะยังไม่เคยไป หรือคุณอาจจะไปท่องเที่ยวต่างประเทศเพื่อไปเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ๆ เจอผู้คนต่างชาติระหว่างทาง ทำให้คุณมีโอกาสได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ นี่เป็นโอกาสที่ทำให้คุณเปิดโลกทัศน์และทัศนคติของคุณ
2. ได้ใช้เวลาทบทวนตัวเอง
คุณจะมีเวลาว่างพอในการใช้เวลาทบทวนกับตัวเอง การอยู่กับตัวเองปล่อยให้ความคิดล่องลอย ไม่คิดถึงเรื่องที่จะทำให้คุณกังวลใจ ก็จะทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากจะเรียนสาขาไหนและอยากทำอาชีพอะไรในอนาคต
3. ได้ลงมือทำในสิ่งที่เคยคิดว่าอยากทำ
ในช่วงเวลา 1 ปีที่คุณไม่ต้องใช้เวลาหมกมุ่นอยู่กับการเรียนในห้องเรียน คุณควรใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ นอกห้องเรียน หรือสิ่งที่คุณเคยอยากทำแต่ตอนนั้นคุณไม่มีเวลาว่างพอ สิ่งนี้อาจจะช่วยให้คุณสามารถเจอกับสิ่งที่คุณชอบ และช่วยให้คุณรู้ว่าตัวเองอยากเรียนต่อคณะอะไร
4. มีเวลาเตรียมตัวสอบเข้าในปีหน้า
คุณจะมีเวลาเตรียมตัวเองให้อยู่ในสภาพที่พร้อมที่สุดก่อนจะเริ่มการสอบเข้าในปีหน้า ใช้เวลาค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับการสอบให้เรียบร้อย ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะและสาขาที่ตนเองสนใจ จะได้ไม่พลาดเป้าหมายที่ตั้งใจไว้
5. ค้นพบว่าตัวเองชอบอะไรและอยากทำอะไรกับชีวิต
จุดประสงค์หลักของการใช้เวลาไป คือการค้นพบตัวเองและตระหนักว่าตัวเองชอบและอยากเรียนต่อด้านไหน บางครั้งการใช้เวลาในการค้นพบตัวเองเพื่อค้นพบว่าตัวเองชอบอะไรอย่างแท้จริงนั้นเป็นความคิดที่ดีกว่าการที่รีบเรียนต่อในสาขาที่เราไม่ได้ชอบหรือสนใจจริงๆ และอาจจะทำให้เราเสียเวลาชีวิตไปหลายปีก็เป็นได้
ถ้าชอบก็อย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตาม เพื่อเป็นกำลังใจให้นักเรียนคนี้เขียนบทความดี ๆ ออกมาให้ทุกคนได้อ่านในทุก ๆ วันด้วยนะครับ
โฆษณา