7 มี.ค. 2023 เวลา 12:00 • ธุรกิจ

ญี่ปุ่นพร้อมเสิร์ฟราเม็งบนเครื่องบิน

ปัจจุบันมีการพัฒนาสินค้าและเมนูที่ทำจากแป้งข้าวอย่างกว้างขวาง ราคาแป้งสาลีที่สูงขึ้นทำให้ส่วนต่างของราคาเมื่อเทียบกับแป้งจากข้าวที่สูงกว่าลดลง และแป้งจากข้าวมีความนุ่มเหนียวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะก็เป็นสิ่งที่ดึงดูด ผู้บริโภคอีกอย่างหนึ่ง และแป้งจากข้าวยังปลอด “กลูเตน” ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเกิดอาการแพ้จึงได้รับความนิยม แป้งจากข้าวจึงไม่ได้เป็นแค่วัตถุดิบเพื่อทดแทนแป้งสาลีเท่านั้น แต่ได้รับความสนใจและคาดหวังว่าจะกลายเป็น วัตถุดิบที่เพิ่มความเป็นไปได้ให้กับอาหาร
บริษัท KENMIN FOODS co., ltd. ผู้นำด้านการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวจากแป้งข้าว
ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นชุดราเม็งเส้นจากแป้งข้าวรสใหม่ (จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ราคา 2 ชุด 2,800 เยน หรือ ประมาณ 700 บาท) โดยบริษัทได้เคยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุดราเม็งเส้น จากแป้งข้าวรสซุปโชยุแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ครั้งนี้เป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากครั้งที่แล้ว โดยบริษัทพยายามพัฒนาเส้นให้มีความเหนียวนุ่ม และส่วนผสมอื่นๆ ก็จะใช้ของขึ้นชื่อจากท้องถิ่นต่างๆในประเทศ
ผลิตภัณฑ์นี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาร่วมกับคุณโอนิชิเจ้าของร้านราเม็งที่ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา โดยใช้เวลาในการพัฒนา 2 ปี คุณโอนิชิกล่าวว่า “อยากให้คนที่มีอาการแพ้แป้งสาลีได้มีโอกาสกินราเม็ง อยากให้เป็น 1 ถ้วยที่ทุก คนสามารถรับประทานได้อย่างไม่ต้องกังวล” ที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกา อาหาร “Gluten Free” ได้แพร่หลายมากขึ้น คุณโอนิชิกล่าวเสริมว่า “มีลูกค้าถามหาเมนูGluten Free เป็นประจำ”
บริษัทได้วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “ยากิโซบะ” ที่ทำจากแป้งข้าว เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 และมีแผนเพิ่มผลิตภัณฑ์ Gluten Free ให้มากขึ้นเพื่อบุกเบิกตลาด Gluten Free และจะปั้นให้เป็นสินค้าหลักของบริษัทฯอีกสินค้าหนึ่ง
จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมง พบว่าปริมาณข้าวที่แปรรูปเป็นแป้งข้าวในปี 2564 มีปริมาณ 41,000 ตันซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดจากที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2560 ราคาแป้งสาลีโลกที่พุ่งสูงขึ้นใน ปี 2566 ทำให้แป้งจากข้าวเป็นสินค้าทดแทนที่ได้รับความสนใจ แต่ด้วยความเหนียวนุ่มที่เป็นเอกลักษณ์ของแป้งจากข้าวก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ได้รับความสนใจเช่นกัน
สายการบิน Japan Airlines (JAL) ได้เสิร์ฟเมนูอาหารที่ใช้เส้นจากแป้ง ข้าวที่ผลิตภายในประเทศ เป็นเมนูพิเศษเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของเที่ยวบิน เส้นทางระหว่างประเทศสำหรับเที่ยวบินจากสนามบินฮาเนดะไปลอนดอน โดยเสิร์ฟในชั้นโดยสารเฟิร์สท์คลาส และ บิสิเนสคลาส เป็นเมนูที่ร่วมพัฒนากับคุณฮายาชิ เชฟร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศอังกฤษและได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้โดยสาร
การเสิร์ฟเมนูอาหารที่ใช้เส้นจากแป้งข้าวบนเครื่องบิน เป็นการร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรป่าไมและประมง รวมถึงกลุ่มองค์กรส่งเสริมการส่งออกอาหาร เพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์เส้นจากแป้งข้าว โดยเจ้าหน้าที่สายการบิน JAL ให้ความเห็นว่า “เป็นการเพิ่มตัวเลือกเมนูให้กับผู้โดยสารที่หลีกเลี่ยงการรับประทานแป้งสาลี จึงได้รับความนิยมจากผู้โดยสารหลายวัย”
บทวิเคราะห์ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
จากการที่มีผู้แพ้อาหาร “กลูเตน” ประเภทแป้งข้าว ของผู้บริโภคจึงทำให้ผู้ผลิตในญี่ปุ่นเห็นโอกาสพัฒนาสินค้า และเมนูแป้งข้าวอย่างกว้างขวาง และผู้ผลิตหลายรายได้บุกเบิกปรับแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Gluten Free ให้มากขึ้น เพื่อบุกเบิกรองรับกลุ่มผู้บริโภคที่แพ้อาหารประเภทดังกล่าวของเมนูอาหารประเภทเส้นก๋วยเตี๋ยว ที่มีรสชาติต่างๆ เช่น เส้นราเม็ง เส้นแป้งอูด้ง เส้นยากิโซบะ
ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมง รวมถึงกลุ่มองค์กรส่งเสริมการส่งออกอาหาร สนับสนุนประชาสัมพันธ์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรศึกษาแนวโน้ม ของตลาดกลุ่มผู้แพ้อาหารในแต่ละประเภท เพื่อให้พร้อมรับมือกับแนวโน้มของตลาดที่มีความแตกต่างของกลุ่มอาหาร และสามารถพัฒนาการผลิตพร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคนี้ได้
Reference
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
หนังสือพิมพ์ Nikkei MJ ฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566
โฆษณา