Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Tos
•
ติดตาม
7 มี.ค. 2023 เวลา 11:36 • ความคิดเห็น
ทำไมมนุษย์เราต้องกินแต่มังสวิรัติล่ะคะ ?
ข้อคิดสำหรับศีลข้อหนึ่ง
ท่านโลกนาถภิกขุชาวอิตาเลียน มีหลักประจำตัวว่า "ภิกษุและอุบาสกอุบาสิกา ไม่ควรกินเนื้อสัตว์เลย" โดยอ้างว่า เป็นการล่วงศีลข้อหนึ่งทางอ้อม และขาดเมตตา
ในส่วนของเราก็เชื่อว่า ถ้าไมมีเจตนาก็ไม่เป็นกรรมอันจะให้ผล !
แต่ข้าพเจ้ามีข้อคิดบางอย่างซึ่งเห็นว่าเรา
ไม่ควรนิ่งกันอยู่ ควรเผยแผ่ให้รู้สึกไว้ทั่วกันเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยรู้สึก
ท่านโลกนาถกล่าวไม่ผิด ! ถ้าไม่จำเป็นแล้วภิกษุไม่ควรฉันเนื้อสัตว์เป็นอันขาด ! นี่คือหลัก ประเด็นที่จะได้อธิบายกันต่อไป...
เรามีข้อแม้ได้เมื่อมีเหตุจำเป็นทั้งเพื่อไม่ให้เป็นผู้เลี้ยงยาก...แต่เลี่ยงไม่กินเนื้อสัตว์ได้จะดีมากต่อการจัดการกิเลส และการมีเมตตา
ที่ท่านเตือน เพราะท่านเจตนาดี....
การกินผักจะมีดวงจิตที่สงบข่มตัณหาความหื่นความอยากมีน้อยโรคน้อยกำลังแข็งแรง
เนื้อสัตว์ควรกินแต่ที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น !
ทำไมเราจึงไม่ควรกินเนื้อสัตว์(ในเมื่อไม่จำเป็น) ?
ฝ่ายธรรม......
1.เป็นการเลี้ยงง่ายยิ่งขึ้น นักเสพผักย่อมไม่มีเวลาที่ต้องกังวลใจเพราะอาหารไม่ถูกปากเลย
ส่วนนักเสพเนื้อสัตว์ต้องเลียบเคียงเพื่อได้อุททิสมังสะบ่อยๆ คนกินเนื้อสัตว์เพราะแพ้รสตัณหา กินเพราะตัณหา ไม่ใช่เพราะให้เลี้ยงง่าย
1
2.เป็นการฝึกในส่วนสัจธรรม สัจจะในการกินผักเป็นแบบฝึกหัดที่น่าเพลิน บริสุทธิ์สะอาด เราต้องฝึกทุกวัน จึงได้ผลเร็ว การฝึกใจด้วยเรื่องอาหาร
2
อันเป็นสิ่งที่เราบริโภคทุกวัน จึงเหมาะมาก อย่าลืมพระพุทธภาษิตที่มีใจความว่า สัจจะเป็นคู่กับผ้ากาสาวพัสตร์
3.เป็นการฝึกในส่วนทมธรรม (การข่มใจให้อยู่ในอำนาจ) คนเรามักเกิดมีทุกข์เพราะตัณหาหรือความอยากที่ข่มไว้ไม่อยู่
1
ผู้ที่ไม่มีการข่มรสตัณหา จักต้องเป็นทาสของความทุกข์ และถอยหลังต่อการปฏิบัติธรรม
การข่มจิตด้วยอาหารการกินก็เหมาะมากเพราะอาจมีการข่มได้ทุกวัน การข่มจิตเสมอเป็นของคู่กับผ้ากาสาวพัสตร์
ควรทราบว่า มันเป็นการยากยิ่ง ที่คนแพ้ลิ้นจะข่มตัณหาโดยเลือกกินแต่ผัก จากจานอาหารที่เขาปรุงด้วยเนื้อและผักปนกันมา!
จงยึดเอาเกมที่เป็นเครื่องชนะตน อันนี้เถิด
4.เป็นการฝึกในส่วนสันโดษ (การพอใจเท่าที่มีที่ได้) การฝึกเป็นนักเสพผักอย่างง่ายๆจะแก้ปัญหานี้ได้หมด สันโดษเป็นทรัพย์ของบรรพชิตอย่างเอก
5.เป็นการฝึกในส่วนจาคะ (การสละสิ่งอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบหรือพ้นทุกข์) นักเสพผักมีดวงจิตบริสุทธิ์ผ่องใส
เกินกว่าที่จะนึกอยากในเมื่อเดินผ่านร้านอาหาร เพราะผักไม่ยั่วในการบริโภคมากไปกว่าเพียงเพื่ออย่าให้ตาย
ต่างกับเนื้อซึ่งยั่วให้ติดรสและมัวเมาอยู่เสมอ ความอยากในรสที่เกินจำเป็นของชีวิต ความหลงใหลในรส
ความหงุดหงิด เมื่อไม่มีเนื้อที่อร่อยมาเป็นอาหาร ฯลฯ เหล่านี้จะไม่มีในใจของนักเสพผักเลย
6.เป็นการฝึกในส่วนปัญญา (ความรู้เท่าทันดวงจิตที่กลับกลอก) การกินอาหารจะบริสุทธิ์ได้นั้น
ผู้กินต้องมีความรู้สึกแต่เพียงว่า "กินอาหาร" (ไม่ใช่การกินผักหรือเนื้อ คาวหรือหวาน) และเป็นอาหารที่บริสุทธิ์
ไม่มีอะไรดีไปกว่าอาหารผัก ที่จะเป็นอารมณ์อันบังคับให้ท่านต้องใช้ปัญญาพิจารณามันอยู่เสมอทุกมื้อ เพราะเนื้อสัตว์ทำให้หลงรส ผักทำให้ต้องยกใจขึ้นหารส
แต่ปัญญาของท่านต้องมีอยู่เสมอว่า ไม่ใช่จะไปนิพพานได้เพราะกินผัก เป็นเพียงการช่วยเหลือในการขูดเกลากิเลสทุกวันเท่านั้น !
ฝ่ายทางโลก .....
1.ผักมีคุณแก่ร่างกายยิ่งกว่าเนื้อหรือไม่ วิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ก็พอที่จะรับว่าจะทำให้มีโรคน้อย มีกำลังแข็งแรง
มีดวงจิตสงบกว่ากินเนื้อสัตว์
(ชาวอินเดียด้วยกัน ที่เป็นพวกกินเนื้อดุร้ายกว่าพวกที่เป็นพรามหมณ์ไม่กินเนื้อสัตว์โดยกำเนิด)
มีความหื่นในความอยาก-ความโกรธ ความมัวเมาน้อยลงเป็นอันมาก
2.ทางเศรษฐกิจ ราคาผักกับเนื้อสัตว์รู้ๆกันอยู่ อาหารเลวๆไม่ได้ทำให้คนโง่ลงเลย ยิ่งเนื้อและผักแล้ว เนื้อเสียอีกกลับจะทำให้โง่ คือหลงรสของมันจนเคยชิน
คนคนเดียวกันนั่นเอง ถ้าเขาเป็นนักเสพผัก จะเป็นคนเข้มแข็ง มีใจมั่นคง ไม่โยกเยกรวนเร ยิ่งกว่าเป็นนักเสพเนื้อสัตว์
(กินผักมากที่สุดกินเนื้อแต่เล็กน้อยเท่าที่จำเป็นจริงๆ ก็เรียกว่านักเสพผัก ผักหมายรวมถึงผลไม้-น้ำตาลสด-ขนมฯลฯ แม้จะหมายถึงนมด้วยก็ได้)
3.ธรรมชาติแท้ๆ ต้องการให้เรากินผัก ขอจงคิดลึกๆหน่อยว่าธรรมชาติสร้างสรรค์พวกเราให้มีความรักชีวิตของตนทุกๆคน
เราควรเห็นอกเห็นใจสัตว์ที่มีความรู้สึกด้วยกัน มิฉะนั้นก็ไม่มีธรรมะเสียเลย ลองส่องดูดวงใจเป็นกลางๆ ไปทั่ว
สัตว์ทุกตัวที่ต้องพลัดพรากจากผัว-เมีย-ลูก-แม่-พ่อ ฯลฯ โดยถูกฆ่าเป็นอาหาร แล้วลองเทียบถึงใจเราบ้าง
เมื่อเราอาจช่วย หรืออาจเสียสละรสที่ปลายลิ้นเพื่อช่วยชีวิตสัตว์ หรือผู้อื่นได้แล้ว
ธรรมของมนุษย์ (สัตว์มีใจสูง)จะไม่ช่วยให้เราทำเพื่อเห็นแก่อกเขาอกเราบ้างเทียวหรือ
แม้พระพุทธองค์ก็ทรงบำเพ็ญพระเมตตาบารมีอย่างกว้างขวาง ทำไมเราจึงไม่ช่วยในเมื่อเรารู้ว่าเราอยู่ในฐานะที่จะช่วยได้ แม้ว่าไม่ช่วยก็ไม่บาปก็ตาม ?
สำหรับภิกษุ ไม่จำเป็นจะต้องรับรู้มาถึงเหตุผลของฝ่ายโลกดังกล่าวมานี้ก็จริง
แต่เพราะเป็นเพศนำของเพศอื่น จึงควรดำรงอยู่ในอาการที่เป็นไปฝ่ายข้างพ้นทุกข์สงบเยือกเย็นอยู่เสมอ
ไม่เป็นคนดื้อด้านต่อเหตุผล ไม่เป็นคนเลี้ยงยาก ไม่เป็นคนละเลยต่อการขูดเกลาความรู้สึกของธรรมดาฝ่ายต่ำ
มีการเห็นแต่แก่ตัวหรือ ความอร่อยของตัว เป็นต้น ไม่เป็นผู้หาข้อแก้ตัวด้วย การตีโวหาร ฝีปาก
แต่จะเป็นคนรักความยุติธรรม รักความสงบ แผ่เมตตาไม่จำกัดวง-ไม่จำกัดความรับผิดชอบ
พร้อมด้วยเหตุผลอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นภิกษุจึงไม่ควรนิ่งเฉยต่ออารมณ์ที่เกื้อกูลแก่ความก้าวหน้าในส่วนใจของตนแม้แต่น้อย
การเว้นบริโภคเนื้อ ไม่ใช่เป็นสิ่ง ที่ทรงห้ามหรือฝืนพระบัญญัติสำหรับดวงใจที่ประสงค์
ขูดเกลากิเลสของตน-ดวงใจที่ไม่เอาคนนอกส่วนมากเป็นประมาณ-ดวงใจที่ไม่แพ้ลิ้น-ดวงใจที่ไม่ประสงค์การตีโวหาร
การไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ก็เป็นธุดงค์อย่างเดียวกับธุดงค์อื่นๆ ซึ่งทรงตรัสไว้ว่าเป็นการขูดเกลากิเลส
แต่ก็ไม่ทรงบังคับกะเกณฑ์ให้ใครถือ แต่เมื่อใครถือก็ทรงสรรเสริญเป็นอย่างมาก เช่น ทรงสรรเสริญพระมหากัสสป ธุดงค์ 13 อย่าง
บางอย่าง เช่น เนสัขขิกัง ก็ไม่มีใครเชื่อว่าเป็นพุทธภาษิตนัก แม้จำนวนสิบสามก็ไม่ใช่จำนวนที่ทรงแต่งตั้ง
เมื่อเช่นนั้น การขูดเกลาใจด้วนการเว้นเนื้อสัตว์ก็เป็นสิ่งที่รวมลงได้ในธุดงค์ หรือมัชฌิมาปฏิปทานั่นเอง
เพราะเข้ากันได้กับสิ่งที่ทรงอนุญาตในฝ่ายธรรม มิใช่ฝ่ายศีลซึ่งเป็นการบังคับ.
คนธรรมดาติดรสอาหารกันแทบทั้งนั้น มันเป็นเครื่องทดลอง หรือวัดน้ำใจเรา
เป็นบทเรียนที่ยาก แต่เปิดโอกาสให้เราฝึกได้ทุกๆวัน
การเสพผักไม่เสพเนื้อสัตว์ เป็นการฝึกใจช่วยให้ไปถึงการชำระตัณหา
ถ้าท่านยังแย้งว่า การกินผักไม่ได้เป็นการก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรม ข้าพเจ้ามีคำตอบแต่เพียงว่า
ท่านยังไม่รู้จักตัวปฏิบัติธรรมเสียเลย ท่านจะรู้จักการกินผักซึ่งเป็นอุปกรณ์ของการปฏิบัติธรรมอย่างไรได้
ขอให้ทราบว่า "การกินผักไม่ได้ถือเป็นลัทธิหรือบัญญัติ" เราฝึกบทเรียนนี้โดยไม่ได้สมาทาน หรือปฏิญาณ อย่างสมาทานลัทธิ หรือศีล
มันเป็นข้อปฏิบัติฝ่ายธรรมทางใจ ซึ่งเราอาษัยหลักกาลามสูตร หรือโคตมีสูตรเป็นเครื่องมือตัดสินแล้ว ก็พบว่าเป็รแต่ฝ่ายถูก ฝ่ายให้คุณโดยส่วนเดียว
เป็นการขูดเกลากิเลสซึ่งพระพุทธองค์สรรเสริญ แต่ถ้าใครทำเพราะยึดมั่น ก็กลายเป็นสีลัพพตปรามาสยิ่งขึ้น
และถ้าบังคับกัน ก็กลายเป็นลัทธิของพระเทวทัต ที่จริงหลักมัชฌิมาปฏิปทา สอนให้เราทำตามสิ่งที่เรามองเห็นด้วนปัญญาว่าเป็นไปเพื่อความขูดเกลากิเลสเสมอ
แต่เรามองเห็นแล้วไม่ทำ ก็กลายเป็นเราไม่ปรารถนาดีไปเอง ส่วนผู้ที่ยังมองไม่เห็นนั้น ไม่อยู่ในวงนี้ มัชฌิมาปฏิปทาคือการทำดีโดยวงกว้าง !
เราไม่ได้เสพผักเพื่อเอาชื่อเสียงว่าเป็นนักเสพผัก(Vegetarian) เลย เราก้าวหน้าในการขูดเกลาใจเพื่อยึดเอาประโยชน์อันเกิดแต่การมีกิเลสเบาบางอีกส่วนหนึ่งเท่านั้น
ข้อสำคัญที่สุด ข้าพเจ้าไม่ได้ขอร้องให้ท่านเป็นนักผัก เป็นแต่แสดงความคิดเห็นของข้าพเจ้าในเรื่องนี้ ขอร้องเพียงให้ท่านนำไปคิดดู
เมื่อท่านไปคิดแล้ว ในกาลต่อไป ท่านจะเป็นนักผักหรือนักเนื้อก็แล้วแต่เหตุผลของท่าน
พุทธบุตรที่แท้จริง คือ "คนมีเหตุผล" ที่จริงนักเนื้อก็ไม่ใช่ผู้อันใครจะพึงรังเกียจ เช่นเดียวกับผู้ไม่สมาทานธุดงค์อย่างอื่น เช่น ทรงไตรจีวร หรืออยู่โคนไม้เหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องที่ไม่บังคับ
โมกขพลาราม
๑ ธันวาคม ๒๔๗๗
บางตอนจากหนังสือ ชุมนุมข้อคิดอิสระของ ท่านพุทธทาสภิกขุ
ธรรมะ
ไลฟ์สไตล์
บันทึก
1
3
2
1
3
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย