14 มี.ค. 2023 เวลา 04:05 • บันเทิง

ผีบ้าตาวอด ตอนที่ 2 บูชายัญ

ในตำนานและเรื่องเล่าพื้นบ้านมักจะแฝงไว้ด้วยภูมิปัญญา ความเชื่อ ทัศนะคติ และเหตุการณ์ในอดีดที่คนสมัยก่อนเล่าสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น การเดินทางของเรื่องเล่าที่ผ่านช่วงเวลา ชุมชน และผู้ถ่ายทอดแต่ละคนทำให้เรื่องเล่ามีความเปลี่ยนแปรงไปบ้าง จึงเป็นเรื่องของผู้ฟังที่จะสกัดเอาประเด็นสำคัญไปพินิจพิจารณาเอาตามแต่จริตของผู้ฟังแต่ละคน
ผีบ้าตาวอด หรือผีต๋าวอด เป็นผีตามความเชื่อในวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวล้านนา บ้างก็ว่าผีบ้าตาวอดนี้เป็นพวกอมนุษย์บ้าง ครึ่งคนครึ่งผีบ้าง เป็นพวกยักษ์บ้าง โดยลักษณะเด่นของผีชนิดนี้คือพวกมันจะมีตาวอดหรือตาที่เหมือนกับคนตาบอด พวกมันก็มองเห็นได้ดีและสามารถปรากฏตัวในเวลากลางวันได้อีกด้วย
บางเรื่องเล่าก็บอกว่าผีบ้าตาวอดคือมนุษย์ที่มีวิชาอาคม บ้างก็ว่าเป็นพวกโจรลักพาตัวเด็ก เพื่อไม่ให้ใครจำได้ก็เลยหาอะไรมาทาหน้าให้ดำ หรือหาอะไรมาคลุมหน้าไว้ ทำให้ผู้พบเจอมองเห็นใบหน้าและดวงตาไม่ชัดจนเล่าลือกันไปว่าเป็นผีไม่มีตาบ้าง ผีตาบอดไปบ้าง
ไม่ว่าผีบ้าตาวอดจะเป็นมนุษย์หรือไม่ก็ตาม ในทุกเรื่องเล่าก็กล่าวตรงกันว่าพวกมันชอบลักพาตัวเด็กๆ มันจับเด็กใส่กระสอบแล้วเอาไปฆ่าเพื่อเป็นเครื่องเซ่นสังเวยต่อสิ่งที่มันเคารพนับถือ บ้างก็ว่ามันเอาไปเซ่นสังเวยขุมเงินขุมคำ(บ่อเงินบ่อทอง) บ้างก็ว่าเอาไปเซ่นสังเวยยักษ์ บ้างก็ว่าเอาไปประกอบพิธีกรรมทางไสศาสตร์ สรุปได้ว่าผีบ้าตาวอดมันจะจับเด็กไปทำการบูชายัญนั่นเอง
การบูชายัญมีมาตั้งแต่ยุคโบราณ นักโบราณคดีพบหลักฐานการบูชายัญมนุษย์ในหลายแหล่งอารยธรรมโบราณของโลก สำหรับการบูชายัญเด็กนั้นเชื่อว่าจะทำเฉพาะตอนเกิดเหตุการณ์วิกฤติของบ้านเมืองเท่านั้น เรื่องราวการบูชายัญมนุษย์ในอุษาคเนย์นั้นมักพบอยู่แค่ในตำนานหรือเรื่องเล่าเท่านั้น ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมารองรับในเรื่องนี้มากนัก
ลิงคบรรพต หรือภูเก้า
ในพงศาวดารราชวงศ์สุยของจีนพูดถึงการบูชายัญมนุษย์ที่ภูเขาหลิงเจียโปโพ ในอณาจักรเจนละช่วงก่อน ค.ศ. 589 ซึ่งนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นบริเวณโบราณสถานปราสาทวัดภู ใน สปปลาว
หากเรามองว่าวัฒนธรรมของอินเดียและจีนตอนใต้เคยมีอิทธิพลกับคนในอุษาคเนย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อาจเชื่อได้ว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับการบูชายัญมนุษย์ของทั้งสองอารยธรรมอาจเคยเผยแพร่มายังผู้คนในอุษาคเนย์ผ่านเส้นทางการค้าที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณ
ปราสาทวัดพู
ทางตอนใต้ของจีบริเวณมณฑลยูนนานนักโบราณคดีขุดพบสำริดที่ด้านบนประดับด้วยปฏิมากรรมลอยตัวบอกเล่าเรื่องราวพิธีบูชายัญมนุษย์ โดยจับมนุษย์มันไว้กับเสาหิน มีผู้ทำพิธีเป็นผู้หญิง และในบริเวณลานกลางบ้านมีเสาที่มีงูพันอยู่ด้วย สำริดที่ขุดเจอนี้นักโบราณคดีเชื่อว่าสร้างขึ้นสมัยอณาจักร Dian นักวิชาการเชื่อว่าวัฒนธรรม Dainมีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมวัฒนธรรมซาหวิ่นในเวียดนามและอาจเผยแพร่มาถึงดินแดนประเทศไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องผีฟ้า การขอฝน และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน
สำริดในวัฒนธรรม Dian
สำริดในวัฒนธรรม Dian
สำริดในวัฒนธรรม Dian
ส่วนในอินเดียนั้นการบูชายัญมนุษย์เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนสมัยพระเวท เคยเชื่อกันว่าในรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียพ่อจะทำการตัดศีรษะลูกชายคนโตของตัวเองมาบูชายัญก่อนจะถึงฤดูเพาะปลูก เรื่องนี้คล้ายกับตำนานกำเนินพระพิฆเนศที่ถูกพระศิวะตัดศีรษะ นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าเจ้าแม่กาลี และพระพิฆเนศเคยเป็นเทพของชาวพื้นเมืองมาก่อน แล้วถูกผนวกเข้าเป็นเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในภายหลังโดยเจ้าแม่กาลีถือเป็นปางหนึ่งของพระนางปารวตี ส่วนการบูชายัญมนุษย์นั้นเชื่อว่าเริ่มสูญหายไปหลังสมัยพระเวท
เจ้าแม่กาลี
เทศกาลGajan หรือ เทศกาลศิวราตรีเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองใหญ่ของผู้คนแถบรัฐเบงกอล กินระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เทศกาลนี้เป็นเฉลิมฉลองให้กับพิธีแต่งงานของพระศิวะกับพระนางปารวตี อีกทั้งชาวนายังใช้โอกาสนี้ขอขมากรรมที่ได้ล่วงเกินต่อผืนแผ่นดินและธรรมชาติจากการเพาะปลูกในฤดูกาลที่ผ่านมา และขอความอุดมสมบูรณ์ให้กับพืชผลที่กำลังจะทำการเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่
เทศกาลศิวราตรี
ชาวนาเชื่อว่าผืนแผ่นดินที่ทำเกษตรกรรมนั้นคือแม่ กิจกรรมทางการเกษตรจะทำให้ผืนดินเจ็บปวด ในเทศกาลGajan มีการทรมารตนเองเพื่อละลึกถึงความเจ็บปวดของแผ่นดิน และชำละล้างบาปที่ได้ทำลงไป ใกล้กับหมู่บ้าน Kurmun ในเขต Bardhaman ผู้คนจะถือกะโหลกมนุษย์ออกมาร่วมในขบวนแห่ด้วย ซึ่งบางกระแสก็ว่าเทศกาลนี้มีความเชื่อมโยงกับการบูยัญลูกชายคนแรกของชาวนาในอดีด
เทศกาลศิวราตรี
แผ่นดินอินเดียเมื่อครั้งพุทธกาลการบูชายัญที่ถือว่าได้บุญมากมี 4 อย่างคือบูชาด้วยม้า โค ช้างและมนุษย์(มนุษย์ที่ไม่ได้อยู่ในวรรณะพรามหณ์และวรรณะกษัตริย์) ครั้งหนึ่งพุทธองค์เสด็จไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อขาณุมัต แคว้นมคธ ขณะนั้นกูฏทันตพราหมณ์กำลังเตรียมการจัดทำพิธีบูชายัญแต่เนื่องด้วยไม่ทราบว่าจะทำพิธีนี้อย่างไร กูฏทันตพราหมณ์จึงเข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าให้ทรงอธิบายถึงความสมบูรณ์แห่งยัญพิธี
พุทธองค์ทรงตรัสตอบด้วยการเล่าเรื่องพิธีบูชามหายัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช ซึ่งทรงปราบโจรผู้ร้ายด้วยวิธีการ 3 อย่างคือแจกจ่ายพันธุ์พืชและอาหารแก่เกษตรกรผู้ขยันในการทำเกษตร ให้ทุนแก่ราษฎรผู้ขยันในการค้าขาย ให้รางวัลด้วยอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการผู้ขยันทำงานในหน้าที่ จากนั้นพระองค์ทรงเผยแพร่หลักการนี้แก่ผู้มีอำนาจและกำลังทรัพย์ในพระราชอาณาจักรให้ปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ
เมื่อกูฏทันตพราหมณ์ได้ฟังดังนั้นก็เข้าใจความหมายแท้จริงที่พุทธองค์ต้องการจะสื่อ จึงสั่งให้สั่งให้ปล่อยสัตว์ทั้งหมดที่เตรียมไว้ พร้อมทั้งเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงได้ประกาศตนเป็นอุบาสกขอเข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต
พระพุทธเจ้าทรงมองเห็นเหตุที่แท้จริงที่จะทำให้บ้านเมืองมีความสุขความเจริญได้โดยไม่ต้องฆ่าคนและสัตว์ในการบูชายัญ หรือการปราบปรามโจรผู้ร้าย ทรงชี้ให้เห็นถึงความมีมนุษยธรรมที่จะทำให้ผู้คนเลิกเห็นแก่ตัว ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังของตน ผู้มีความขยันขันแข็งจะเป็นผู้ไม่อดอยาก ถึงแม้ว่าจะมีความตกทุกข์ได้ยากก็จะมีผู้ที่เต็มใจเข้ามาให้การช่วยเหลือ
ธรรมะของพุทธองค์เมื่อเผยแพร่ไปยังบ้านใดเมืองใดแล้วผู้คนในบ้านเมืองนั้นสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องย่อมนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่บ้านเมืองนั้น หากยุคใดสมัยใดผู้คนเสื่อมศรัทธาในธรรมะของพุทธองค์ไม่มีการประพฤติปฏิบัติด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริงบ้านเมืองนั้นย่อมถึงกาลเสื่อมถอย
การยูชายัญเด็กของผีบ้าตาวอด หรือกลุ่มโจรลักขโมยเด็กอาจไม่เคยเกิดขึ้นจริงบนแผ่นดินล้านนา แนวคิดเรื่องการบูชายัญและรายละเอียดของพิธีกรรมในเรื่องเล่านี้คนโบราณอาจคิดขึ้นจากจินตนาการ หรืออาจจะหยิบฉวยบางเรื่องบางตอนของเรื่องเล่าที่เดินทางมาพร้อมกับการค้าขายกับผู้คนต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยอดีดมาดัดแปลงเป็นเรื่องเล่าที่ช่วยให้เด็กๆไม่ออกไปวิ่งเล่นในท้องทุ่งหลังฤดูเก็บเกี่ยวไกลจากสายตาของผู้ใหญ่ก็เป็นได้
โฆษณา