15 มี.ค. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

วิธีคำนวณภาษีเงินได้

ใกล้จะหมดเขตยื่นภาษีเงินได้ของปี 65 แล้ว ใครยังไม่ยื่นรีบยื่นซะนะครับ ใครที่ยังตามใบรายได้หรือใบทวิ 50 ไม่ครบ รีบตามนะครับ เดี๋ยวไม่ทัน
เชื่อว่าหลายคนก็จ่ายภาษีไม่ใช่น้อย กดโอนเงินไปก็น้ำตาไหลไป เสียดายเงินที่ต้องไหลไปอยู่ในกระเป๋านักการเมืองแทนที่จะได้ไปทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ เราเพื่อนกันครับ เฮ้ออออ
สำหรับใครที่จ่ายภาษีแล้วตกใจกับยอดที่ต้องจ่าย ไม่คิดมาก่อนว่าจะต้องจ่ายแพงขนาดนี้ อันนี้อาจจะมีปัญหาแล้ว ไม่ว่าจะด้วยความไม่เคยประเมินมาก่อนว่าจะต้องเสียภาษีเท่าไหร่ หรือคำนวณภาษีไม่เป็น ลองอ่านบทความนี้ดูครับ เราจะได้เตรียมเงินไว้แต่เนิ่นๆ ไม่ใช่มาหาเงินก้อนตอนมีนาคมเพื่อจ่ายภาษี
....................................................
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยมีวิธีคำนวณ 2 วิธี วิธีแรกคือแบบขั้นบันได ใช้บ่อยที่สุด วิธีที่สองคือแบบเหมา ไม่ค่อยได้ใช้หรอก แต่เดี๋ยวอธิบายคร่าวๆ ให้ฟังครับ กติกาคือคำนวณด้วยวิธีไหนแล้วเยอะกว่าก็ต้องจ่ายยอดนั้นครับ
วิธีแรก แบบขั้นบันได เริ่มจากคำนวณเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภท หักค่าใช้จ่าย หักลดหย่อนและบริจาค จะได้เป็นยอดเงินได้สุทธิ จากนั้นนำมาเข้าบันไดภาษี เดี๋ยวอธิบายตอนหลังอีกทีครับ
เงินได้บุคคลธรรมดาแบ่งเป็น 8 ประเภทหลักๆ อธิบายคร่าวๆ ดังนี้
40(1) เงินได้จากการจ้างงาน เช่น เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง โบนัส อื่นๆ ตามสัญญาจ้าง
40(2) เงินได้จากการรับจ้างทำงาน เช่น รับจ้างเขียนบทความ รับจ้างออกแบบ ค่านายหน้า ค่าคอมมิชชั่น ค่าเบี้ยประชุม ค่าเวร
40(3) เงินได้จากค่าลิขสิทธิ์
1
40(4) เงินได้จากการลงทุน ดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไร
40(5) เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน และจากการผิดสัญญาเช่น ไม่ว่าจะเป็น บ้าน คอนโด ที่ดิน ยานพาหนะ และอื่นๆ
40(6) เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ มี 6 วิชาชีพเท่านั้น คือ การประกอบโรคศิลปะ (แพทย์), กฎหมาย (ทนายความ), วิศวกร, สถาปนิก, บัญชี, ช่างประณีตศิลป์
40(7) เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาจัดหาสัมภาระเอง เช่น รับเหมาก่อสร้าง
40(8) เงินได้อื่นๆ เช่น ธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร อุตสาหกรรม ขนส่ง การขายอสังหาฯ ดารา ฯลฯ
เงินได้แต่ละประเภทจะมีวิธีการหักค่าใช้จ่ายที่ไม่เหมือนกัน อันนี้ขอไม่เขียนถึงในบทความนี้เพราะค่อนข้างละเอียดมาก ถ้าสงสัยอ่านเองแล้วไม่เข้าใจ ทักมาถามได้ครับ
ส่วนค่าลดหย่อน หลักๆ แล้วก็จะมีเรื่องของลดหย่อนพ่อแม่-ลูก-ผู้พิการในความดูแล การลงทุนเพื่อการเกษียณ ประกันชีวิต-สุขภาพ ดอกเบี้ยบ้าน และนโยบายลดหย่อนภาษีรายปีของทางภาครัฐ และเงินบริจาค
หักทุกอย่างแล้วจะได้เป็นเงินได้สุทธิ แล้วเรามาเข้าบันไดภาษีกัน
0 – 150,000 บาท ยกเว้นภาษี
150,001 – 300,000 บาท อัตราภาษี 5%
300,001 – 500,000 บาท อัตราภาษี 10%
500,001 – 750,000 บาท อัตราภาษี 15%
750,001 – 1,000,000 บาท อัตราภาษี 20%
1,000,001 – 2,000,000 บาท อัตราภาษี 25%
2,000,001 – 5,000,000 บาท อัตราภาษี 30%
5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%
ตัวอย่างการคำนวณ เช่น มีรายได้สุทธิ 1,200,000 บาท
เงิน 150,000 บาทแรก ไม่ต้องเสียภาษี
เงิน 150,001 – 300,000 บาท เงินส่วนนี้ 150,000 บาท เสียภาษี 5% คิดเป็น 7,500 บาท
เงิน 300,001 – 500,000 บาท เงินส่วนนี้ 200,000 บาท เสียภาษี 10% คิดเป็น 20,000 บาท
เงิน 500,001 – 750,000 บาท เงินส่วนนี้ 250,000 บาท เสียภาษี 15% คิดเป็น 37,500 บาท
เงิน 750,001 – 1,000,000 บาท เงินส่วนนี้ 250,000 บาท เสียภาษี 20% คิดเป็น 50,000 บาท
เงิน 1,000,001 – 1,200,000 บาท เงินส่วนนี้ 200,000 บาท เสียภาษี 25% คิดเป็น 50,000 บาท
รวมภาษีที่ต้องเสียทั้งหมด = 7,500 + 20,000 + 37,500 + 50,000 + 50,000 = 165,000 บาท นั่นเอง
ส่วนการคำนวณภาษีวิธีที่สอง ใช้เมื่อรายได้อื่นนอกจาก 40(1) เกิน 1,000,000 บาทขึ้นไป เอารายได้พวกนั้นมารวมกันแล้วคูณด้วย 0.5% เช่น ถ้าเคสเดียวกันข้างบนนี้เป็นรายได้จากธุรกิจ ค่าเช่า และค่ารับเหมา โดยไม่มีเงินเดือนอยู่ในนั้นเลย เราจะคำนวณภาษีได้เป็น 1,200,000 x 0.5% = 6,000 บาท ซึ่งน้อยกว่าวิธีแรกที่ได้ตั้ง 165,000 บาท
เพราะฉะนั้นเคสนี้จะต้องเสียภาษีตามการคำนวณแบบขั้นบันไดครับ
....................................................
ภาษีเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดเยอะมาก มีข้อจำกัด ข้อยกเว้นเยอะมาก คงไม่สามารถเอามาอธิบายได้หมด แต่ไอเดียคร่าวๆ ก็ประมาณนี้ล่ะครับ
ใครมีข้อสงสัย สนใจปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณภาษี การคำนวณรายได้ การหักค่าใช้จ่าย การลดหย่อนภาษี หรือสงสัยด้านอื่นๆ เกี่ยวกับภาษี สามารถทักเข้ามาพูดคุยส่วนตัวกันได้ครับ ยินดีตอบทุกคำถามครับ
ขอให้มีสุขภาพการเงินที่ดีครับ.
--------------------------------------------------------------
บริการฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
• วางพื้นฐานความรู้ทางการเงิน
• แนะนำการเงินส่วนบุคคล
• ที่ปรึกษาการลงทุน
• ตัวแทนประกันชีวิต-สุขภาพ-โรคร้ายแรง
• วางแผนภาษี และวางแผนเกษียณ
"สุขภาพการเงินที่ดี นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี"
นพ.ศุภณัฐ โสภณอุดมสิน
- AFPT™ (Associate Financial Planner Thailand)
- IP (Investment Planner)
- ใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน เลขที่ 119333
- ใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิต เลขที่ 6401051989
Facebook : การเงินย่อยง่ายกับหมอใช้
Blockdit : การเงินย่อยง่ายกับหมอใช้
#การเงินย่อยง่ายกับหมอใช้ #drchaifinance #วางแผนการเงิน #ที่ปรึกษาการลงทุน #ประกันชีวิต #ประกันสุขภาพ #ประกันโรคร้าย
โฆษณา