11 มี.ค. 2023 เวลา 03:22 • สุขภาพ

ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า

🔸 หลายปีที่ผ่านมานี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาของฝุ่น PM2.5 ซึ่งเราต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่ามลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและปอด แต่การศึกษาล่าสุดพบว่าผู้คนที่ได้รับมลพิษทางอากาศจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะทางสมอง เช่น อัลไซเมอร์ การตัดสินใจแย่ลงและภาวะซึมเศร้า
🔸 นายแพทย์ออสติน เพิร์ลมัตเตอร์ (Austin Perlmutter) ชาวอเมริกัน ได้กล่าวถึงผลการศึกษาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมานี้ ที่ศึกษากับผู้สูงวัยชาวอเมริกันเกือบ 9 ล้านคน ลงทะเบียนใน Medicare และไม่ได้กำลังเป็นโรคซึมเศร้า เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษทางอากาศและความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้า โดยศึกษากับผลกระทบของมลพิษทางอากาศ 3 ชนิด ได้แก่ PM2.5 ไนโตรเจนไดออกไซด์ และโอโซน จากนั้นเฝ้าดูว่าบุคคลที่ได้รับมลพิษได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่
🔸 ผลการศึกษาพบว่า มลพิษทางอากาศทั้งสามรูปแบบมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะซึมเศร้าในกลุ่มตัวอย่าง โดยการได้รับกาศโอโซนมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าในวัยชรามากที่สุด
🔸 แต่นักวิทยาศาสตร์เองยังไม่แน่ใจร้อยเปอร์เซ็นถึงกลไกทางชีววิทยาที่เชื่อมโยงระหว่างภาวะซึมเศร้าและมลพิษทางอากาศ แต่เชื่อว่าการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบในสมองจากมลพิษทางอากาศคือปัจจัยสำคัญของการเกิดภาวะซึมเศร้า เนื่องจากผลการศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2016 ที่ทำการศึกษากับสมองเสียชีวิตนั้นพบว่าสมองที่สัมผัสกับมลพิษทางอากาศจะมีระดับของสารเคมีที่บ่งชี้การอักเสบที่สูงขึ้นในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ และอาการซึมเศร้า
นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ภาครัฐทุกประเทศควรให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
โฆษณา