10 มี.ค. 2023 เวลา 17:04 • ท่องเที่ยว

ประเพณีสงกรานต์มอญสังขละบุรี ความงดงามจากแรงศรัทธา

ท่ามกลางประเพณีสงกรานต์ที่นับวันมักจะถูกลดทอนความหมายและความสำคัญลงไป จนบางครั้งกลายเป็นเพียงเทศกาลแห่งความสนุกสนานรื่นเริง แต่ที่บ้านวังกะ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ชาวมอญ ณ ที่แห่งนี้ ยังคงดำรงรักษาประเพณีสงกรานต์ไว้ ตามแบบบรรพบุรุษ ซึ่งยังคงให้ความสำคัญกับประเพณีนี้ มากกว่าแค่จะเป็นเทศกาลแห่งการเล่นน้ำ
สงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ มีความเป็นมาช้านานก่อนที่พระพุทธศาสนาจะถือกำเนิดขึ้น แม้แต่ชาวมอญก็ยังรับประเพณีสงกรานต์มา พร้อมกับต่อมาที่นับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ยังคงไว้ซึ่งประเพณีดั้งเดิม ดังนั้นประเพณีของชาวมอญจะควบคู่กับพระพุทธศาสนาเสมอ ตั้งแต่ที่มอญยังมีอาณาจักรเป็นของตน
ชาวมอญเข้าวัดทำบุญกันช่วงสงกรานต์
ด้วยความที่ชาวมอญมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก งานประเพณีสงกรานต์จึงเกี่ยวข้องกับชุมชนและวัดวังก์วิเวการาม โดยงานสงกรานต์มอญสังขละบุรีนี้ จะมีตั้งแต่วันที่13 เมษายน จนจบสงกรานต์ 18 เมษายน (ถ้าปีไหนนางสงกรานต์ลงวันที่13 สงกรานต์จะเริ่ม12-17เมษายน) โดยในแต่ละวันก็จะชื่อเรียกและกิจกรรมที่ต่างกันไป
โดยวันแรกคือวันที่13 เมษายน เรียกกันว่าวันเติงมะเงย(ဒုၚ်မ္ၚဵု)หรือวันสวดพระพุทธมนต์รับนางสงกรานต์ โดยที่ชาวบ้านจะทำหม้อมงคลรับนางสงกรานต์หรือที่เรียกภาษามอญว่า(နုၚ်မ္ၚဵုသၟိၚ်သင်္ကြာန်) ซึ่งจะนำหม้อดินเผาหรือแจกันใส่น้ำและใบไม้มงคลต่างๆ เช่น ใบหว้า ใบมะพร้าว ตุงกระดาษ ธงประดับประดาต่างๆ เทียน ด้าย ไม้ขีดไฟ เพื่อนำขึ้นวัดในตอนค่ำและให้พระสงฆ์จะสวดพระพุทธมนต์
หม้อมงคล
เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เสร็จแล้วจะนำหม้อมงคลมาตั้งไว้หน้าบ้าน และลูกหลานจะไปกราบไหว้ขอขมาญาติผู้ใหญ่ของตนด้วยเพื่อเป็นการรับปีใหม่
วันที่สองของงานคือวันที่14เมษายน เรียกว่าวันสงกรานต์ลง(တ္ၚဲအတးစှ်ေ) เมื่อถึงเวลานางสงกรานต์ลงทางวัดจะตีระฆังให้สัญญาณ ชาวบ้านก็จะเทน้ำในหม้อมงคลเปรียบเสมือนการล้างเท้าให้นางสงกรานต์ และตั้งไว้ที่หน้าบ้านจนกว่านางสงกรานต์จะขึ้น โดยจะจุดเทียนทุกเช้ามืดและหัวค่ำ
วันที่15 คือวันคาบปี(တ္ၚဲကြာပ်သၞာံ) และวันที่16 คือวันสงกรานต์ขึ้น(တ္ၚဲအတးတန်)
ในวันที่14-16 เมษายน จะเป็นวันที่ผู้เฒ่าผู้แก่จะไปถืออุโบสถศีลที่วัด3วัน3คืนเพื่อทำจิตใจให้บริสุทธิ์รับปีใหม่ ในระหว่างนี้ลูกหลานจะส่งข้าวให้กับผู้ถือศีลตลอด3วัน โดยในช่วงเช้าเวลาประมาณตี5ถึง6โมง ลูกหลานจะส่งข้าวแช่แบบชาวมอญให้กับผู้ถือศีลรับประทาน พร้อมทั้งขนมนมเนย กาแฟ โอวัลติน
ลูกหลานส่งข้าวแช่ให้คนถือศีลในช่วงเช้า
โดยข้าวแช่ของที่นี่จะมีเครื่องเคียงเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ กุ้งแห้งหรือปลาแห้งผัดกับมะม่วง หรือจะใช้เป็นถั่วเหลืองผัดกับมะม่วงก็ได้ โดยนำกุ้งแห้งแช่น้ำให้พอง โขลกให้ละเอียด หั่นหอมแดง ขูดมะม่วงเป็นเส้น ตั้งกระทะใส่น้ำมันและขมิ้นผง ผัดหอมให้สุกใสแล้วใส่กุ้งแห้ง ผัดจนกุ้งเปลี่ยนสีก็ใส่มะม่วง แล้วปรุงรส จะกินคู่กับพริกแห้งคั่วด้วยก็ได้
ข้าวต้มชาวมอญ (นิยมข้าวต้มมากกว่าข้างแช่)
เสร็จจากส่งข้าวแช่ ชาวมอญจะใส่บาตร คนที่นี่เคร่งศาสนามาก ดังนั้นจึงใส่บาตรทุกวันอยู่แล้ว โดยชาวบ้านในพื้นที่จะนิยมใส่บาตรแค่ข้าวสวยเท่านั้น ส่วนอาหารจะมีชาวบ้านจัดเวรกันส่งวันละ1คุ้มผัดเปลี่ยนกันไปทุกวัน เมื่อพระสงฆ์เดินมาถึง ชาวบ้านจะกราบลงไปกับพื้นก่อนแล้วถึงจะใส่บาตร
ชาวบ้านกราบพระสงฆ์ก่อนจะใส่บาตร
เสร็จจากใส่บาตร ลูกหลานจะไปเตรียมสำรับอาหารสำรับใหญ่ ส่งให้ผู้ถือศีลในตอนเพล โดยจะเป็นสำรับคาวหวานเต็มรูปแบบ และผู้ไปส่งข้าวจะแต่งตัวสวยงามกันเต็มอัตรา ทั้งเครื่องประดับทองหยอง
ลูกหลานส่งข้าวให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ถือศีล
ในเวลาเย็นของทุกวันขณะที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายถือศีล ลูกหลานจะขนน้ำมาอาบให้คนถือศีลบนวัด และนำน้ำปานะมาให้ โดยพาผู้ถือศีลลงจากศาลามาอาบที่ลาน และเดินไปส่งที่ศาลา โดยก่อนขึ้นศาลาจะล้างเท้าให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ถือศีล
ลูกหลานขนน้ำมาอาบให้ผู้ถือศีลบนวัดในเวลาเย็น
ล้างเท้าให้ผู้ถือศีล
ในวันที่ห้าของงานคือวันที่17เมษายน คือวันสรงน้ำพระ ในช่วงเช้าผู้เฒ่าผู้แก่ที่ถือศีลจะออกจากอุโบสถศีลแล้วกลับบ้าน ในช่วงบ่ายตั้งแต่ประมาณบ่าย2 ชาวบ้านจะเริ่มทยอยมาที่ลานเจดีย์พุทธคยาพร้อมกับขันน้ำที่ลอยดอกไม้น้ำอบน้ำร่ำเนืองแน่นไปทั่วลานเพื่อสรงน้ำพระ โดยที่นี่จะสรงน้ำผ่านรางกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งชาวบ้านกับผู้ถือศีลร่วมกันทำขึ้น ซึ่งจะกั้นส่วนระหว่างชาวบ้านกับพระสงฆ์ โดยที่จะสรงน้ำพระพุทธรูปเป็นอันดับแรก ต่อด้วยรูปเหมือนหลวงพ่ออุตตมะ
เสร็จแล้วเหล่าผู้ชายจะนอนราบกับพื้นเรียงรายตั้งแต่บันไดเจดีย์จนถึงที่ที่พระสงฆ์จะสรงน้ำ เพื่อให้พระสงฆ์เหยียบเดินไป ด้วยความศรัทธาอย่างสูงสุด เมื่อสรงน้ำพระเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะนำน้ำที่เหลือสาดขึ้นฟ้ากันอย่างสนุกสนาน
สรงน้ำพระ
ชาวบ้านผู้ชายนอนเรียงให้พระสงฆ์เดินเหยียบ
เมื่อสรงน้ำพระเสร็จ ชาวบ้านจะไปรดน้ำกู่กระดูกบรรพบุรุษที่ป่าช้าหลังเจดีย์พุทธคยา และมาก่อเจดีย์ทราย จุดเทียน ปักตุงกระดาษ รวมทั้งการนำไม้มาค้ำต้นโพธิ์ โดยที่เจดีย์ทรายที่นี่จะแตกต่างจากที่อื่นๆ คือเป็นเจดีองค์ใหญ่องค์เดียวต่อขึ้นไปเป็นชั้นๆ
เจดีย์ทราย
วันที่หกของงานหรือวันสุดท้าย วันที่18เมษายน คือ วันกรวดน้ำ จะมีขบวนแห่ผ้าป่าสงกรานต์จากหมู่บ้านขึ้นวัด และมีการแห่ฉัตรเจดีย์ทราย ขึ้นฉัตรเจดีย์ทราย ถวายผ้าป่า ถวายภัตตาหารพระภิกษุ และกรวดน้ำ เป็นอันจบพิธีสงกรานต์ของชาวมอญสังขละบุรี ที่เปี่ยมไปด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ขบวนแห่ผ้าป่าสงกรานต์
ขบวนแห่ฉัตรเจดีย์ทราย
ชาวบ้านร่ายรำกันอย่างสนุกสนาน
ชาวบ้านร่วมงานบุญวันกรวดน้ำ
ขอขอบคุณภาพ : Route81Film , อ้วนพาไป , ตามตำนาน , I ASEAN , สุขนคร , ASEAN connect
โฆษณา