8 มี.ค. 2023 เวลา 10:46 • การ์ตูน

ปัญหาทุนนิยมต่อศิลปินที่ตีแผ่ผ่านวิทยุตลก

ชิบางากิ:Creator เหมือนถนน One way อย่าได้เข้ามาเด็ดขาด การบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองเพื่อตอบสนองค่านิยมของสังคมมันทำให้เกิดผลลัพธ์ไร้ค่า
บาบะ:แต่งานของเราต้องตอบสนองผู้บริโภคนะ
ชิบางากิ:ไม่ล่ะเราไม่ได้ทำของใช้ในบ้านซะหน่อย ความเห็นของเราควรมีความสำคัญ เพราะเราทำงานเพื่อความรู้สึกของผู้คน
เป็นบทสนทนาจากรายการตลกคาเฟ่วิทยุที่โอโดคาวะ วอลรัสขับแท็กซี่กำลังเปิดฟังขณะที่ขับแท็กซี่ในตอนที่ 2 ในเรื่อง Odd Taxi
(ซ้าย)ชิบางากิ(หมูป่า) รับบทตัวปล่อยมุก (ขวา)บาบะ(ม้า) รับบทตัวตบมุก เป็นรายการตลกที่เนื้อหาไม่ตลกจริงๆ
บทสนทนาท่อนนี้มาเพียงแค่ท่อนเดียวก็สามารถตีแผ่ปัญหาทุนนิยมแทรกแซงศิลปินได้อย่างเจ็บแสบ เมื่อผู้ที่เป็นศิลปินจะสร้างผลงานอันวิจิตรศิลป์ออกมา มันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ความตั้งใจ ใส่ใจทุกกระบวนการด้วยความรัก ความหลงไหล ลงไปในชิ้นงานนั้นๆ ผลงานที่ว่านี้เป็นสื่อหลายแขนง เช่น ภาพวาดจิตรกรรม ปฏิมากรรมภาพแกะสลัก การเข้ามาของกลุ่มนายทุนมันก็เป็นความหวังเพื่อที่จะให้ผลงานที่ตั้งใจทำสุดความสามารถได้กำไรในแง่ที่ว่า ทำให้ผู้คนสนใจและเห็นคุณค่าในตัวผลงานมากขึ้น แต่มันกลับตาลปัตรแบบน่าเจ็บใจมาก
Capitalism ระบบทุนนิยม
เพราะนายทุนหลายคนที่เข้ามา มักต้องการเพียงแค่ผลประโยชน์และมองผลงานเป็นแค่ผลผลิตที่สร้างโดยเห็นที่ค่าของเงินมากกว่าคุณค่าทางจิตใจของผู้สร้างและความประทับใจจากผู้ชมอันประเมินค่ามิได้ การแทรกแซงของนายทุนที่มองผลงานเป็นแค่สินค้าในการสร้างรายได้แบบฉาบฉวย ผลประโยชน์ในระยะสั้นใช้แล้วทิ้ง อย่างอนิเมะหลายๆเรื่องที่ถูกสร้างมาเพื่อโปรโมทนิยาย เช่น Spy Classroom หรือ Mobseka เนื้อเรื่องต้นฉบับไม่เลว แต่ถูกแปลงเป็นอนิเมะออกมาได้ผิดหวัง พอได้รายได้แบบระยะสั้นเรื่องนั้นๆก็จะถูกหลงลืมไปจากความทรงจำของผู้คน
Spy Classroom กับ MobuSeka อนิเมะ 2 เรื่องที่ออกมาผิดหวัง
หรือการหากินกับแบรนด์นั้นๆ ทำออกมาขายแบบไม่ตั้งใจแบบไม่รู้จบเพียงคิดแบบตื้นเขินว่ามันขายได้ เช่น นักสืบตายแล้ว ที่ล่าสุดถูกสร้างภาคต่อจากสตูดิโอที่ใช้แนวคิดเดิมๆที่สร้างผลงานออกมาด้วยความไม่ใส่ใจต่อสิ่งใด จนเกิดเป็นความไม่พอใจและผูกใจเจ็บให้กับใครหลายคนเสมอมา
นักสืบตายแล้ว ประกาศทำภาค 2 แล้วโดยสตูดิโอ Engi
หรือเป็นเรื่องที่เบื้องบนของสตูดิโอใหญ่กดดันให้พนักงานทำงานหนักจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน สุขภาพเสีย เร่งทำออกมาเพื่อให้มีรายได้เข้าบริษัทและแข่งกับกระแส เช่น ผ่าพิภพไททันในช่วงหลังๆ ทั้งที่เรื่องนั้นใช้เวลา 10 ปีวางแผนให้เต็มที่แล้วสร้างปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่แบบตระกูลโจโจ้หรือ BLEACH เทพมรณะ สงครามเลือดพันปี มันก็ยังไม่สาย
แม้ผ่าพิภพไททัน ที่ย้ายสตูดิโอจาก Wit studio เป็น MAPPA จะออกมาดีใช้ได้ แต่การเร่งรัดงาน มันเป็นการทำให้พนักงานทำงานหนักมากขึ้น จนสุขภาพทรุดโทรมหลายคน
หรือจะเป็นปัญหาในวงการภาพยนตร์ที่กดรอบหนังที่นอกกระแสหรือหนังอาร์ต เหลือแค่หนังตลาดให้รอบเหลือล้นชนิดที่ว่าดูซ้ำได้เป็นเดือนๆ ถ้าเลวร้ายคือเหลือแต่หนังที่มีเนื้อหาซ้ำซาก หากเพียงแต่ว่าหนังแนวอื่นๆ เช่นหนังอินดี้ หนังนอกกระแส หนังอาร์ต หรือหนังแนวอื่นๆที่มีความน่าสนใจไม่ซ้ำใคร แต่กลับมีคนดูหรือพูดถึงน้อย เพราะถูกทำให้รอบฉายน้อยลงหรือไม่มีแม้แต่เงา เมื่อหนังตลาดเพิ่มรอบฉายจนล้นแล้ว ก็เพิ่มราคาค่าตั๋วจนมีราคาสูงแบบทวีคูณพอๆกับชาบูมื้อนึงเลย ค่าตั๋วแพงไม่พอ ค่าป๊อบคอร์น ค่าน้ำอัดลมก็ราคาแพงขึ้นตาม
จนกลายเป็นว่าโรงภาพยนตร์เป็นแหล่งในการขูดรีดเงินและโก่งราคาจากคนดูมากจนเกินไปและเน้นขายแต่เรื่องที่ขายกระแสได้ แต่ไม่ได้ส่งเสริมให้คนดูเข้ามาสนใจในการดูหนังมากขึ้น เพราะผลที่ได้มันตรงกันข้ามคือค่าตั๋วแพง จนทำให้คนที่มีกำลังทรัพย์ในระดับปานกลางมีโอกาสได้ดูหนังน้อยลง แม้จะมีส่วนลดวันพุธก็ตามจนทำให้คนที่มีกำลังทรัพย์ในระดับปานกลางมีโอกาสได้ดูหนังน้อยลง ถึงได้ดูบ่อยก็จะพบกับแนวเรื่องที่ซ้ำซาก
สุดท้ายก็วนลูปกลับไปสู่เรื่องที่ หนังแนวแปลกๆ แนวที่ไม่ซ้ำใคร มีคนดูหรือพูดถึงน้อย แล้วก็ไม่เอาหนังแนวอื่นเข้ามา เข้าโรงแค่หนังตลาด เพิ่มตั๋วให้ราคาแพง แล้วก็วนซ้ำ หนังกระแสมาแรงเป็นเพียงแค่สินค้าตามท้องตลาด หนังที่แนวแปลกใหม่ก็หายเข้ากลีบเมฆ จนทำให้วงการภาพยนตร์ไม่เติบโต
การจัดรอบฉายภาพยนตร์ที่ไม่เป็นธรรม มันก็เป็นส่วนหนึ้งที่ปิดกั้นหนังไทยไม่ให้เติบโต ล่าสุด 'ขุนพันธ์ 3' เรื่องที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
หากคุณผู้อ่านจะโต้แย้งมาว่า คนเรามันต้องใช้เงิน ต้องกิน ต้องใช้ ปัญหาปากท้องมันสำคัญมาก ใช่ครับเงินสำคัญ เรื่องสำคัญต้องใช้เงิน หากแต่การบูชาเชิดชูเงินจนลืมสิ่งที่เป็นวิจิตร เป็นค่านิยมที่ฝังลึกลงไปรากฐานของสังคม คนเลยแสดงด้านที่เห็นแก่ตัวกันมากขึ้น
ข้อดีของเศรษฐกิจทุนนิยม คือกระตุ้นให้คนสร้างผลงาน และมีแรงจูงใจคือรายได้ แต่กลับกันนั่นก็คือข้อเสียเหมือนกัน เพราะหากดวงตา 2 ดวงมองที่ค่าของเงินมากเกินไป แล้วจะเอาดวงตาข้างไหนมองคุณค่าที่ผลงาน กระบวนการของนายทุนคิดแค่ผลงานจากศิลปินมันเป็นสินค้าที่เพียงจะขายแล้วได้กำไรเป็นค่าของเงิน แต่ไม่ได้อยากให้คนอยากเชยชมความสวยงามและเติมเต็มคุณค่าที่เงินไม่สามารถประเมินค่าได้ หรือการเข้าไปแทรกแซงครีเอเตอร์เพื่อให้เขาจำยอมทำตามเพื่อให้แลกกับการเติบโต ทั้งที่ลึกๆแล้วนี่มันไม่ใช่แนวทางการเติบโตที่เขาต้องการ
แม้สื่อต่างๆ การ์ตูน อนิเมะหรือหนัง ที่มันปลุกกระแสให้ลุกเป็นไฟ ไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป ปัญหาที่เกิดขึ้นนี่ นายทุนไม่ได้ให้ความรักต่อตัวผลงานหรือศิลปิน แต่รักในเงินและผลประโยชน์ของตัวเอง หากตัดเรื่องปัญหาทุนนิยมออกหลายๆเรื่องสร้างโดยใช้แนวคิดที่ตั้งใจ ใส่ใจด้วยแพชชั่น จิตวิญญาณ จนเกิดเป็นผลงานที่ทรงคุณค่ามากมายมหาศาล
อนิเมะของค่าย Cloverworks ในปีที่ผ่านมา Bocchi the Rock หรือ Akebi-chan no Sailor-fuku หรือเรื่องจากค่าย P.A. Works อย่าง Paripi Koumei ก่อนจะกลายเป็นเรื่องกระแสมาแรง ทางทีมงานใส่ใจและใส่พลังในการผลิตออกมาอย่างเต็มที่แม้จะมีความกดดันเรื่องชื่อเสียงที่ไม่ดีในช่วงที่ผ่านมาหรือแบกรับความกดดันมหาศาลจากนายทุน
Fruit Basket, BLEACH เทพมรณะ สงครามเลือดพันปีหรือแม้แต่ภาพยนตร์เรื่อง Top gun Maverick ที่ไม่ได้ทำเพื่อครบรอบหรือรำลึกเรื่องที่โด่งดังในอดีตแต่เป็นการใช้ศักยภาพของตัวเองจนสุดความสามารถจนยกระดับผลงานให้ออกมาสุดยอด
สแตนลีย์ คูบริกหรือมาร์ติน สกอร์เซซี ท่านทั้งสองสร้างผลงานศิลปะด้วยใจรัก อันประเมินค่าเป็นเงินมิได้
Sayonara Zetsubou Sensei ตระกูล Monogatari สาวน้อยเวทมนตร์มาโดกะ 3-Gatsu no lion ที่อ.อะกิยูกิ ชินโบ ใช้ความประณีตในการพัฒนาออกมาจนเป็นตำนานและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น
ลูกศิษย์ที่ได้เรียนรู้วิชาจากอ.ชินโบ ก็นำวิชาไปประยุกต์แล้วสร้าง Yofukashi no uta ออกมาเป็นเรื่องที่วางเนื้อหาและบอกเล่าบรรยากาศในยามค่ำคืนได้ดี
หรือแม้แต่เรื่อง Odd Taxi เองก็บรรยายยามค่ำคืนด้วยความเฉพาะตัว ส่วนนึงก็มีแรงบันดาลใจมาจาก Taxi Driver ที่กำกับโดยมาร์ติน สกอร์เซซี เช่นกัน
"ในโลกนี้ไม่มีอาชีพที่ไส้แห้ง ทุกคนมีอาชีพที่เก่งที่สุดและคนที่รวยสุดหมด มันอยู่ที่ความเอาจริงเอาจัง" - อาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ
วาทกรรมคลาสสิคของคนไทยที่โจมตีว่า "ศิลปินนั้นไส้แห้ง" มันอาจจะไม่จริงซะทีเดียว เพราะหลายท่านที่เป็นศิลปินนอกจากจะมีฐานะที่ดี ก็ได้รับเกียรติรางวัลมากมาย แต่แก่นแท้จริงๆคือ ผู้ที่จะเป็นศิลปินได้ต้องทำด้วยใจรัก หัวใจที่รักในกระบวนการสร้าง ความพยายาม มากกว่าผลลัพธ์ สร้างสิ่งที่เติมเต็มความอิ่มเอมในจิตวิญญาณ ไม่ให้ใจแห้งแล้ง
หากจะให้บทเรียนกับกลุ่มนายทุนที่สรรหาแต่เพียงผลประโยชน์จากสิ่งที่เขามองว่าเป็นสินค้าให้ไปแก้ไขตัวเองนั้น พวกเขาควรจะต้องเรียนรู้กระบวนการใหม่นั่นคือ ให้มองเห็นผลงานในฐานะสิ่งที่เกิดจากความรักของศิลปินที่ถ่ายทอดออกมาจากผลงาน แม้เพียงเสี้ยวเดียวก็ยังดี และส่งเสริมให้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงความงดงาม คุณค่าของศิลปะเหล่านั้น
เพียงแค่เพิ่มเติมความเข้าใจและการดื่มด่ำกับความวิจิตรจากคนสร้าง เพิ่มการสัมผัสต่อตัวผลงานด้วยหัวใจแม้เพียงนิดเดียว ส่งเสริมให้คนทั่วไปตระหนักถึงสิ่งนี้ แล้วทำให้เกิดเป็นการตลาดในภายหลังมันก็ยังไม่สาย เป็นการเกื้อกูลกันและพัฒนาวงการให้เติบโตในทางที่ควร เป็นผลดีกว่าการขูดรีดเพื่อให้ได้รายได้แบบฉาบฉวย การเติบโตทางแนวคิดเป็นองค์รวมต้องมาก่อนการได้ผลประโยชน์ส่วนตัว
ตำนานที่ถูกจารึกเอาไว้นั้นไม่ใช่เอาไว้ครอบครองผลประโยชน์และมองผลงานเป็นแค่สินค้า แต่มันรับใช้ผู้คนด้วยการเติมเต็มคุณค่า สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆคนจนสร้างตำนานบทต่อๆไปขึ้นมาศิลปะต้องมาคู่กับอิสระที่ได้รังสรรค์ผลงานขึ้นมา แม้จะไม่ใช่ครอบครัวทางสายเลือดเดียวกัน แต่ก็ตรงกับสุภาษิตที่ว่า "ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น" จริงๆ
"จุดสูงสุดของชีวิต มิใช่เป็นผู้ปกครอง หากแต่คือผู้รับใช้" - คุณรัฐธีร์ ชาญชินปวิณณัช คุณนิยุตรัตน์ จามพันธ์ สมาชิกสภาสองผู้สถาปนาแห่งประเทศไทย
การเป็นทาสกับผู้รับใช้ต่างกันเพียงแค่
ผู้รับใช้ เพียงแค่มอบคุณค่าให้ผู้อื่น ตัวเองก็ได้รับคุณค่าแบบเหลือล้น ศิลปินที่ดีคือใจรักที่จะสร้างสรรค์และมอบความหมายให้กับผู้คนส่วนทาสจำใจยอมรับสภาพและตกเป็นเบี้ยล่างกับบางสิ่งบางอย่างที่เป็นเจ้าของเราโดยไร้การขัดขืน เช่นการจำยอมนายทุนเพื่อให้ได้เพียงแค่ประโยชน์และรายได้
เกียรติรางวัลสูงสุดของศิลปินไม่ใช่การสร้างดอกผลให้กับต้นไม้ต้นเดียว เช่นได้รับ ถ้วยรางวัล เกียรติยศ หากแต่เป็นการสร้างผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์หรือคืนหยดน้ำสู่มหาสมุทรนั่นคือการเติมเต็มสิ่งที่เรียกว่า "คุณค่าแห่งชีวิต"
ก็ฝากติดตามเพจได้ที่ Facebook ด้วยนะคร้าบ และมีบทเวอร์ชั่น Facebook ด้วย
โฆษณา