9 มี.ค. 2023 เวลา 13:08 • หนังสือ

หยดน้ำตาสยาม

ร.ศ. 112 เป็นปีในประวัติศาสตร์ที่คนไทยจำกันได้แม่นว่าเป็นปีที่สยามเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาเราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112’ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า ‘สงครามฝรั่งเศส-สยาม’
Claire Keefe- Fox นักเขียนลูกครึ่งชาวฝรั่งเศส-อเมริกัน เชี่ยวชาญทางด้านภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส เคยรับราชการอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส และพำนักอยู่ที่เมืองไทยอยู่นานหลายปี ในฐานะผู้อำนวยการสมาคมฝรั่งเศส หรือ Alliance Française ในบ้านเรา ก่อนที่จะหันมาจับปากกาเขียนหนังสือ
ด้วยความสนใจทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมืองระหว่างประเทศของไทย เธอจึงเขียนนิยายในแนวอิงประวัติศาสตร์ เริ่มจาก Le Ministre Des Moussons เรื่องราวของฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ขุนนางชาวกรีกที่รับใช้ราชสำนักไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารยณ์มหาราช ที่เธอใช้เวลานานกว่าห้าปีสำหรับงานเขียนชิ้นแรกของเธอ แปลเป็นไทยในชื่อ ‘ฟอลคอนแห่งอยุธยา’ โดย กล้วยไม้ แก้วสนธิ
ตามมาด้วย Le Roi Des Rizières เรื่องราวของชายหนุ่มชาวฝรั่งเศสเข้าร่วมกับกองทัพพระเจ้าตากสินเพื่อกอบกู้เอกราชในสมัยเสียกรุงศรีอยุธยา แปลเป็นไทยในชื่อ ‘ตากสินมหาราช ชาตินักรบ’ โดยผู้แปลคนเดียวกัน
‘หยดน้ำตาสยาม’ คือผลงานชิ้นที่สามของเธอ แคลร์เขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า Siamese Tears เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของสยามในช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 1890 - 1896 รวมระยะเวลาหกปี ซึ่งสยามกำลังอยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แคลร์เล่าเรื่องราวผ่านตัวละครที่ชื่อจูลี่ หรือครูชุลีของชาววัง หญิงสาวลูกครึ่งฝรั่งเศส-อังกฤษ ที่ได้ติดตามสามีมาพำนักอยู่ที่สยาม จนเกิดความผูกผันกับดินแดนที่เธอเคยดูถูกว่าบ้านป่าเมืองเถื่อน และด้วยสถานะของเธอที่พัวพันกับตัวละครต่างๆ ทั้งในแวดวงการทูตและการทหารทั้งทางฝั่งฝรั่งเศสและอังกฤษ จึงทำให้เธอได้รับรู้เรื่องราวข่าว ‘วงใน’ ความขัดแย้งระหว่างประเทศของสยามกับสองประเทศมหาอำนาจที่ต่างต้องการจะเขมือบสยามให้เป็นอาณานิคมของตนเอง
การเล่าเรื่องจึงเป็นเรื่องแต่งที่มาจากจินตนาการของผู้เขียน ผสมกับเหตุการณ์จริง บุคคลจริง เพื่อให้เกิดความสมจริงที่สุด จึงมีตัวละครฝ่ายไทยอย่างพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ตัวละครต่างชาติอย่าง เมอร์ซีเยอร์โรลัง-ยัคมินส์ ที่ปรึกษารัฐบาลไทยชาวเบลเยี่ยม และเมอร์ซิเยอร์ออกุสต์ ปาวี นักสำรวจชาวฝรั่งเศส และกงสุลฝรั่งเศสประจำประเทศไทยตัวแสบ ที่เป็นตัวการสำคัญต่อเหตุการณ์ ร.ศ. 112
ความน่าสนใจของ ‘หยดน้ำตาสยาม’ อยู่ที่การนำเสนอจากมุมมองของตัวละคร ที่ถึงแม้จะเป็นชาวฝรั่งเศส แต่ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับพฤติกรรมการล่าอาณานิคมของรัฐบาลฝรั่งเศส ที่ละโมบใช้อำนาจทางการทหารและเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองในการเอารัดเอาเปรียบเจ้าของดินแดน หาเรื่อง หาเหตุเพื่อยึดครองดินแดนที่หมายตาไว้มาเป็นอาณานิคมของตนเอง
ฝรั่งเศสมีกองกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีแสนยานุภาพมากพอจะทำให้สยามตกเป็นเมืองขึ้นได้อย่างไม่ยากเย็นนัก อังกฤษซึ่งทำท่าเหมือนจะช่วยสยามทั้งทางการทูตและการทหารในการช่วยสยามปกป้องเอกราช แต่ก็พึ่งไม่ได้
1
สุดท้าย…พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องยอมเฉือนดินแดนฝั่งแม่น้ำโขง ที่เป็นประเทศราชให้กับฝรั่งเศสตามข้อเรียกร้อง รวมถึงการยอมให้ฝรั่งเศสยึดครองเมืองจันทรบูร จนกว่าสยามจะชดเชยค่าเสียหายจากสงครามนี้ได้ครบถ้วนซึ่งกินเวลานานนับสิบปี ทั้งนี้…เพื่อรักษาเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ของสยามเอาไว้นั่นเอง
ในแง่ของประวัติศาสตร์…นิยายเรื่องนี้ไม่ได้มีข้อมูลอะไรใหม่ในเชิงวิชาการที่น่าสนใจ นำมาใช้ในการอ้างอิงอะไรได้เลย ที่อ่านแล้วเห็นจะแปลกใหม่อยู่บ้าง น่าจะเป็นส่วนของการใช้ชีวิตของชาวตะวันตกในสยาม
ทำให้เราพอได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นมาบ้างว่าฝรั่งในยุคนั้นกินอยู่อย่างไรในบ้านเรา โดยมีโรงแรมโอเรียนเต็ลเป็นจุดศูนย์กลางที่โก้หรูที่สุดแล้วสำหรับชีวิตแบบชาวตะวันตก ทั้งงานเลี้ยงอาหารมื้อค่ำ จิบน้ำชา ดื่มสังสรรค์ยามเย็น แถมยังเป็นแหล่งข่าวชั้นเยี่ยมของเหล่าบรรดาฝรั่งที่อาศัยอยู่ในสยามอีกด้วย และในสายตาของคนฝรั่งเศสนั้น ไซ่ง่อนเป็นเมืองที่หรูหรา ทันสมัยกว่าบางกอกในยุคนั้น
‘หยดน้ำตาสยาม’ เป็นผลงานแปลของ ‘สุมาลี’ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เอโนเวล ในเครือ บริษัท นานมี บุ๊คส์ จำกัด พิมพ์ครั้งแรกในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2558 จะบอกว่าผลงานชิ้นนี้สนุก น่าติดตามก็คงไม่ใช่ จะบอกว่าน่าเบื่อก็ไม่เชิง แต่อ่านจนจบเพราะอยากรู้ว่า ‘แล้วชาวไทยจะได้รู้ว่า เหตุใดสยามจึงไม่ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส’ ตามที่ได้เขียนโปรยไว้บนปกหลังของหนังสือเล่มนี้
นึกว่าจะมีข้อมูลใหม่ว่าฝรั่งมังค่าที่ไหนมาช่วยเราไว้ อ่านจบแล้ว ขอยืนยัน…คำตอบเดิมที่รู้มาตั้งแต่ยังเด็ก
…………………………
โฆษณา