11 มี.ค. 2023 เวลา 05:55 • ท่องเที่ยว

มัสยิด ซิดี ซาอิด อัญมณีเม็ดงามแห่งคุชราต

27 ม.ค. 2566 เรารับอรุณยามเช้าที่ มัสยิดซิดี ซาอิด (Sidi Saeed / Sidi Saiyyed Mosque) เพื่อชม Sidi Saeed ni Jali แผงชาลี หรือ แผงบัง ตาฉลุลายของซิดี ซาอิด ที่งามวิจิตรดุจอัญมณีเม็ดงาม มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก มัสยิดอยู่ในย่านเมืองเก่าแอมห์ดาบัด/อาห์เมดาบัด (Ahmedabad)
มัสยิดนี้สร้างในปี ค.ศ. 1572 - 1573 (พ.ศ. 2115 – 2116 ตรงกับสมัยพระมหาธรรมราชา อยุธยาอยู่ใต้ปกครองของกรุงหงสาวดี) ในยุคของสุลต่านมูซัฟฟาร์ ชาห์ที่ 3 ซึ่งเป็นสุลต่านองค์สุดท้ายแห่งคุชราต ก่อนจะพ่ายแพ้แก่จักรพรรดิอักเบอร์ และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโมกุล/มุฆัล
ซิดี ซาอิดผู้รังสรรค์มัสยิดแห่งนี้เดิมเป็นทาสชาวอะบิสซีเนียจากเอธิโอเปีย ของแม่ทัพเติร์กจากเยเมนที่เดินทางมายังคุชราต ต่อมาได้ทำงานรับใช้สุลต่านมาห์มูด III เมื่อสุลต่านเสียชีวิต ย้ายไปรับใช้นายพลแห่งอะบิสซีเนีย ซิดี ซาอิดน่าจะเป็นคนเก่ง มีความสามารถโดดเด่น จึงพลิกผันชีวิต ก้าวขึ้นเป็นชั้นขุนนาง เป็นคนช่วยเหลือผู้ยากไร้ เมื่อปลดประจำการ ได้รับการอวยยศ ที่ดินและทาสอีกนับร้อยคนจากนายพลอะบิสซีเนียตามระบบศักดินาของอินเดียสมัยนั้น
ข้อมูลระบุว่า ซิดี ซาอิดเป็นคนฮับชิ (Habshi) หมายถึงกลุ่มคนในอินเดียและปากีสถานที่มีพื้นเพหรือบรรพบุรุษมาจากอัฟริกาตะวันออกเฉียงใต้และเอธิโอเปีย ซึ่งย้ายถิ่นมาแถบนี้เพราะมีอาชีพพ่อค้า ลูกเรือ ทหารรับจ้าง หรือคนรับใช้ บ้างเป็นสินค้าในขบวนการค้าทาสของพ่อค้าอาหรับ บ้างเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ซิดี
เดิมที่นี่เป็นมัสยิดขนาดเล็กสร้างด้วยอิฐ ซิดี ซาอิดสร้างมัสยิดหลังใหม่ขึ้นในจุดเดิมและใช้งานเรื่อยมาแม้อำนาจการปกครองคุชราตจะเปลี่ยนไปก็ตาม ซิดีเสียชีวิตหลังจากสร้างมัสยิดแห่งนี้เสร็จเพียง 3 ปี แต่ผลงานชิ้นนี้ยังคงยืนยง และน่าจะเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคุชราต เมื่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโสะ อาเบะ มาเยือนอินเดียในเดือนกันยายน 2560 นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีได้นำอาคันตุกะมาเยือนมัสยิดแห่งนี้ด้วย
มัสยิดตั้งบนเนื้อที่ขนาดเล็ก สร้างด้วยหินทราย เป็นสถาปัตยกรรมผสมแบบอินเดียและอิสลามที่เรียกว่า อินโด-อิสลามิก หรือ อินโด-ซาราเซนิก เมื่อเดินผ่านประตูรั้วเหล็ก ด้านซ้ายเป็นบ่อชำระร่างกายกลางแจ้งก่อนการร่วมพิธีสวดมนต์
ทางเข้าด้านหน้า 5 ช่องทางเป็นซุ้มโค้งสูง มีหอแปดเหลี่ยมสูงเท่าอาคารขนาบสองข้าง คุณฟารุกไกด์ของเราเล่าว่า ปกติมัสยิดมักมีหออะษาน(หออะซาน/หอขาน)สูงๆเป็นองค์ประกอบโครงสร้างทางสถาปัตย์ฯ แต่ในแอมห์ดาบัด หออะษานไม่สูงเพราะส่วนบนหักพังจากเหตุแผ่นดินไหว การสร้างมัสยิดยุคต่อมาจึงไม่นิยมสร้างหออะษานสูงๆกัน เราลืมถามว่า มัสยิดนี้สร้างก่อนหรือหลังแผ่นดินไหว แต่ในยุคที่เทคโนโลยีการก่อสร้างทันสมัยขึ้น การสร้างหอสูงคงไม่เป็นปัญหากระมัง
เสาแปดเหลี่ยมด้านหน้า เสาอาคารด้านในและผนังหินทรายของมัสยิดสลักลายประดับน้อยมาก แต่ส่วนที่แกะสลักก็คมชัด ปราณีต พื้นที่ระหว่างเสาในอาคารเป็นโถงโล่ง หรือ ไอวาน (I-wan) ด้านบนโถงเป็นโดมทรงแบน โถงหลักอยู่ช่วงกลาง ผนังด้านหลังแนวเดียวกับโถงหลักเป็นมิหรอบหลักและมินบาร์หรือธรรมาสน์อยู่ด้านข้าง
จากลานด้านหน้า มองเข้าไปในอาคาร เห็นช่องหน้าต่างที่เป็นซุ้มโค้งตรงผนังด้านหลังและด้านข้างฉลุลายวิจิตรตระการตา อันเป็นที่มาของชื่อ Sidi Saeed ni Jali หรือแผงบังตาฉลุลายของซิดี ซาอิด ซุ้มหน้าต่างด้านหลังมี 5 ช่องอยู่ในตำแหน่งตรงกับซุ้มทางเข้าด้านหน้า
แผงบังตาสองช่องริมด้านหลังและด้านข้างอาคารฉลุลายเรขาคณิตประกอบเป็นรูปทรงต่างๆในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสเรียงซ้อนเป็นระเบียบ การฉลุลายหน้า ต่างหรือแผงบังตาลักษณะนี้คงเป็นรูปแบบที่นิยมกัน เพราะจามีมัสยิดที่อุทยานโบราณคดีจัมปาเนร์ - ปาวาครห์ ก็ตกแต่งด้วยแผงบังตาฉลุลายเรขาคณิตในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันเช่นเดียวกัน แต่ความละเอียดน้อยกว่า
ส่วนช่องหน้าต่างอีกสองช่องฉลุลายต้นปาล์มและต้นไม้ (Gum tree?) กระหวัดกิ่งเลื้อยไปมา แผ่ก้านใบงดงามเต็มพื้นที่ สองช่องลายไม่เหมือนกัน แผงบังตาทำจากหินสี่เหลี่ยมขนาด 1’ x 2’ สลักลายแล้วนำมาประกอบกันจนเต็มซุ้มหน้าต่าง แต่ลวดลายลื่นไหลต่อเนื่อง จนตอนแรกเข้าใจผิดว่าสลักจากหินแผ่นใหญ่แผ่นเดียว หากเดินอ้อมไปด้านหลังมัสยิด จะเห็นชัดเจนว่าเป็นหินสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางต่อๆกัน
แผงบังตานี้งามสะดุดตามากถึงขั้น เมื่อปี ค.ศ.1880 (พ.ศ. 2423 ตรงกับสมัย ร. 5) มีการทาบลายลงบนกระดาษ เพื่อนำไปเป็นแบบแกะสลักไม้ให้แก่พิพิธภัณฑ์ในลอนดอน และนิวยอร์ก
แต่ซุ้มหน้าต่างช่องกลางกลับเป็นเพียงแผ่นหินเรียบปิดไว้ ข้อมูลหลายแห่งสันนิษฐานว่า อาจจะทำไม่เสร็จและสุลต่านผู้อุปถัมภ์สิ้นบุญไปก่อน แต่เรากลับนึกถึงกระเบื้องวาดลายเพี้ยนนิ้ดเดียวแผ่นหนึ่งที่ประดับซุ้มทางเข้ามัสยิดอิหม่ามที่จัตุรัส Naqsh - e Jahan เมืองอิสฟาฮาน ในอิหร่านซึ่งเจ้าหน้าที่อธิบายว่า เป็นความบกพร่องที่ศิลปินต้องการแสดงถึงความถ่อมตนในความไม่สมบูรณ์แบบเมื่ออยู่ต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้า
ความปราณีต อ่อนช้อยของซุ้มหน้าต่างฉลุลายนี้โดดเด่นและงดงาม จนเรียกขานว่า Tree of Life of Ahmedabad และเป็นสัญลักษณ์แบบไม่เป็นทางการของเมืองแอมห์ดาบัด ทั้งยังเป็นต้นแบบตราสัญลักษณ์ของ Indian Institute of Management Ahmedabad ในศาสนาคริสต์และอิสลามมีคติความเชื่อเรื่อง Tree of Life ที่น่าสนใจ หาอ่านเพิ่มเติมได้ในเน็ต
มัสยิดนี้ใช้งานเรื่อยมานับจากสมัยรัฐสุลต่านแห่งคุชราตจนถึงสมัยที่อยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์โมกุล จนกระทั่งปี ค.ศ. 1758 (พ.ศ. 2301 ตรงกับสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของอยุธยา) จักรวรรดิมราฐา / มาราธา (นับถือฮินดู) มีชัยเหนือจักรวรรดิโมกุล ราชวงศ์บาโรดา แก๊กหวาด หนึ่งในสมาพันธรัฐของจักรวรรดิมาราธาเข้าปกครองคุชราต มัสยิดนี้จึงยุติการใช้งาน ถูกปล่อยทิ้งร้าง และทรุดโทรมลง
หลังจักรวรรดิมาราธาพ่ายแพ้อังกฤษในสงครามแองโกล - มาราธาครั้งที่ 3 ในปี ค.ศ. 1818 (พ.ศ. 2361 ตรงกับสมัย ร. 2) อังกฤษผนวกคุชราตไว้ในการปกครองของตน เจ้าอาณานิคมเปลี่ยนสภาพการใช้งานมัสยิดเป็นสำนักงาน ติดตั้งประตู หน้าต่าง ดัดแปลงมิหรอบเป็นที่วางแท่นพิมพ์และทาผนังเป็นสีขาว
หลังจาก ลอร์ด เคอร์ซอน อุปราชแห่งอินเดีย (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1899 - 1905 หรือ พ.ศ. 2442 - 2448 ตรงกับสมัย ร. 5) มาเยือนแอมห์ดาบัด ได้ออกคำสั่งให้ย้ายที่ทำการออกจากอาคารนี้ เพราะเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์โบราณสถาน
เราออกจากมัสยิด เดินอ้อมไปด้านหลังเพื่อถ่ายรูปแผงชาลี จากด้านนอกจะเห็นชัดกว่าว่าแผงฉลุลายประกอบด้วยหินสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลายๆชิ้นไม่ใช่หินเพียงแผ่นเดียว ริมรั้วด้านหลังและด้านข้างมัสยิดเป็นที่นอนของคนไร้บ้าน บ้างยังนอนขดตัวคลุมโปง บ้างม้วนสมบัติที่มีเป็นห่อวางไว้บนฟุตบาท บางคนเหมือนจะเลี้ยงไก่ไว้ 2-3 ตัว <<ชีวิตนี้ช่างน้อยนัก>> และยากลำบากนัก
ฝั่งตรงข้ามมัสยิดมีโรงแรมออกแนวบูติกย้อนยุค ดัดแปลงมาจากคฤหาสน์พ่อค้าในสมัยก่อน โรงแรมชื่อ The House of MG ดูราคาจากเว็บต่างๆ สนน ราคาจับต้องได้ เว็บบางแห่งเสนอราคาที่ดีกว่าด้วย หวังว่าจะมีโอกาสกลับไปเยือนแอมห์ดาบัดอีก คงได้ใช้บริการที่นี่แน่นอนเพราะอยู่ใกล้ย่านเมืองเก่าด้วย
เครดิตภาพ: ดร.สายฤดี พี่สาทิศ พี่ประไพศรี พี่กุลวรรณ หมอจูดี้ จิ๋ม-กนิษฐา คุณดนัย คุณวินัย
โฆษณา