9 มี.ค. 2023 เวลา 12:54 • ปรัชญา

⚔️วัดบางกุ้ง(ค่ายบางกุ้ง)⚔️

ณ สถานที่แห่งนี้ประมาณ 200 กว่าปีเศษ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพร้อมด้วยเหล่าทหารหาญได้ประกอบวีรกรรมอันหาญกล้า ได้ต่อสู้กับทหารพม่าข้าศึก ที่รุกรานประเทศไทยจนได้รับชัยชนะจากชัยชนะในการรบที่ค่ายบางกุ้งมีผลดีต่อชาติไทยหลายประการ
ที่สำคัญยิ่งคือขวัญและกำลังใจของคนไทยที่เกือบจะสูญสิ้นไปกับการเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 การรบกับพม่าที่ค่ายบางกุ้งในปี พ.ศ. 2311 เป็นสงครามครั้งแรกที่ไทยรบกับพม่าภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ทำให้ขวัญและกำลังใจของคนไทยกลับคืนมา
ค่ายบางกุ้งตั้งอยู่บริเวณวัดบางกุ้ง หมู่ที่4 ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงครามปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่เศษ เป็นค่ายทหารเรือที่มีชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดารชาติไทย ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ที่เกิดวีรกรรมของชาวแม่กลองในช่วงตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยากรุงธนบุรี ซึ่งทหารไทย-จีน โดยการนำของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระมหามนตรี(บุญมา) อนุชาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งราชวงศ์จักรี
ร่วมรบขับไล่กองทัพพม่าข้าศึกแตกพ่ายสร้างความเกรงขามแก่กองทัพพม่าเป็นอย่างยิ่ง และเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจของคนไทย ให้กลับขึ้นมาภายหลังจากที่ไทยต้องเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองให้แก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 เนื่องจากเมืองแม่กลองเป็นเส้นทางที่กองทัพพม่าได้ใช้เป็นเส้นทางเดินทัพทางหนึ่ง ในการเข้าตีไทย พระเจ้าเอกทัศน์ได้โปรดให้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายที่ตำบลบางกุ้ง เรียกว่าค่ายบางกุ้ง โดยสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้งให้อยู่กลางค่าย เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นที่เคารพบูชาของทหาร
พ.ศ. 2310 หลังจากที่พม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกแล้วค่ายบางกุ้งไม่มีทหารประจำการและรักษาค่ายกระทั่งพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้เอกราชกลับคืนมาได้ และทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ในปีเดียวกันนี้เอง พระองค์ได้โปรดให้คนจีนจาก ระยอง ชลบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี รวบรวมผู้คนมาตั้งเป็นกองทหารรักษาค่าย จึงมีชื่อเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าค่ายจีนบางกุ้ง
ซึ่งทหารจีนส่วนใหญ่จะเป็นลูกเรือสำเภาที่ได้มาถวายตัวรับราชการกับพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงให้ชื่อทหารเหล่านี้ว่า "ภักดีอาสา" และแต่งตั้งให้ "ไต้ก๋งเจียม" เป็น "ออกหลวงเสนาสมุทร" เป็นหัวหน้า
ทหารภักดีอาสา ดูแลค่ายจีนบางกุ้ง ออกหลวงเสนาสมุทร ได้สร้างค่ายบางกุ้งให้มีความถาวรตามแบบฉบับตำราพิชัยสงครามของ "ง่อกี้" โดยก่ออิฐเป็นเชิงเทินหอรบ ขุดคูป้องกันค่าย (ปัจจุบันเรียก คลองบ้านค่าย) สร้างค่ายตามแนวแม่น้ำแม่กลองถึงเขตวัดแหลมเตย (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าไทเพ่งอ๊วงกง) มีวัดบางกุ้งอยู่กลางค่าย และขุดคลองบริเวณใกล้วัดเพื่อใช้น้ำในการหุงหาอาหาร (ปัจจุบันเรียกว่าคลองบางกุ้ง)
พ.ศ. 2311 พระเจ้ากรุงอังวะ กษัตริย์พม่า ได้ให้แมงกี้มารหญ่า เจ้าเมืองทวาย ยกทัพมาสืบข่าวสภาพบ้านเมืองในสมัยกรุงธนบุรี ว่าสงบราบคาบหรือจลาจล เพราะเป็นช่วงระยะเวลาที่ไทยกำลังผัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ เจ้าเมืองทวายได้ยกพลประมาณ 20,000 คนเศษ เดินทัพยกเข้ามาทางไทรโยค เมืองกาญจนบุรี และให้ยกทัพเรือเข้ามาที่ค่ายตอกะออมแล้วเดินทัพล้อมค่ายจีนบางกุ้งไว้ ทหารอาสาภักดีอาสาได้สู้รบเป็นสามารถ
กองทัพพม่าโจมตีค่ายบางกุ้งหลายครั้งแต่ไม่สามารถยึดค่ายได้ทางคณะกรรมการเมือง ได้มีใบบอกเข้ามายังกรุงธนบุรี ขอกำลังมาช่วยรบพม่า
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบข่าวสึก โปรดได้ให้พระมหามนตรี จัดกองทัพเรือ 20 ลำ แล้วพระองค์ทรงเรือพระที่นั่งสุวรรณพิชัยนาวาเรือยาว 18 วาปากเรือกว้าง 3 ศอกเศษ พลกรรเชียง 287 คนพร้อมศาสตราวุต ยกทัพมาถึงค่ายบางกุ้งในเวลากลางคืนตอนพลบค่ำ จึงมีบัญชาให้จอดเรือพักทัพ ที่ฝั่งตรงกันข้ามกับค่าย โดยที่ทหารฝ่ายเดียวกัน คือ ทหารภักดีอาสา และทหารพม่าไม่ทราบ เนื่องจากเป็นช่วงข้างแรมเดือนมืด
(บริเวณที่จอดเรือพักทัพมีชื่อเรียกว่าบ้านพักทัพ ปัจจุบันคือบ้านบางพลับ) ครั้นเวลายามสามได้ทรงนำกำลังทหารเข้าตีพม่าด้านท้ายค่าย (ที่ตั้งศาลเจ้าไทเพ่งอ๊วงกง ในปัจจุบัน)
ตามพงศาวดารกรุงธนบุรีกล่าวว่า ในตอนเรียกประชุมนายทัพนายกองเพื่อปลุกใจ และบงการนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินได้เน้นว่าถ้าช้าไปอีกวันเดียวค่ายบางกุ้งจะแตก แล้วขวัญทหารไทยจะไม่มีวันฟื้นคืนได้ การรบทุกครั้งการแพ้ชนะอยู่ที่ขวัญและกำลังใจ ถ้าไทยแพ้อีกครั้ง พม่าจะฮึกเหิม พวกไทยจะครั่นคร้าม และกู้ชาติไม่สำเร็จ การรักษาค่ายบางกุ้งไว้ได้ครั้งนี้ ได้ชื่อว่าท่านทั้งหลายได้ช่วยขวัญของไทยในการรบครั้งต่อไป
การรบครั้งนี้ตะลุมบอนกันด้วยอาวุธสั้น เมื่อทหารจีนในค่ายทราบว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จมาบัญชาทัพด้วยพระองค์เอง ก็เกิดกำลังใจเปิดประตูค่ายตีกระหนาบพม่าอีกทางนึง แมงกี้มารหญ่า เจ้าเมืองทวายเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้จึงถอยทัพกลับไปเมืองทวาย
ครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเผด็จศึกค่ายบางกุ้งแล้ว จึงพาทหารเข้าพักแรมในค่ายบางกุ้งก่อนจะกลับกรุงธนบุรีได้เรียกประชุมเหล่าทหารหารทั้งไทยจีนให้มีความสามัคคีปรองดองเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีความรักกันฉันท์ญาติเนื้อ ความในพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า
"เนื้อต่อเนื้อไม่เอื้อเฟื้อ เป็นเนื้อกลางป่า เนื้อใช่เนื้อได้เอื้อเฟื้อ เป็นเนื้ออาตมา" หมายความว่าคนที่เป็นญาติกันไม่ได้เกื้อกูลกันก็เหมือนมิใช่ญาติ คนที่ไม่ใช่ญาติแต่ได้เกื้อกูลกันก็เป็นเช่นญาติสนิท
และเมื่อ พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชท่านได้ทรงเสด็จมาที่ค่ายบางกุ้งแห่งนี้อีกครั้ง โดยได้ยกทัพไปรพพม่าที่ค่ายบางแก้ว เมืองราชบุรี เสด็จโดยเรือพระที่นั่งกราบเรือยาว 13 วา ปากเรือกว้าง 3 ศอกเศษ ไพร่พลในกองทัพ 8,863 ปืนใหญ่น้อย 277 กระบอก ได้หยุดกองทัพพักพลและท่านทรงสวยกระยาหารที่วัดกลางค่ายบางกุ้ง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2317 ปัจจุบันบริเวณค่ายบางกุ้งแห่งนี้ได้มีการพัฒนาเพื่อให้เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม
โดยท่านพระวินัยธรองอาจ อาริโย เจ้าอาวาสวัดบางกุ้ง ได้ดำเนินการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและตลอดจนภูมิทัศน์ โดยตลอดจนสร้างแนวกำแพงจำลองค่ายบางกุ้ง ไว้เป็นอนุสรณ์สถาน เป็นสิ่งเตือนใจให้รำลึกถึงวีรกรรมอันหาญกล้าของบรรพบุรุษนักรบไทยที่ปรากฏ ณ ค่ายบางกุ้ง
นอกจากนี้บริเวณค่ายบางกุ้ง ยังมีอุโบสถที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านเรียกกันในนามโบสถ์หลวงพ่อดำ(หลวงพ่อนิลมณี) ที่มีลักษณะพิเศษโดยโบสถ์ทั้งหลังถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้สี่ชนิดด้วยกัน คือ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไกร ต้นกร่าง แต่รู้จักกันในนามโบสถ์ปรกโพธิ์
โฆษณา